ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เล่ม 1

หนังสือขายดีของ ทพ.สม สุจีรา เล่มแรกถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง จนมีกระแสระงับพิมพ์พร้อม ๆ กับคราวที่ผมวิจารณ์หนังสือ "ฟิสิกส์นิวตัน" โดยผู้เขียนท่านเดียวกัน เข้าใจว่า ฟิสิกส์นิวตันระงับพิมพ์จริง ๆ ขณะที่ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น แค่ชะลอเล็กน้อยในช่วงมีกระแสวิจารณ์ สำหรับวิจารณ์บางส่วนของไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็นเล่มที่ 1 ในเชิงวิทยาศาสตร์ แนะนำให้อ่านจาก บล็อกของ ดร.บัญชา สำหรับเชิงศาสนาพุทธ ผมขอยกตัวอย่างบางจุดดังนี้
กฎแห่งกรรมที่ผิดเพี้ยน
ทพ.สม สุจีรา เขียนอธิบายในหน้า 109 ว่า "กฎแห่งกรรม คือ ผลสะท้อนของกรรมเก่าที่ได้เคยกระทำไว้ในอดีตกาลจะสนองคืนในสองรูปแบบ คือ ส่งผลในรูปของภพภูมิที่ไปเกิด และส่งผลภายหลังการเกิดคือระหว่างดำรงชีวิต ผลของกรรมที่สนองคืนในขณะเกิด ทำให้ชีวิตถือกำเนิดขึ้นในรูป ภพ และสังคมที่แตกต่างกัน ผลของกรรมจะแสดงให้เห็นได้ชัดในเชิงรูปธรรม ... แต่ผลของวิบากกรรมที่สนองให้เห็นในเชิงนามธรรมจะลึกลับและซับซ้อนกว่าผลของกรรมหลายเท่า ผลของกรรมอาจสามารถทำให้คนสองคนเหมือนกันทุกประการ เช่น ฝาแฝดแท้ ทั้งสองชีวิตมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน เกิดในเวลาใกล้เคียงกัน มียีนและทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันทุกประการ แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างกันคือวิบากกรรมทั้งสองชีวิต จิตสองดวง มีผลแห่งวิบากไม่เหมือนกัน ย่อมทำให้วิถีชีวิตของทั้งสองแตกต่างกัน... "
อ่านแล้วมีอะไรสะกิดใจครับ คำอธิบายของผู้เขียนค่อนข้างคลุมเครือ จุดแรกที่ขอให้ระวังเป็นพิเศษคือลัทธิมิจฉาทิฐิที่แฝงมาในคำอธิบายดังกล่าว ใครก็ตามที่ศึกษาพุทธศาสนามาระดับหนึ่งย่อมคุ้นเคยกับ 3 ลัทธิกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ ได้แก่ 1. ปุพเพกตเหตุวาท คือ การถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะกรรมเก่า ดูจากการเปิดประโยคว่า "กฎแห่งกรรม คือ ผลสะท้อนของกรรมเก่า..." ผมก็ใจหายวาบแล้ว นี่ไม่ใช่กฎแห่งกรรมของพระพุทธเจ้า, 2. อิสสรนิมมานเหตุวาท ถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงเป็นเพราะการบันดาลของเทพเจ้า, และ 3. อเหตุอปัจจยวาท ถือว่าสุขทุกข์ทั้งปวงสุดแต่โชคชะตา ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย
ในศาสนาพุทธเรา กฎแห่งกรรม คือ กฎแห่งเหตุและปัจจัย เป็นผลโดยตรงจากปฏิจจสมุปบาท ความหมายของกฎแห่งกรรม หรือ กรรมนิยาม จากหนังสือพุทธธรรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ว่า "กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำ หรือพูดให้จำเพาะลงไปอีกว่า กระบวนการแห่งเจตน์จำนงหรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องสมกัน เช่น ทำกรรมดี มีผลดี ทำกรรมชั่ว มีผลชั่ว เป็นต้น" จะเห็นได้ว่านิยามกฎแห่งกรรมนี้เป็นนิยามที่เป็นกลาง พูดถึงความสัมพันธ์ของสองสิ่งคือ กรรม (เจตนา) กับ ผลสืบเนื่องจากกรรม (วิบากกรรม)
ลองย้อนกลับไปอ่านความสับสนของผู้เขียน กฎแห่งกรรมของผู้เขียน มีทั้ง ผลของกรรม (ซึ่งก็คือวิบากกรรม) และ ผลของวิบากกรรม อะไรคือผลสืบเนื่องจากวิบากครับ สิ่งนั้นคือ กิเลส เพราะสภาพที่เป็นผลของกรรมเป็นปัจจัยเสริมสร้างกิเลสให้ก่อเกิดขึ้นอีก คำบรรยายช่วงนี้ฟั่นเฝือมาก เพราะกฎแห่งกรรมเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง "กรรม" กับ "ผลของกรรม" โดยมีใจความย่นย่อว่า ถ้ามีกรรม ก็ต้องมีผลของกรรมนั้น และถ้าคุณลองอ่านที่ผู้เขียนเขียนไว้ดี ๆ จะพบผู้เขียนใช้คำศัพท์สับสนในตัวเอง ตอนแรกบอกว่าผลของกรรมอาจทำให้คนสองคนเหมือนกัน ตอนหลังบอกว่า แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันนั่นคือ วิบากกรรม และต่อมาเรียกวิบากกรรมว่าผลแห่งวิบาก ผมจับความของผู้เขียนได้ว่า ผลของกรรมไม่เท่ากับวิบากกรม และ วิบากกรรมเท่ากับผลแห่งวิบาก ... สับสนไหม
