top of page

อำลาพุทธราชาชาตินิยม

อ่านเล่มนี้เพราะชื่อรอง 'วิพากษ์แนวคิดชาตินิยมแบบพุทธของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)' ในฐานะ fc ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

ความคิดแรกของเราเกี่ยวข้องกับคำว่า 'พุทธราชาชาตินิยม' ค่อนข้างแน่ใจว่าตัวเองไม่รู้จักคำนี้ และเป็นคำใหม่เมื่อเทียบกับคำอย่าง 'ราชาชาตินิยม' (อย่างน้อยใน Google trends มันฟ้องอย่างนั้น คำว่าราชาชาตินิยมเริ่มถูกค้นหาหลังปี 2009 แต่พุทธราชาชาตินิยมไม่มีข้อมูล) ทำให้นึกถึงโควตหนึ่งที่เราชอบจากหนังสือ The Second Sin ของ Thomas Szasz ... In the animal kingdom, the rule is, eat or be eaten; in the human kingdom, define or be defined. จะสร้างหรือจะทำลายหรือควบคุมอะไรสักอย่าง ต้องสร้าง 'คำเรียก' ขึ้นมาก่อน


อ่านแล้วชอบนะ (แม้ไม่เห็นด้วยทั้งหมด) เพราะส่วนใหญ่ (ไม่ทั้งหมด) เป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเป็นวิชาการ ทำให้อยากเห็นว่าท่าน ป.อ. ปยุตฺโต จะโต้แย้งว่าอย่างไรบ้าง ในความเห็นส่วนตัว มีข้อสังเกตเล็ก ๆ ที่อยากพูดถึง 2 จุด จุดแรก การโจมตีบทสัมภาษณ์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต กรณีคำตอบ 'เสียสัตย์เพื่อชาติ' ของพลเอกสุจินดาจากพฤษภาทมิฬกับ 'อดอาหารประท้วง' ของฝ่ายประชาชนนั้น ไม่ค่อยแฟร์เท่าไร เพราะโควตมาเฉพาะคำตอบ ไม่ได้โควตคำถาม แต่ได้วิพากษ์วิจารณ์น้ำเสียงของคำตอบ ไม่แฟร์เพราะคำตอบไม่เป็นอิสระจากคำถาม เช่น ถ้าคำถามโน้มเอียงไปทางความเลวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คำตอบอาจยึดมุมมองของคำถามนั้นเป็นตัวตั้งต้น แล้วพยายามชี้ให้เห็นอีกมุมหนึ่ง ทำนองเดียวกัน ถ้าคำถามโน้มเอียงไปทางคุณงามความดีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คำตอบอาจพยายามชวนให้ตั้งคำถามกับคุณงามความดีนั้น ฉะนั้น น้ำเสียงของคำถามที่หายไป ทำให้คนอ่านมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะตีความน้ำเสียงของคำตอบ


จุดที่สอง จุดนี้สะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ขอพูดถึงอย่างเดียวคือ คนเรามักหยุดที่หลักฐานสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง ในหนังสือคุณสุรพศอ้างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Current Biology (และเมื่อเราตามไปอ่านที่ footnote และค้นต่อเนื่อง ก็สาวไปถึงบทความต้นฉบับได้ไม่ยาก ชื่อบทความที่อ้างถึงคือ The Negative Association between Religiousness and Children's Altruism across the World ของ Jean Decety และคณะ) ข้อสรุปจากบทความดังกล่าวคือ เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเคร่งศาสนา มีแนวโน้มเห็นอกเห็นใจน้อยกว่าเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวไม่เคร่งศาสนาหรือไม่มีศาสนา คุณสุรพศต้องการใช้ข้อสรุปนี้เพื่อสนับสนุนความคิดที่ว่าศาสนานาไม่จำเป็นต้องช่วยให้เราเป็นคนดีหรอก ในเมื่อมีหลักฐานพร้อม ก็จบ แต่ถ้าเราค้นดูต้นฉบับของบทความดังกล่าวใน Current Biology เราจะพบว่า ผู้เขียนขอถอดถอนบทความนั้นแล้ว เพราะวิเคราะห์ข้อมูลผิดจนนำไปสู่การสรุปที่ผิด (Retraction Notice ออกในปี 2019 แต่ Correspondence ที่ Azim F. Shariff และคณะแย้งบทความต้นฉบับว่าวิเคราะห์ผิดนั้นตีพิมพ์ใน Current Biology ตั้งแต่ 2016) ใน Retraction ระบุว่า หลังจากคณะผู้เขียนวิเคราะห์ข้อมูลซ้ำอีกครั้งเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดแล้วนั้น เขาพบว่า primary predictor ไม่ใช่ religious affiliation แต่เป็น country of origin (ไม่เกี่ยวกับศาสนาและขึ้นอยู่กับว่าเด็กอยู่ในประเทศไหน) ... การหยุดอยู่ที่ได้หลักฐานสนับสนุนความเชื่อของตัวเองแล้วคงเป็นจุดอ่อนของทุกคน


bottom of page