top of page

หมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม

สารภาพว่าอ่านจบแบบไม่รู้เรื่อง หลงซื้อมาเพราะปกหลังเขียนว่า "หนังสือ ... เล่มนี้พยายามอธิบายแนวคิดพื้นฐานเรื่องเวลาทางสังคมที่นำเสนอโดยเอมิล ดูร์ไกม์" ก็เข้าใจไปเองว่า เป็นการอธิบายให้คนทั่วไปอ่านได้ แต่จากสไตล์การเขียน มันไม่ใช่แฮะ มีความคล้ายสิ่งที่นักศึกษาแกรดเขียนในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนวรรณกรรม ทำนองว่า เน้นปล่อยหรือสำแดงคำยาก ๆ โจมตี thesis committee เสียมากกว่าจะยึดมุมมองของคนอ่านเป็นศูนย์กลาง (วิธีการแบบนี้ เวิร์กสำหรับงานเขียนบางประเภท และสำหรับกลุ่มคนอ่านบางกลุ่ม) จึงทำให้คิดว่า บางทีเราอาจไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย และไม่เหมาะกับหนังสือเล่มนี้

สำหรับคนนอก เขาจะมีความงุนงงกับคำหลายคำที่ใช้ ถูกบังคับให้อ่าน ๆ ไปแบบไม่รู้ความหมาย เช่น คำว่าเวลาของดูร์ไกม์ถูกนิยามว่ายังไง นิยามของเวลาทางสังคมคืออะไร ถึงแม้มันจะมีหลายคนนิยายและแต่ละคนก็นิยามไม่ตรงกัน หรือแม้แต่คนเดียวกันนิยามคนละช่วงเวลาก็อาจจะนิยามไม่ตรงกัน แต่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง มันก็ควรจะถูกนิยามได้ แต่สไตล์ที่ผู้เขียนใช้นั้น เน้นการพูดอ้อมไปอ้อมมา เช่น


แบร์ซงอธิบายว่า นิยามของคำว่าเวลานั้นไม่ใช่เรื่องปริมาณ แต่เป็นเรื่องคุณภาพหรือคุณสมบัติ อูแบร์และโมสส์จึงใช้นิยามนี้ของแบร์ซงเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเวลาที่อยู่ในระดับจิตสำนึก ... (หน้า 36) 

ไม่มีตรงไหนทั้งก่อนหน้าและหลังจากข้อความนี้ที่ช่วยบอกคนอ่านว่าแบร์ซงนิยามว่าอะไร แต่จบด้วยการพูดว่า อูแบร์และโมสส์ใช้นิยามนี้ ... คนอ่านคิด นิยามนี้นี่คือนิยามไหนฟะ


causation ของหลายประโยค ต้องการ justification ไม่เช่นนั้น คนอ่านไม่มีทางมั่นใจได้ว่า ตัวเองเข้าใจตรงกับสิ่งที่คนเขียนเขียนหรือไม่ เช่น


แม้ว่าในระดับประเทศนั้นศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจะเป็นศาสนาหลัก แต่ในระดับหมู่บ้านกลับพบว่าชาวบ้านยังคงนับถือผี ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดลำดับชั้นของผีตามอาณาเขต (หน้า 135-136) 

ประโยคนี้กำลังบอกว่า เหตุคือชาวบ้านนับถือผี ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือ มีการจัดลำดับชั้นของผีตามอาณาเขต ... คนอ่านคิด ทำไมล่ะ ทำไมการนับถือผีถึงทำให้เกิดการจัดลำดับชั้นของผีขึ้นมาได้ และทำไมต้องเจาะจงว่าเป็นการจัดลำดับชั้นตามอาณาเขตด้วย ไม่จัดตาม criteria อื่น ประโยคนี้ต้องการ justification


การอ้างอิงบางจุด ก็หาไม่เจอในบรรณานุกรมท้ายเล่ม เช่น


มอร์ตันอ้างถึง อองรี ปวงกาเร (Henri Poincare) (1912: 2) ที่ว่า "ความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสภาวะเบื้องต้นก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ หลายสิ่งในปรากฎการณ์สุดท้าย การทำนายกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และพวกเราก็จะเจอกับเหตุการณ์แบบบังเอิญได้" อย่างไรก็ดี ... (หน้า 61) 

เหตุที่ทำให้ต้องพลิกหาบรรณานุกรมเพราะ อ่านข้อความที่โควตมาไม่รู้เรื่อง ถ้าหาเจอ source อาจจะช่วยให้รู้เรื่องมากขึ้น ในใจเราเดาว่า เขาคงพูดถึง chaotic deterministic system ของปวงกาเร