อีกจุดที่อยากจะชี้ให้เห็นคือการจำแนกการให้ผลของกรรม จุดนี้ในอภิธรรมมีการจำแนกกรรมในหมวดที่เรียกว่า ปากกาล การให้ผลของกรรมมี 4 กาล ประกอบด้วย 1. กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม, 2. กรรมที่ให้ผลในภพหน้า เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม, 3. กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป เรียกว่า อปราปริยเวทนียกรรม, และ 4. กรรมที่เลิกให้ผล เรียกว่า อโหสิกรรม นอกจากนี้ หากเราอยากจำแนกกรรมตามหน้าที่ ก็สามารถจำแนกได้ 4 หน้าที่ คือ 1. ชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิด, 2. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุนพวกของชนกกรรม, 3. อุปปีฬกกรรม กรรมที่บีบคั้นพวกของชนกกรรม, และ 4. อุปฆาตกรรม กรรมที่ตัดรอนกรรมอื่น ตัวอย่างสองหมวดกรรมนี้ช่วยกำจัดความไม่ชัดเจนข้อความแรกของผู้เขียนที่ว่ากรรมสนองคืนในสองรูปแบบ คือ ขณะเกิด และ หลังเกิด เพราะการพูดดังกล่าว เราไม่รู้ว่าผู้เขียนอ้างอิงจากอะไร
จุดสุดท้าย เกิดจากการปั้นเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยากของผู้เขียน ถ้าคุณรู้ว่ากฎแห่งกรรมไม่มีอะไรมาก นอกจากหลักการที่ว่า ทุกการกระทำ (เจตนา) ย่อมมีผล หรือ กรรมก่อให้เกิดวิบาก มันก็จบกฎแห่งกรรมแล้วครับ แต่ผู้เขียนพยายามโยงด้วยความพิสดารว่า ฝาแฝดแท้ ต่างกันที่ วิบากกรรม ไม่ได้ต่างกันที่ผลของกรรม คราวนี้งงกันละสิ งงแห่งที่หนึ่งคือวิบากกรรมก็แปลว่าผลของกรรมนั่นแหละ งงแห่งที่สองคือ ทำไมต้องเอาวิบากมาเป็นตัวตั้งของชีวิต ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว เหตุที่วิบากแตกต่างกันก็มาจากกรรมที่ต่างกัน จุดนี้ผมไม่อยากให้เอะอะอะไรก็เอาวิบากเป็นตัวตั้ง เพราะเสี่ยงต่อการเอนเอียงไปทางปุพเพกตเหตุวาท และเหตุที่ทำให้เกิดจริง ๆ แล้วคือกรรมครับ ไม่ใช่วิบากกรรม จะพูดว่าที่เราเกิดขึ้นมาแล้วนั้นเป็นวิบากกรรมยังถูกเสียมากกว่าอีก เหตุที่ทำให้คนเราเกิดมาแล้วแตกต่างกันแม้กระทั่งแฝดแท้ก็คือกรรม ไม่ใช่วิบากกรรม

หลักฐานมีหลายแห่ง เช่น ในธาตุเวปักกัมมสูตรกล่าวว่าสิ่งที่สร้างชีวิตขึ้นมานั้นประกอบด้วยองค์ 3 คือ 1. กมฺมํ เขตฺตํ กรรมเป็นพื้นที่, 2. วิญฺญาณํ พีชํ วิญญาณ (คือ จิต) เป็นเมล็ดพันธุ์, และ 3. ตณฺหา สิเนหํ ตัณหา เป็นน้ำเลี้ยง
หรือในวงจรปฏิจจสมุปบาท (ภาพจากหนังสือพุทธธรรม) ดูแค่รอยต่อระหว่างเหตุอดีตกับผลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างกรรมกับวิบาก เห็นว่าเหตุที่ทำให้เกิดตัวหนึ่งนั้นคือกรรม และเพราะเหตุที่ทำให้เกิดนี้ต่างกันนั่นเองจึงทำให้แฝดแท้แตกต่างกันด้วยองค์ประกอบทางนามธรรมตั้งแต่เกิดแล้ว
เจตสิกที่ผิดเพี้ยน
หนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ของ ทพ. สม สุจีรา อ้างดัง "จิตแต่ละดวงมีองค์ประกอบที่เรียกว่าเจตสิก" (หน้า 107) "การเกิดดับของจิตก็คือการสลายตัวของเจตสิก" (หน้า 108) สองข้อความที่ผมยกมาคลาดเคลื่อนจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเถรวาทเรานะครับ concept ของเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญในพุทธปรัชญาฝ่ายอภิธรรมคือปรมัตถธรรม หมายถึง สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ (ธรรม แปลว่า สภาวะ) สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด พุทธปรัชญาบอกว่ามี 4 ได้แก่ 1. จิต, 2. เจตสิก, 3. รูป, และ 4. นิพพาน
4 อย่างนี้ไม่มีอันใดเป็นองค์ประกอบของอันใด แต่ละอย่างมีสภาวะของมันเอง เจตสิกคือธรรมที่ประกอบกับจิต เกิดดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์และวัตถุอาศัยเดียวกับจิต การที่เจตสิกเข้าไปประกอบกับจิตนี่แหละทำให้จิตมีอาการและสมบัติต่าง ๆ ผิดเผกกันไป แต่ไม่ได้แปลว่าเจตสิกเป็นองค์ประกอบหนึ่งของจิต ตรงนี้ต้องระวังให้ดี การที่เจตสิกประกอบกับจิตนั้น มีลักษณะที่ประกอบกัน 4 อย่าง เรียก เจโตยุตตลักขณะ 1. เอกุปปาทะ เกิดพร้อมกับจิต 2. เอกนิโรธะ ดับพร้อมกับจิต 3. เอกาลัมพณะ มีอารมณ์เดียวกับจิต และ 4. เอกวัตถุ อาศัยวัตถุเดียวกับจิต ตรงนี้น่าจะเห็นชัดเจนว่า จิตดับ เจตสิกก็ดับด้วย ใครที่แปลทำนองว่าการดับของจิตคือการสลายตัวของเจตสิก ผมถือว่าเป็นการทำให้ความเข้าใจต่อพุทธปรัชญาที่แท้จริงเพี้ยนไปจากคัมภีร์ ถ้าดูลักขณาทิจตุกะของเจตสิกข้อที่ 4 จิตตุปปาทปทัฏฐานัง การเกิดขึ้นแห่งจิตเป็นเหตุใกล้ (ให้เกิดเจตสิก) แล้วมองย้อนกลับกันว่าเพราะจิตดับทำให้เจตสิกดับยังจะถูกต้องมากกว่าครับ แน่นอนว่าที่จริงแล้วประโยคนี้ไม่ถูกต้องนะครับ เพราะไม่มีหลักฐานใดรับรองว่าจิตเกิดก่อนเจตสิก มีแต่บอกว่าทั้งคู่เกิดพร้อมกัน แต่เราก็ยังเห็นพ้องด้วยเหตุผลมากกว่าที่ว่า หากปราศจากจิต เจตสิกย่อมไม่เกิด แต่จิตเกิดขึ้นได้โดยปราศจากเจตสิกบางดวง
รูปกลาปไม่ใช่เซลล์
(หน้า 44) "ในพระอภิธรรมปิฎกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกที่ได้บันทึกพระพุทธพจน์คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานานกว่าสองพันห้าร้อยปี ได้มีการกล่าวถึงองค์ประกอบของรูปหรือสังขารว่า เป็นที่ชุมนุมของรูปกลาป อ่านว่า "รูปกะลาปะ" ซึ่งตรงกับคำว่า "เซลล์" ที่ใช้ในศัพท์วิชาการแพทย์ปัจจุบัน รูปกลาปนี้จะมีความเจริญเติบโตเสื่อมสลายลงในอัตราปกติขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 4 ประการ 1. อุตุชรูป หมายถึง อากาศ ภาวะสิ่งแวดล้อม 2. อาหารชรูป หมายถึง อาหารที่เสพบริโภคในชีวิตประจำวัน 3. กัมมชรูป หมายถึง การกระทำทางกาย 4. จิตตชรูป หมายถึง การทำงานของจิตใจ
สาเหตุทั้งสี่ประการนี้ตรงกับการค้นพบทางการแพทย์ในเรื่องที่ว่าด้วยสาเหตุการเสื่อมสลายของเซลล์อย่างน่าอัศจรรย์"
ข้อความทั้งหมดนี้ปะปนกันมั่วและไม่ตรงกับพุทธปรัชญาที่ระบุไว้ในพระอภิธรรม ผมขอเริ่มตามลำดับดังนี้
1. รูป จัดเป็น สังขารธรรมตัวหนึ่ง แต่ยังมีสังขารธรรมอีก 2 ตัวที่ไม่ใช่รูป คือ จิต กับ เจตสิก ตรงนี้ในรูปประโยคที่พูดว่า "รูปหรือสังขาร" เป็นการจัดให้ 2 คำนี้มีความหมายระดับเดียวกันหรือเท่าเทียมกัน ชวนให้ไขว้เขว ต้องระวังเป็นพิเศษ
2. คัมภีร์ปรมัตถทีปนีฎีกานิยามคำว่า กลาป ไว้แบบนี้ กลาปิยนฺติ เอตฺถาติ กลาปาฯ แปลว่า ธรรมชาติที่นับเป็นหมวด ๆ เป็นคณะนั้นเรียกว่ากลาป ฉะนั้นกลาปคือเป็นกลุ่ม รูปกลาป คือ รูปที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ตรงนี้แหละสำคัญ ยังไงถึงเรียกว่าเป็นรูปกลาป ให้ดูอาการมัน 3 อย่างครับ คือ 1. ต้องเป็นรูปที่เกิดขึ้นพร้อมกัน, 2. ต้องเป็นรูปที่ดับพร้อมกัน, และ 3. ต้องเป็นรูปที่อยู่ด้วยกัน คุณคงพอมองเห็นภาพว่า ข้อความ "ได้มีการกล่าวถึงองค์ประกอบของรูปว่าเป็นที่ชุมนุมของรูปกลาป" มันเป็นข้อความที่แปลแล้วไม่ได้ความใด ๆ หรือสอดคล้องใด ๆ กับพุทธปรัชญา ข้อความดังกล่าวแปลว่า "ได้มีการกล่าวถึงองค์ประกอบของรูปว่าเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มของรูปที่เกิดดับตั้งอยู่ด้วยกัน" เพราะคำว่า รูปกลาป หมายถึง กลุ่มของรูปที่เกิดดับตั้งอยู่ด้วยกัน
3. ตั้งแต่จุดที่อธิบาย อุตุชรูป จนถึง จิตตชรูป 4 อย่างนี้ไม่ใช่องค์ประกอบของรูปกลาป ถ้าถามว่าองค์ประกอบของรูปกลาปคืออะไร คำตอบคือ รูป ตรงนี้อาการหนักหน่อย ถ้าคุณเจอคำว่า "...ชรูป" จำไว้เลยครับ ให้แปลว่า "รูปที่เกิดจาก ..." เช่น กัมมชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรม ดังนั้น กัมมชรูปกลาป (บางทีเรียก กัมมชกลาป) จึงหมายถึง กลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรม และตรงนี้ก็ต้องแยกให้ชัด เพราะ "...ชรูป" กับ "...ชกลาป" มีจำนวนไม่เท่ากัน เช่น กัมมชรูป มี 18 ส่วน กัมมชกลาปมี 9
แต่ละ รูปกลาป จึงหมายถึง แต่ล่ะ กลุ่มของรูป และแต่ละกลุ่มของรูปนั้นสามารถจำแนกตามประเภทคือลักษณะการเกิดขึ้นของรูปกลาปได้ 4 ประเภท (กัมมชกลาป 9, จิตตชกลาป 6, อุตุชกลาป 4 และ อาหารกลาป 2) และแต่ละรูปที่มารวมกลุ่มกันเป็นกลาปนั้น มีสมุฏฐาน 4 อย่าง (กรรม, จิต, อุตุ และอาหาร) ตรงนี้ไม่ได้แปลว่า แต่ละรูปทั้ง 28 รูปต้องเกิดจากทั้ง 4 ปัจจัยนี้นะครับ บางรูปเท่านั้นที่มีปัจจัยครบทั้ง 4 อย่าง (พูดอย่างเจาะจง มีเพียง 8 รูป คือ มหาภูตรูป 4, โคจรรูป 3 (เว้นสัททะ), ชีวิตรูป 1) รูปที่เกิดจากปัจจัยอย่างเดียวก็มี สองอย่างก็มี สามอย่างก็มี หรือไม่เกิดจากปัจจัยทั้ง 4 อย่างนี้เลยก็มีครับ (ลักขณรูป 4)
ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ อันหนึ่ง ... ตา หรือ จักขุทสกกลาป เป็น กรรมชกลาป ประกอบด้วยรูป 10 รูปที่มี จักขุปสาทรูปเป็นประธาน อีก 9 รูปนั้นได้แก่ อวินิพโภครูป 8 (รูปที่แยกจากกันไม่ได้ รูปหนึ่ง ๆ ต้องมีรูปเกิดขึ้นอย่างน้อย 8 รูปเสมอได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช วัณณะ คันธะ รสะ โอชา) กับ ชีวิตรูป 1
ต่อมาเมื่อดูการให้ความหมายของสมุฏฐานให้เกิดรูปทั้ง 4 สมุฏฐาน (ตั้งแต่ อุตุชรูป จนถึง จิตตชรูป) ผมว่านิยามที่ให้มาก็ผิดเพี้ยนนะ เช่น อุตุชรูป (แปลว่า รูปที่เกิดจากอุตุ) ไม่ได้หมายถึง อากาศ แม้แต่คำว่า อุตุ ในที่นี้หมายถึง เตโชธาตุ (เป็นรูปชนิดหนึ่ง) อาจจำแนกได้ 2 ชนิดคือ สีตเตโช (ความเย็น) กับ อุณหเตโช (ความร้อน) ไม่ได้แปลว่าอากาศอยู่ดี หรือ กัมมชรูป รูปที่เกิดจากกรรม (เจตนาเจตสิก) ไม่ได้หมายถึงการกระทำทางกาย แม้แต่จะยึดเฉพาะคำว่ากรรมก็พูดผิด เพราะกรรมเป็นไปทั้ง กาย วาจา ใจ ไม่ใช่เฉพาะกายอย่างเดียว