ยังมีจุดใช้คำเทียบระหว่างภาษาอังกฤษกับภาษาไทยที่สับสน เช่น ทฤษฎี (theory) กับทฤษฎีบท (theorem) หรือ ทางกายภาพ (physical) กับทางสรีรวิทยา (physiological) และมีความเป็นสตาร์ วอร์ส "ซึ่งอาจเกิดจากปฏิกิริยาร่วมกันระหว่างพลัง (forces)" (หน้า 61) และยังมีจุดที่หลุดสายตา บ.ก. เช่น "Espace social หรือ social espace เป็นมโนทัศน์ ..." (หน้า 118)


หลังจากอ่านจบ เรานึกถึงประโยคหนึ่งของนักคณิตศาสตร์ชาวฮังการี George Pólya ตอนพูดถึง rules of style ในการเขียน (แน่นอนว่า ภายใต้บริบทที่เขาพูดถึงนั้น ย่อมเป็นการเขียนบทความคณิตศาสตร์ แต่เราคิดว่า rules of style ของเขา สามารถใช้ได้ในทุกบริบท) กฎข้อแรกคือ ต้องเริ่มจากการมีเรื่องที่อยากพูดหรือเขียน กฎข้อที่สองคือ ขณะพูดหรือเขียนนั้น ให้ควบคุมตัวเองให้ดีตอนที่มีเรื่องที่อยากพูดสองเรื่อง โดยเขียนเรื่องแรกให้จบก่อน แล้วค่อยเขียนเรื่องที่สอง ... ถ้าตัดสินจากความคิดและอคติของเรา ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ แหกกฎข้อที่สองบ่อยฮะ ประโยคที่ใช้อธิบายความคิด A มักจะมาในฟอร์ม ... ความคิด A ถูกเสนอโดย B ซึ่งเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งวงการ C ในหนังสือ D ตีพิมพ์ปี E ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความคิด F ของเจ้าสำนัก G ดังปรากฎในหนังสือ H ตีพิมพ์ปี I ที่โต้แย้งความคิด J ของสำนัก K กับ L ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อน (คุณอ่านทั้งหมดมานี่โดยที่ยังไม่รู้หรอกว่าความคิด A คืออะไร และตั้งความหวังว่าจะมีใครสักคนอธิบายมันให้คุณเข้าใจ)


 

[2 มกราคม 2564]


หลังจากตื่นนอน ขี้เกียจลุกจากเตียง หยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่านต่อ (รอบเตียงมีหนังสือให้หยิบได้หลายเล่ม) อ่านเล่มนี้มา 3 เดือนล่ะ หนังสือชื่อหมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม เขียนโดยฐานิดา บุญวรรโณ สนพ. Illuminations Editions สำหรับเช้านี้อ่านหน้า 87-104 อ่านมาครึ่งเล่มแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดี


มีท่อนหนึ่งน่าสนใจ เป็นท่อนที่คนชื่อเอไลอัสพยายามเสนอความคิดที่ (ผู้เขียนบอกว่า) เป็นทางออกของปัญหาความขัดแย้งระหว่างเวลาแบบวัตถุวิสัยกับเวลาแบบอัตวิสัย โดยบอกว่าการมองเวลาแบบสองขั้วนี้ขัดแย้งกัน ฉะนั้น ทางออกของความขัดแย้งดังกล่าวคือความคิดเหล่านี้ เขาก็อธิบายความคิดนั้นไปในเนื้อหาท่อนนี้ แต่เราเกิดคำถามขึ้นในใจตั้งแต่ต้นว่า มันขัดแย้งกันตรงไหนวะ ในหนังสือใช้วลี "ขั้วที่หนึ่งยกประเด็นว่า เวลาดำรงอยู่อย่างเป็นวัตถุวิสัย ... และขั้วที่สองโต้แย้งว่า ..." เรามองไม่เห็นความขัดแย้งตั้งแต่ต้น เพราะความคิดทั้งส่วนที่เป็น objective description และ subjective description สามารถใช้บรรยายวัตถุเดียวกันได้โดยที่ไม่ต้องแก่งแย่งความถูกต้องว่าคำบรรยายของฉันถูกต้องกว่าคำบรรยายของเธอ เช่น เราอาจบรรยายสิ่งหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่งว่า สิ่งนั้นคือมนุษย์ผู้ชาย อายุ 30 ปี สูง 181 ซม. น้ำหนัก 65 กก. กรุ๊ปเลือดโอ ราศีเมถุน หรืออาจจะบรรยายว่า หน้าตาดี ขี้เล่น ได้โดยที่ความขี้เล่นไม่ได้ไปแย้งอะไรกับส่วนสูง 181 ซม. เรื่องเวลาก็เช่นกัน ไม่ว่าจะถูกบรรยายในฐานะ physical quantity หรือถูกบรรยายผ่าน perception (เช่น psychological time หรือ social time) เราก็มองให้ขัดแย้งไม่ออกแฮะ