คราวนี้คุณลองเปรียบเทียบกับคำว่า เซลล์ ซึ่งทางชีววิทยาหมายถึง โครงสร้างและหน่วยทำงานที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต หรือ a building block of life แล้วคิดว่าเหมือนหรือต่างจากรูปกลาปตรงไหนครับ ตามความเห็นผม แทบไม่มีตรงไหนเหมือนกันเลย ขอตัวอย่างรูปกลาปที่ชัดเจนให้ดู 2 อัน คือ อิตถีภาวทสกกลาป กับ ปุริสภาวทสกกลาป ทั้ง 2 กลาปนี้เป็นกัมมชกลาป แต่ละกลาปประกอบด้วยรูป 10 รูป คือ อวินิพโภครูป 8 + ชีวิตรูป 1 + อิตถีภาวรูป 1 หรือ ปุริสภาวรูป 1 ทั้งสองกลาปนี้คือ สภาพความเป็นหญิง กับ สภาพความเป็นชาย ตามลำดับ มี อิตถีภาวรูป กับ ปุริสภาวรูป เป็นประธานตามลำดับ ถ้าจะมีใครตีความให้วิตถารไปอีกว่าเชลล์ไข่ เซลล์สเปิร์ม หรือโครโมโซมเพศ ขอให้ดูอรรถกถาอธิบายต่อว่าอาการใดบ้างที่แสดงภาวรูปนี้ (ภาวรูป 2 เป็นรูปที่รู้ได้ด้วยใจ ไม่เห็นได้ด้วยตา) มีอาการ 4 อย่าง คือ ลิงคะ (เช่น เครื่องเพศ) นิมิตตะ (เช่น หน้าอก หนวดเครา) กุตตะ (นิสัยใจคอ การเล่น) อากัปปะ (กิริยาอาการ) เน้นอีกทีว่า ภาวรูปไม่เห็นได้ด้วยตา แต่อาการของมันบางอย่าง เช่น ลิงคะ นิมิตตะ พวกนี้เห็นได้ด้วยตา พอเห็นไหมว่า คำพูดที่ว่ารูปกลาปคือเซลล์นั้น มั่วได้น่ากลัวขนาดไหน
อิทัปปัจจยตาไม่ได้แปลว่าสิ่งสัมพัทธ์
หนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น ผู้เขียนยัดคำพูดของตัวเองใส่พระโอษฐ์พระพุทธองค์ได้น่ากลัวมาก (หน้า 162) "พระพุทธองค์ตรัสว่า "อัตตา (ตัวตน) ของคนเรานั้นไม่เคยมีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ (อิทัปปัจจยตา)" ผมไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนั้นจริงหรือเปล่านะครับ แต่ผมรู้แน่ ๆ ว่าสิ่งสัมพัทธ์เป็นคนละเรื่องกับอิทัปปัจจยตา อิทัปปัจจยตาเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นธรรมฐิติ หมายความว่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้น แต่หลักอันนี้ก็มีของมันอยู่แล้ว ดังปรากฏใน สํ.นิ. 16/61/30 "ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุ (หลัก) นั้น ก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม คือ หลักอิทัปปัจจยตา ..." คำว่า อิทัปปัจจยตา ภาษาอังกฤษใช้คำว่า conditionality ไม่ใช่ relativity แน่ แปลตรงตัว (ผมลอกจากหนังสือพุทธธรรม) ว่า การประชุมปัจจัยของสิ่งเหล่านี้ เป็นอีกชื่อหนึ่งของ ปฏิจจสมุปบาท (dependent origination) หัวใจของหลักการข้อนี้พูดได้ง่ายมากครับ "เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ (ด้วย)" คุณคิดว่าหลักการนี้มีอะไรใกล้เคียงกับคำว่าสิ่งสัมพัทธ์บ้างครับ? คราวนี้ผมจะลองวิเคราะห์ต่อโดยแบ่งออกเป็น 2 ประโยค ก. สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ ข. สรรพสิ่งในโลกเป็นเพียงอิทัปปัจจยตา เห็นชัดว่าในประโยค ก. ไม่จริง เพราะมันมีสิ่งที่ไม่ได้สัมพัทธ์ เช่น อัตราเร็วแสง, มวลอิเล็กตรอน, ประจุอิเล็กตรอน ฯลฯ ส่วนประโยค ข. ผมแปลไม่ออก แต่ถ้าปรับให้แปลออก จะต้องพูดว่า ค. สรรพสิ่งในโลกเป็นไปตามหลักอิทัปปัจจยตา ถ้าอยู่ในขอบเขตปรัชญาพุทธเถรวาทรูปประโยค ค. นี้ ผมรับได้
อาคาร 31 ชั้น
มีการเปรียบเทียบภพภูมิ 31 ตามปรัชญาพุทธเถรวาทกับอาคาร 31 ชั้นในหนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น โดย ทพ. สม สุจีรา น่าสนใจครับ
(หน้า 93 - 94) "ถ้าจะเปรียบภพภูมิเป็นอาคารสูง อาคารนี้จะมี 31 ชั้น อาคารนี้จะมืดสนิทไปทั้งอาคาร มีเพียงดาดฟ้าซึ่งสว่างไสวเปรียบเสมือนนิพพาน นาฬิกาแต่ละชั้นก็เดินด้วยความเร็วไม่เท่ากัน สัตว์ทั้งหลายจะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในอาคารนี้ ชั้นล่างสุดเป็นสัตว์นรก ชั้นที่ 2 เป็นอสุรกาย ชั้นที่ 3 เป็นเปรต ชั้นที่ 4 เป็นเดรัจฉาน ชั้นที่ 5 เป็นมนุษย์ ชั้นที่ 6-11 เป็นชั้นของเทวดา ชั้นที่ 12-27 เป็นชั้นของรูปพรหม และชั้นที่ 28-31 เป็นชั้นของอรูปพรหม ... ที่แปลกประหลาดกว่าอาคารทั่วไปคือลิฟต์ของอาคารนี้จะมีลิฟต์พิเศษอีกตัวขึ้นไปชั้นดาดฟ้าได้จากชั้น 5 เท่านั้น ซึ่งเป็นชั้นของมนุษย์ สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน 31 ชั้นนี้ ถ้าต้องการจะขึ้นไปพบแสงสว่างแห่งนิพพานที่ดาดฟ้า ต้องมาเกิดที่ชั้น 5 เป็นชั้นสุดท้าย ..."
มั่วแล้วลูกพี่ ถ้ายึดตามคัมภีร์ ยกเว้นอบายภูมิ 4 (สัตว์ เปรต อสุรกาย นรก) กับรูปภูมิที่เป็นพรหมลูกฟัก นอกนั้นไปนิพพานได้หมด แต่ถ้าเป็นอรูปภูมิที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันก็หมดสิทธิ์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบรรดาอาจารย์เก่าแก่ทั้งหลายจึงสอนกันมาว่า เหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ไปโปรดอาจารย์ดาบสทั้ง 2 รูปบนอรูปโลก ก็เพราะอรูปโลกไม่มีหทัยวัตถุซึ่งมัคคจิตดวงแรกจะเกิดได้ต้องอาศัยหทัยวัตถุ การสอนอาจารย์ทั้ง 2 บนสวรรค์จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ในสายตาพุทธองค์ แต่ผมจะยกตัวอย่างเด็ดมาหักล้างตึก 31 ชั้นกับลิฟต์พิเศษนี้ดีกว่า
รู้มั้ยครับว่ามีรูปพรหมกลุ่มพิเศษมาก ๆ อยู่กลุ่มหนึ่ง กลุ่มนี้จองรวด 5 ชั้น เราเรียกว่า สุทธาวาสภูมิ ผมทวนความรู้พื้นฐานให้นะ อรูปภูมิที่จอง 4 ชั้นเพราะอรูปฌานมี 4 ระดับ ส่วนรูปภูมิที่จอง 16 ชั้นนี่เป็นชั้นสามัญ 11 กับชั้นพิเศษ 5 ชั้นพิเศษ 5 ก็คือสุทธาวาสนี่แหละครับ ชั้นสามัญ 11 แบ่งเป็น 3, 3, 3, 2 ไล่ตามรูปฌาน 1, 2, 3, 4 รูปฌาน 3 ระดับแรกแบ่งเป็น หยาบ ปานกลาง ประณีต จึงจองได้พวกละ 3 ชั้น ขณะที่รูปฌาน 4 มีแต่ประณีต จึงเหมาชั้นแค่สองชั้น 11-12 สาเหตุที่เหมา 2 ชั้นเพราะมีชั้นหนึ่งจองไว้สำหรับพรหมผู้มีความเห็นว่านามไม่เที่ยงแท้ ได้แก่บรรดาพรหมลูกฟัก แล้ว 5 ชั้นสุทธาวาสล่ะ 5 ชั้นนี้พิเศษจริง ๆ ใครเคยอ่านตำราพุทธแบบฝรั่ง ๆ เขาเรียกผู้มาอยู่ใน 5 ชั้นนี้ว่า non-returner เข้าได้แต่ออกไม่ได้ ออกได้อีกทีคือนิพพาน เป็นชั้นที่สงวนสิทธิสำหรับพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ที่ยังไม่ดับขันธ์เท่านั้นครับ พูดภาษาชาวบ้านว่า ถ้าใครตายจากชั้นนี้ก็ไปดาดฟ้าทันที ... สาเหตุที่แบ่งเป็น 5 ชั้นเพราะแบ่งตามความหนักแน่นของอินทรีย์ 5 ครับ
ศรัทธาแรงกล้า ไป อวิหาภูมิ, วิริยะแรงกล้า ไป อตัปปาภูมิ, สติแรงกล้า ไป สุทัสสาภูมิ, สมาธิแรงกล้า ไป สุทัสสีภูมิ สุดท้าย ปัญญาแรงกล้า ไป อกนิฏฐาภูมิ ไหน ๆ พูดแล้วก็ขอแถมอีกหน่อย เพราะอ่านเจอหลายแห่งมาก ชอบพูดว่า ศาสนาพุทธไม่ใช่ศาสนาแห่งศรัทธา เป็นศาสนาแห่งปัญญา พูดแบบนี้ต้องระมัดระวัง ในความเห็นของผมนะ ถ้ามีกลุ่มของธรรมอะไรก็ตามที่มีศรัทธา ศรัทธาจะเสนอตัวมาเป็นตัวแรกเสมอ ในมิลินทปัญหาพระนาคเสนตอบพระเจ้ามิลินท์ว่า ศรัทธามีอาการแล่นไป คือแล่นนำหน้าชาวบ้านอันเป็นธรรมอื่น เพราะฉะนั้นศรัทธาสำคัญครับ ดูในอินทรีย์ 5, พละ 5, อริยทรัพย์ 7 ฯลฯ แต่ข้อสังเกตหนึ่งคือ ในหมวดใดมีศรัทธานำก็มักจะมีปัญญาปิดท้าย เข้าเค้าว่าศรัทธามากแต่โง่ก็งมงาย ในทางกลับกันปัญญามากแต่ขาดศรัทธา บรรดาอาจารย์สอนกันมาว่าระวังฟุ้งซ่าน
Hypercube อาศัยอยู่ใน 4D แต่ไม่ใช่มิติของเวลา
ตรงนี้ผมรู้สึกตลกนิดนึงเพราะมี 3 ศาสตร์เจ๋ง ๆ ปนกัน คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์ และพุทธศาสน์ บทที่ 9 มิติที่ 4 มิติของเวลา ในหนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น โดย ทพ.สม สุจีรา (หน้า 177) "จากรูปด้านบน ถ้ากล่องแต่ละกล่องแทนสภาวะสามมิติในเหตุการณ์หนึ่ง การมองโลกสามมิติจากมิติที่สี่ จะเห็นโลกของสามมิติซ้อนทับกันหลาย ๆ เหตุการณ์ ดังนั้นปรากฏการณ์ตาทิพย์จึงไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด"