แน่นอนว่า การบรรยายเวลาบางแบบเหมาะสมกับบางสถานการณ์มากกว่าอีกแบบ เช่น ถ้าคุณจะบอกเพื่อนว่า เดี๋ยวให้เริ่มรินน้ำเวลา 12:30 และเทน้ำให้หมดตอน 12:32 ไม่เวิร์กเท่าบอกว่า ให้เริ่มตอนได้ยินคำว่า "ยะถา วาริวะหา" และให้จบพร้อมคำว่า "มะณิ โชติระโส ยะถา" เพราะการบอกเวลาแบบแรกมีความทนทานต่อความไม่แน่นอนน้อยกว่าการบอกเวลาแบบหลัง อย่างน้อยเทมโปของบทยถาที่พระคุณเจ้าสวดแต่ละวัดคงไม่เท่ากันละ แต่การบรรยายทั้งสองแบบก็ไม่ใช่ความขัดแย้งกันนี่ มันมีวิธีที่ map กันได้


ยังมีข้อความที่อ่านแล้วงง ๆ อีกหลายข้อความในท่อนที่อ่านหลังจากตื่นนอน (หรือ 07:01 แบบวัตถุวิสัย โดยละ GMT+7 ไว้ในฐานะที่รู้กัน) อาทิ


1. "คนเรากลับถูกกำหนดและถูกวางโครงสร้างโดยองค์กรทางสังคมเพื่อตั้งนาฬิกาทางกายภาพ (physiological clock) ให้เป็นนาฬิกาทางสังคม (social clock) (Subrt, 2014: 240)" ... งงว่าทำไม นาฬิกาทางกายภาพ = physiological clock เพราะคำว่า physiological ควรแปลว่า ทางสรีรวิทยา และ ทางกายภาพ คือ physical สองคำนี้ physical กับ physiological มีความหมายคนละเรื่องกันเลย แบบนี้เราควรเข้าใจประโยคนี้ยังไงดี


2. "สำหรับเอไลอัสแล้ว คู่ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อศึกษาเวลาจากฐานของข้อสรุปที่ตรงกันข้ามกัน (antithesis) ระหว่างเวลาที่เป็นรูปธรรมกับเวลาที่เป็นนามธรรม" ... งงกับคำว่าเวลาที่เป็นรูปธรรม เวลาที่เป็นรูปธรรมแปลว่าอะไร หรือเราเข้าใจคำว่ารูปธรรมผิดไป ถ้าเรามองเห็น/เลียหรือลิ้มรส/ดม/ลูบไล้/ได้ยินเวลาไม่ได้ มันก็ไม่ใช่รูปธรรม


3. "ความคิดเรื่องเวลาแบบสองขั้วทำให้การดำรงอยู่ของมนุษย์ (รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม) และธรรมชาติถูกแยกออกจากกัน" ... คำถามในหัว ยังไงวะ แยกยังไง หรือถ้าไม่มีความคิดเรื่องนี้แล้วการดำรงอยู่ของคนจะไม่แยกจากธรรมชาติ (แปลว่า คนที่ไม่เคยคิดอะไรถึงมันเลย เป็นคนที่ไม่แยกจากธรรมชาติ รึเปล่า) ทั้งหมดนี้ เราไม่เข้าใจตั้งแต่ การถูกแยกออกจากกันระหว่างการดำรงอยู่ของคนกับธรรมชาติแปลว่าอะไรแล้ว


4. "การศึกษาเวลาตามแขนงสังคมวิทยาความรู้ของเอไลอัสจึงเป็นการนำเรื่องเวลามาศึกษาประกอบ" ... จะเขียนประโยคนี้เพื่ออะไร การศึกษาเรื่องเวลาจึงเป็นการนำเรื่องเวลามาศึกษา ... เขียนเพื่อ?


 

[Thomas Theorem]


อ่านเจอคำอธิบาย Thomas Theorem จากท่อนหนึ่งในหนังสือหมุนนาฬิกาสู่เวลาทางสังคม อธิบายได้งงดี ขอเริ่มจากคัดลอกข้อความตามต้นฉบับ


มโนทัศน์เรื่องการพยากรณ์ที่ตนดลให้เป็นจริงของเมอร์ตันได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีโทมัส (Thomas Theorem) ของวิลเลียม ไอแซก โทมัส (William Isaac Thomas) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในฐานะตัวแปรที่ก่อให้เกิดพฤติกรรม ทฤษฎีนี้เผยแพร่ราว ๆ ค.. 1928 ด้วยคำอธิบายที่ว่า "If men define situations as real, they are real in their consequences." (แปลว่า หากคนเรานิยามสถานการณ์เหล่านั้นว่าเป็นจริง มันก็จะเป็นจริงในผลที่จะเกิดตามมา) (Thomas and Thomas, 1928) ทฤษฎีโทมัสพยายามอธิบายว่า มนุษย์เราไม่ได้ตอบสนองเพียงแค่ลักษณะของสถานการณ์ในเชิงวัตถุเท่านั้น หากแต่ยังตอบสนองต่อความหมายของสถานการณ์นั้น ๆ อีกด้วย สถานการณ์จึงเป็นบ่อเกิดของการกระทำ มนุษย์ให้ความหมายต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร ก็ย่อมส่งผลต่อการกระทำตามมา (Merton, 1936: 194) 