คำว่ารูปด้านบนจากข้อความที่ผมยกมานั้น เป็นรูป hypercube คล้าย ๆ กับรูปที่ผมเลือกมานะ ตรงนี้ขอย้อนความสักเล็กน้อย คุณหมอบอกว่าจักรวาลมี 4 มิติ หมายถึง Space 3 + Time 1 แล้วก็พยายามที่จะอธิบายมิติที่ 4 (ซึ่งเป็นมิติเวลา) โดยการเปรียบเทียบกับ hypercube ก่อนมาถึง hypercube ได้พูดถึง 2D ทำนองว่าสิ่งที่คนบนโลก 2D มองไม่เห็นเพราะมีการบังนั้น คนบนโลก 3D มองเห็น โดยแกไปเปรียบเทียบกับมดเดิน ๆ แล้วมีอะไรหล่นตุ๊บตรงหน้า มดตกใจ เพราะมดมีขีดจำกัดมองมิติที่สามได้ไม่ดี เปรียบเทียบแบบนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว คนเราถ้าไม่บ้าพอจะเดินแหงนหน้าตลอดเวลา อะไรหล่นตุ๊บลงมาก็ตกใจเหมือนกัน ไม่เป็นไร เพราะข้อเท็จจริงคือ เราสามารถมองเห็นสิ่งที่ปกปิดในโลก 2D จากโลก 3D ได้ หรือเรามองเห็นส่วนที่ปกปิดในโลก 3D จากโลก 4D ได้ ฉะนั้นคุณหมอก็ยกรูปทรงสุดเท่ hypercube ขึ้นมา ซึ่งเป็นรูปทรงที่อาศัยในอวกาศ 4D (แต่อาจจะเป็นแค่รูปทรง 2D ก็ได้นะ ถ้ามันมีแค่พื้นผิว) ผมไม่รู้จะพูดยังไงดี เพราะเจ้า hypercube นี่มัน exist อยู่ใน 4D ก็จริง แต่ทั้ง 4 มิตินั้นเป็นมิติอวกาศทั้ง 4 ครับ พูดง่าย ๆ ว่าในทางคณิตศาสตร์ต่อให้ไม่มี time dimension มันก็ exist อยู่ได้ ฉะนั้นการเอารูป hypercube มาเป็นตัวอย่างบรรยาย space-time ผมคิดว่ามันทะแม่ง ๆ ถ้าอยากวาดรูปกาลอวกาศ ก็ใช้ space-time diagram เข้าใจง่ายกว่ากันเยอะ และเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่จบแค่นั้นเพราะจะโยงไปเรื่องตาทิพย์ โอเค ถ้ามีใครก็ตามอยู่ในอวกาศ 4 มิติแล้วมองลงมายังอวกาศ 3 มิติ เขาจะเห็นสิ่งที่ปกปิดในอวกาศ 3 มิติได้ หมายความว่า เขาเห็นหัวใจ เห็นปอดของผมได้ ฉะนั้นในกรณีตัวอย่าง hypercube นี้สิ่งที่ตาทิพย์จะ claim สิทธิแบบถูกไถ ๆ ได้ก็คือ ตาทิพย์ มองผ่านสิ่งที่ปิดบังได้ทางมิติที่ 4 แต่มิตินี้ไม่ใช่เวลานะ หมายความว่า ถ้าคุณมาใช้ตาทิพย์กับผม อย่างมากก็เห็นอวัยวะภายใน แต่จะไปเห็นอดีต อนาคตได้อย่างไร มันไม่สอดคล้องกับตัวอย่าง hypercube ที่ยกมา ถ้าตาทิพย์อยาก claim ได้มากกว่านี้ ผมเสนอว่าพิมพ์ครั้งหน้า ทิ้งรูป hypercube ไปครับ
สหชาติธรรม หนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น หน้า 186 มีคำอธิบายบางประเด็นที่ชวนสะกิดใจ "เมื่อเห็นรูป ผัสสะจะเกิด แล้วส่งต่อมาที่เวทนา จากเวทนาก็มาถึงตัณหา และจึงเลยไปเป็นอุปาทาน เป็นขึ้นสุดท้าย ในช่วงรอยต่อของสี่ขั้นนี้ จะตัดขั้นตอนไหนก็ได้ แต่ถ้าปล่อยให้เลยเถิดมาถึง "อุปาทาน" ก็สายเกินไปเสียแล้ว" ถ้าผมมองเฉพาะเจตนาของผู้เขียนว่าต้องการบอกผู้อ่านให้จัดการตัดเหตุทั้งหลายก่อนจะมาถึงอุปาทาน ผมก็สบายใจ ปล่อยให้ผ่านไปได้โดยไม่ต้องทักท้วงอะไร แต่อดทักท้วงไม่ได้ว่า จริง ๆ แล้ว วิญญาณ, ผัสสะ, เวทนา และสัญญา 4 ตัวนี้เกิดขึ้นร่วมกัน เป็น สหชาติธรรม ถ้ามันเกิดมันจะเกิดยกแก๊ง การที่ผู้เขียนเขียนว่า รอยต่อ (1) ระหว่าง "เมื่อเห็นรูป" (วิญญาณกระทบกับรูปารมณ์) กับ "ผัสสะ" หรือรอยต่อ (2) ระหว่าง "ผัสสะ" กับ "เวทนา" หรือรอยต่อ (3) ระหว่าง "เวทนา" กับ "ตัณหา" หรือรอยต่อ (4) ระหว่าง "ตัณหา" กับ "อุปาทาน" สามารถเลือกตัดเอาได้ (1) ถึง (4) ผมก็อยากเรียนให้ทราบข้อเท็จจริงทางอภิธรรมดังนี้ครับว่า ในพุทธปรัชญาเถรวาทเรา ไม่มีรอยต่อเหล่านั้นให้ตัดได้ในโดเมนเวลา เพราะสิ่งที่เรียกว่ารอยต่อ (1), (2) และ (3) เป็นเพียงรอยต่อที่พระพุทธองค์ทรงแยกไว้ให้ง่ายต่อการอธิบายและแจกแจงว่า นี่คือวิญญาณ นี่คือผัสสะ นี่คือเวทนา นี่คือสัญญา แต่ไม่ได้บอกว่าเมื่อเกิดวิญญาณ (ตัวอย่างเช่นเห็นรูป) แล้วต่อมาจะเกิดผัสสะ แล้วต่อมาจะเกิดเวทนา แล้วต่อมาจะเกิด ... (คุณไล่ไปตามวงปฏิจจสมุปบาทได้เลย) ระวังประเด็นนี้ให้ดีนะ

ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เล่ม 2