ความคิดของเราที่ตามมาหลังจากอ่านท่อนนี้มีสองประเด็น (แน่นอนว่าความคิดนี้ก็สามารถอธิบายได้ด้วย Thomas theorem ว่าเป็นผลมาจากการให้ความหมายต่อข้อความท่อนที่อ่านนั้นของเรา) เป็นประเด็นเล็ก ๆ หนึ่งประเด็น และประเด็นที่คิดว่า เข้าใจไม่ตรงกับผู้เขียนเสียทีเดียวอีกหนึ่งประเด็น


1. การแปล theorem ว่าทฤษฎี


ถึงแม้ Thomas theorem จะไม่ใช่ (mathematical) theorem และ Thomas theorem เป็น theory แต่การแปล Thomas theorem เหมือนกับ Thomas theory ก็ทำให้เกิดความรู้สึกแปลก ๆ ... บอกไม่ถูก


2. มีความรู้สึกว่า ข้อความ "ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ในฐานะตัวแปรที่ก่อให้เกิดพฤติกรรม" ไม่เข้าเป้าหรือไม่โดนแก่นของ Thomas theorem เพราะแก่นของทฤษฎีบทนี้ให้ความสำคัญกับการที่คนตีความสถานการณ์หรือการที่คนนิยามสถานการณ์ มากกว่าตัวสถานการณ์เอง ทั้งนี้เพราะ สถานการณ์อาจถูกตีความได้หลายแบบ ใครตีความแบบไหน ก็จะแสดงพฤติกรรมของเขาในแบบที่สอดคล้องกับการตีความนั้น ฉะนั้น ทฤษฎีบทนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ แต่ให้ความสำคัญกับการตีความสถานการณ์ อันที่จริง เราสามารถอธิบาย Thomas Theorem ได้ง่าย ๆ ว่า การกระทำของคนหนึ่งในสถานการณ์หนึ่งขึ้นอยู่กับการตีความสถานการณ์นั้นของคนนั้น โดยไม่ต้องพึ่งพาวลีที่แปลยาก ๆ (และอาจจะแปลไม่ตรงกัน) อย่าง 'ลักษณะของสถานการณ์ในเชิงวัตถุ' หรือการ 'ตอบสนองต่อความหมายของสถานการณ์'


นึกถึงตัวอย่างหนึ่งจากหนังสือชุมนุมปาฐกถาชุดพุทธธรรมของพุทธทาส ... ยกตัวอย่างเช่น เราเดินไปในที่มืด ได้รับสัมผัสชนิดถูกสับเข้าที่เท้าโดยแรง เลือดไหลซิบ ร้องเอะอะขึ้น มีผู้ร้องบอกว่าที่ตรงนั้นมีงู ซึ่งเขาได้เห็นเองเมื่อเย็นนี้ ความเจ็บปวดอันมีลักษณะของการถูกงูกัดได้เกิดขึ้น เป็นทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า น้ำตาไหล เหงื่อตก ครั้นมีคนอีกคนหนึ่งมาช่วยเหลือ และเอาไฟมาส่องดู และได้พบสิ่งนั้น กลายเป็นเพียงวัตถุมีคม ชนิดที่กระดกได้เร็วในตัวเอง (เช่น กะลามะพร้าวที่แตกเป็นวงโค้งมีปลายแหลมทั้งสองข้าง) ชนิดหนึ่งสับเอาเท้า มีรอยประกอบกันพอดี ไม่ใช่งูกัด ความเชื่อและความรู้สึกที่ว่าถูกงูกัดก็หายวับไปราวกะปลิดทิ้ง ความรู้สึกที่ว่าไม่ได้ถูกงูกัดหรือกระทั่งความขบขันจะเกิดขึ้นเองทันทีโดยไม่ต้องพยายามหรือขอร้อง

นึกถึง เธอจงระวังความคิดของเธอ ของหลวงพ่อชา (ซึ่งไปในทำนองเดียวกับ watch your thoughts, they become your words ... ใครพูดข้อความนี้? เล่าจื๊อ?)


นึกถึง เยเรมีย์ 4:14 ... O Jerusalem, wash the evil from your heart and be saved. How long will you habour wicked thoughts?



bottom of page