มาถึงเล่ม 2 ดร.ชัยวัฒน์ เขียนคำนิยมว่า "โดยส่วนตัวผมเองชื่นชม สนับสนุน และให้กำลังใจแก่ผู้เขียนหนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เพราะหนังสือที่มีเนื้อหาเช่นนี้ ผู้เขียนควรจะเป็นผู้ที่มีความรู้จริงในระดับที่เชื่อถือได้ทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนา" ตรรกะในประโยคนี้บอกว่า 'ใครก็ตามที่เขียนเนื้อหาแบบนี้ ก็ควรจะเป็นผู้รู้ และนั่นเป็นเหตุให้ฉันชื่นชมผู้เขียนท่านนี้' เราจะเห็นตรรกะที่แปลก เพราะสรุปความเป็นผู้รู้จากเรื่องที่เขียน ไม่ได้ตรวจสอบความเป็นผู้รู้จากความถูก-ผิดของเรื่องที่เขียน ซึ่งเรื่องที่ผู้เขียนเขียนนั้นเป็นเรื่องที่สามารถตรวจสอบความถูก-ผิดได้ง่ายมาก ในด้านวิทยาศาสตร์ ก็ตรวจสอบกับตำราวิทยาศาสตร์ ในด้านพุทธศาสตร์ ก็ตรวจสอบกับคัมภีร์พุทธเถรวาท ไม่ใช่ตรวจสอบกับมติของใครคนใดคนหนึ่ง ประโยคต่อมา "ผู้เขียนเป็นทันตแพทย์ ซึ่งหมายความว่าจะต้องศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐานมากพอที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์ต่ออย่างลงลึกไปอีกดังเช่นทฤษฎีสัมพัทธภาพและทฤษฎีควอนตัม ... ดังนั้นผมจึงไม่สงสัยว่าผู้เขียนจะไม่รู้วิทยาศาสตร์มากพอสำหรับการเขียนหนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกาลามสูตร คุณจะสงสัยหรือไม่สงสัยความรู้ของใคร คุณต้องพิจารณาตัวความรู้ของคนนั้นครับ ไม่ใช่แค่พิจารณาจากพื้นฐานการศึกษาของคนคนนั้นอย่างเดียว ประโยคต่อมา "ส่วนทางด้านพุทธศาสนา ผู้เขียนก็ได้สัมผัสกับพุทธศาสนาอย่างลงลึกถึงระดับปฏิบัติธรรมและฝึกวิปัสสนากรรมฐานด้วยตนเอง...ดังนั้นผมจึงยิ่งไม่สงสัยว่าผู้เขียนจะไม่รู้พุทธศาสนามากพอสำหรับเขียนหนังสือเล่มนี้" ประโยคนี้นอกจากตรรกะที่น่าสงสัยแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนคำนิยมตกอยู่ภายใต้มายาคติ 'นักปฏิบัติ' อีกด้วย ประเด็นที่เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาอันดับแรกคือ คำสอนพระพุทธศาสนาได้แก่คำสอนของพระพุทธเจ้า (และพระสาวก) และคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกเก็บบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา (โดยหน้าที่แล้วคัมภีร์อรรถกถาทำหน้าที่เหมือนพจนานุกรมสำหรับอ่านพระไตรปิฎกนั่นแหละครับ) ฉะนั้น การตรวจสอบว่าคำสอนใดเป็นพุทธเถรวาทจริงหรือไม่จริง เราทำได้ง่าย ๆ โดยการตรวจสอบกับคัมภีร์ ไม่ใช่ตรวจสอบกับประสบการณ์ของคนนั้นคนนี้ เพราะคนนั้นคนนี้ที่อ้างว่าปฏิบัติ ก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน บางสำนักถึงกับขัดแย้งสำนักอื่นก็มี ตรรกะทำนองว่า "เขารู้ธรรมะ เพราะเขาปฏิบัติธรรมะ" จึงต้องมองให้ลึกผ่านมายาคติ โดยตั้งคำถามว่า เขาปฏิบัติธรรมะของใคร? ธรรมะของพระพุทธเจ้าใช่มั้ย? ถ้าใช่ งั้นสบายล่ะ เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้ามีบันทึกปริบัติไว้พร้อม เราก็ตรวจสอบความเห็นของผู้ปฏิบัติกับความรู้ปริยัติ มีบันทึกวิธีปฏิบัติไว้ด้วย เราก็ตรวจสอบวิธีปฏิบัติของผู้ปฏิบัติ แถมคัมภีร์ยังมีบันทึกปฏิเวธไว้อีก ว่าผลที่ได้เป็นลำดับ ๆ นั้นเป็นอย่างไร ถ้าปฏิบัติธรรมะแล้วโง่มากขึ้น โลภมากขึ้นเป็นปฏิเวธ งั้นก็ไม่ใช่ศิษย์ของพระพุทธเจ้าล่ะ ขอพูดถึงคำนิยมคร่าว ๆ เท่านี้ และขอวิจารณ์เนื้อหาในหนังสือเล่ม 2 เล็กน้อย เนื้อหาในหนังสือไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เล่ม 2 เดินตามรอยเล่มแรก และมีการกลับไปอ้างอิงหนังสือของผู้เขียนเองอีกหลายเล่ม อ่านไปก็ขำไป ถึงแม้เชิงอรรถจะเพียบ แต่ก็เพียบแบบแปลก ๆ ส่วนมากเป็นคำแนะนำบุคคลที่ผู้เขียนหยิบคำพูดขึ้นมาอ้างว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร แต่มิได้อ้างอิงเอาไว้ประกอบการค้นคว้าว่าคำพูดดังกล่าวพูดไว้ที่ไหน ในบทที่ 2 พูดถึงไอน์สไตน์เสียอย่างกับเป็นพระอริยะ เช่น (หน้า 14) "ในทางพระพุทธศาสนา ขณะบรรลุเข้าสู่จตุถฌาน สรรพเสียงรอบข้างจะดับไป ซึ่งไอน์สไตน์สามารถบรรลุเข้าสู่ฌานนี้ได้โดยที่ไม่ต้องปฏิบัติกรรมฐาน" ตามตำราถ้าจิตไม่ยึดเสียงเป็นอารมณ์นั้น จิตในฌานแรกก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรแล้วครับ หรือคนนั่งเหม่อลอยที่จิตยึดภาพความคิดหวานฟุ้งซ่านเป็นอารมณ์ไม่ยอมปล่อย พวกนี้ก็ไม่ได้ยินเสียงนกเสียงกาเหมือนกัน (หน้า 26) "...และภาวนามยปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาญาณขั้นสูงสุด ไอน์สไตน์เกิดปัญญาญาณระดับนี้โดยไม่ได้นับถือพุทธศาสนา" อ่านแล้วว้าว ไอน์สไตน์เรานี่น้อง ๆ ปัจเจกพุทธเจ้าทีเดียว และยังมีจุดที่ผิดจากปริยัติของเถรวาทมากมายเช่นเคย เช่น หน้า 29 บอกว่า "สติซึ่งเป็นเจตสิก (องค์ประกอบของจิต)" ผิด เพราะ เจตสิก ไม่ใช่องค์ประกอบของจิต แต่เป็นนามธรรมที่เกิดประกอบกับจิต ถ้าพูดในขันธ์ 5 จิต คือ วิญญาณขันธ์ ส่วน สติ เป็นสังขารขันธ์, หน้า 43 บอกว่า "แต่ถ้าจิตไม่ขึ้นมารับอารมณ์เสียอย่าง เวทนา ตัณหา ก็ไม่เกิด อุปาทานไม่มี" ผิด เพราะ จิตที่ไม่รับอารมณ์ไม่มี ความหมายหนึ่งของจิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แม้แต่จิตของพระอรหันต์ที่เข้านิโรธสมาบัติก็มีนิพพานเป็นอารมณ์ ส่วนเวทนานั้น นอกจากนิโรธสมาบัติแล้ว อย่างไรเสียก็ต้องมี เพราะ วิญญาณ ผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นสหชาตธรรม เกิดร่วมกัน หน้า 74 บอกว่า "ผู้ปฏิบัติธรรมที่สามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทาน แม้เพียงชั่วครู่ ทำสมาธิจนเข้าสู่ปฐมฌาน เมื่อนั้นจะเริ่มเข้าใจว่าจิตกับสมองเป็นคนละส่วนกัน นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกจะมีสมาธิที่สูงมากโดยกำเนิด อาจสามารถเข้าสู่สภาวะนี้ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติกรรมฐาน" แบบนี้นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกตายแล้วคงไปเกิดเป็นพรหมกันหมดกระมัง เพราะเธอได้ปฐมฌานกันถ้วนหน้า ในสภาวะฌานที่จริงนั้นจิตจะรู้อยู่แค่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เช่น สีแดง สีเหลือง อากาศ น้ำ แสงสว่าง ศพ เมตตา รูปนามในอดีต ฯลฯ แม้คำว่าฌานสามารถใช้ในความหมายของลักขณูปนิชฌาน หมายถึง วิปัสสนาได้ แต่ก็ไม่สอดคล้องกับคำว่าปฐมฌานอยู่ดี, ที่เชิงอรรถหน้าเดียวกันนั้นบอกว่าหลวงพ่อชา "เป็นศิษย์เอกพระอาจารย์มั่น" อันนี้กล่าวเกินจริงไปสักนิด อย่างน้อยถ้าเป็นศิษย์เอกก็น่าจะอยู่นิกายเดียวกัน (หลวงปู่ชาเป็นมหานิกาย หลวงปู่มั่นเป็นธรรมยุติ) จริงอยู่ประเด็นนิกายนี่ไม่สำคัญ แต่ถ้าพูดว่าศิษย์เอก ผมคิดว่า (อาจจะคิดผิดก็ได้นะ) คนทั่วไปนึกถึง หลวงปู่สิงห์, หลวงปู่เทศก์, หลวงปู่ขาว, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่แหวน, หลวงปู่ดูลย์ ฯลฯ มากกว่า เหล่านี้เป็นศิษย์รุ่นแรก ๆ หน้า 10 บอกว่า "โลภะเป็นกิเลสขั้นสูง รองจากมานะ (ความถือตัว) ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ขึ้นเหนือระดับโสดาบันไม่ได้เพราะตัดโลภะไม่ขาด และถ้าจะบรรลุถึงขั้นอนาคามีและอรหันต์ต้องตัดมานะให้ขาดสะบั้น" จุดนี้ผิด ผมขอยกตัวอย่างสังโยชน์ 10 (ตามสุตตันตนัยนะครับ เพราะอภิธรรมนัยท่านจัดไว้ไม่เหมือนกัน) แบ่งเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ หรือสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ได้แก่ 1 สักกายทิฏฐิ 2 วิจิกิจฉา 3 สีลัพพตปรามาส 4 กามราคะ 5 ปฏิฆะ และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ หรือสังโยชน์เบื้องสูง 5 ได้แก่ 6 รูปราคะ 7 อรูปราคะ 8 มานะ 9 อุทธัจจะ 10 อวิชชา สังโยชน์นี่คือธรรมที่ผูกกรรมไว้กับผล คราวนี้พิจารณามรรค 4 คือ โสดาปัตติมรรค, สกทาคามิมรรค, อนาคามิมรรค กับ อรหัตตมรรค ตำราเขียนไว้ชัดเจนว่า โสดาปัตติมรรค หมายถึง มรรคที่เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ตัวแรกได้ สกทาคามิมรรค ก็ยังละได้แค่ 3 ตัวแรกบวกกับราคะ โทสะ โมหะ เบาบาง ส่วนอนาคามิมรรคจึงเป็นมรรคที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 ได้ หมายความว่า อนาคามิผล หรือ พระอนาคามียังละได้เพียงโอรัมภาคิยสังโยชน์นะครับ พระอนาคามียังละมานะไม่ได้ ส่วนที่เขียนว่าโลภะเป็นกิเลสต่ำกว่ามานะนั้น ผมไม่เคยเจอ แต่ถ้าพิจารณาจากอนุสัย 2 ตัวคือ ภวราคานุสัย (โลภะเจตสิก) กับ มานานุสัย (มานเจตสิก) สองตัวนี้ต้องใช้อรหัตตมรรคประหารเหมือนกัน