[อาจจะสปอยล์] สนุกกว่าที่คิด บทของ Henry Rollins โดดเด่นจนลืมได้ยาก พฤติกรรมของ Jack เหมือนพวกเบื่อหน่ายสังคมและถูกควบคุมด้วยตรรกะภายในอะไรบางอย่างที่คนดูจะค่อย ๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นเมื่อรู้เรื่องราวมากขึ้น เขาเป็นฆาตกร เขากินคน แต่ก็ไม่แสดงอาการเอร็ดอร่อยหรือสนุกสนานกับการกินนั้น กินเพราะต้องกิน เขาแก่มาก และดูเหมือนเขาไม่พูดโกหก ตอนพี๊คที่เขาบอก Cara สาวเสิร์ฟร้านอาหารประจำว่าเป็นใครนั่นแหละเราถึงรู้ว่าเขาแก่ขนาดไหน แก่กว่าคนทุกคนบนโลก เพราะเขาเป็นคนมนุษย์คนแรกที่เกิดแบบมีพ่อมีแม่ พ่อชื่ออดัม แม่ชื่อเอวา เขาคือคาอิน คาอินหรือ Jack ถูกพระเจ้าขับไล่เพราะฆ่าอาเบลน้องชายด้วยความโกรธ ความอิจฉา (โกรธกับอิจฉาใคร ถ้าไม่ขี้เกียจ เราจะเขียนถึงในย่อหน้าที่สอง) และให้เร่ร่อนไปบนโลก ในฉากสุดท้าย ก่อน Jack จะลงมือฆ่า Alex หัวหน้าแก๊งวายร้าย ชายแก่ประหลาดผู้มีเคราแพะปรากฏตัว ดูเหมือน Jack จะโกรธชายผู้นี้มาก เปลี่ยนจากเงียบขรึมเป็นวีนแตกขึ้นมาทันที โวยวายกับชายชราเคราแพะคนนี้ว่าลงโทษฉันสิ ทำให้ฉันตายสิ ตอนฉันจะฆ่าคนบริสุทธิ์มากมายทำไมเธอไม่โผล่หัวมา ทีจะฆ่าคนเลวคนนี้ดันโผล่ นี่หมายความว่ากระไร (ถึงตอนนี้ ในหัวเราเห็นหน้าไอน์สไตน์พร้อมข้อความ "Subtle is the Lord. Malicious, He is not." ... เป็นรูปตอนแกแลบลิ้นนะฮะ) Alex ก็งง Jack กำลังโวยใคร สุดท้าย Jack ไว้ชีวิตแล้วบอก Alex ว่าสักวันเธอจะมองเห็นเขา
บทช่วงที่ Rollins ปรี๊ดแตก บทพูดว่าลงโทษฉันสิ ฆ่าฉันสิ ทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งของ Steven J. Brams โปรเฟสเซอร์ด้านการเมืองที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เราไม่รู้เรื่องการเมืองแต่ Brams เขียนหนังสือเกี่ยวกับทฤษฎีเกมเจ๋ง ๆ หลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Biblical Games และมีบทหนึ่งวิเคราะห์ปฐมกาล 4 อันเป็นตอนที่คาอินฆ่าอาเบล ในการวิเคราะห์ Brams ตั้งสมมุติฐานว่าพระเจ้ามี motivation ในการกระทำ ตามปฐมกาล 4 คาอินเป็นคนเพาะปลูก ส่วนอาเบลเป็นคนเลี้ยงสัตว์ อยู่มาวันหนึ่ง สองพี่น้องก็เอาของไปให้พระเจ้า คาอินเอาผลผลิตจากต้นไม้ไปให้ ส่วนอาเบลให้แกะหัวปี พระเจ้าชอบของของอาเบล แต่ไม่ชอบของคาอิน ก็เลยเมินใส่คาอิน Brams ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ชอบ ทำไมไม่บอกไปตรง ๆ ล่ะ จะมาเล่นเกมจิตวิทยาเมินใส่ทำไม ทีกรณีอดัมกับเอวายังพูดตรง ๆ ไม่เห็นเงียบเลยนี่ ฉะนั้นเขาเชื่อว่าพระเจ้ามีแรงจูงใจจะทำให้คาอินอิจฉาน้องมากกว่า (สำนวนของ Brams จิกกัดกว่านี้เล็กน้อย ใครสนใจ หาอ่านเอง) ทีนี้ Brams ยกหลักฐานมาสนับสนุนความเชื่อของเขาจากปฐมกาล 4:6 ซึ่งเป็นคำถามที่ ... เหมือนเล่นเกมจริง ๆ นั่นแหละ พระเจ้าถามคาอินหลังจากเมินของขวัญว่า "เธอโกรธทำไม ทำหน้าเป็นตูดทำไม" พระเจ้าไม่รอคำตอบนะฮะ เพราะแกรู้คำตอบอยู่แล้วนี่ เลยเทศนาต่อด้วยคำสอนไพเราะเพราะพริ้งราวบทกวี 4:7
หลังจากคาอินฆ่าอาเบลแล้ว พระเจ้าถามว่า "น้องชายเธออยู่ไหน" ... ถือว่าคุณรู้ 4:9-15 ล่ะกัน ถึงแม้จำได้ก็ลองอ่านซ้ำอีกที เชื่อว่าจะเห็นรูปแบบทั้งเกมในเชิงจิตวิทยาและเกมในเชิงคณิตศาสตร์ สรุปเลยนะฮะ ตาแรก เริ่มจากพระเจ้ามี 2 ทางเลือก 1. สร้างความอิจฉาในใจคาอิน 2. นิเสธ 1. พระเจ้าเลือก 1. เพราะถ้าเลือก 2. แกจะเบื่อและขาดผู้ประกาศกิตติคุณ (ฟังก์ชั่นของคาอินคือผู้ประกาศกิตติคุณที่พระเจ้าวางแผนเอาไว้) มาถึงตาคาอินบ้าง หลังจากอิจฉาแล้วมี 2 ทางเลือก 1. ฆ่าอาเบล 2. นิเสธ 1.
Brams บอกกว่าการเลือก 1. สำหรับเขาแล้วไม่ใช่เรื่องไร้เหตุผล เกมนี้เป็นเกมที่เล่นระหว่างคาอินกับพระเจ้า ในเมื่อคาอินโจมตีพระเจ้าตรง ๆ ไม่ได้ ถึงแม้เขาอยากจะทำ เขาก็โจมตีสิ่งที่พระเจ้าชื่นชอบแทน นี่เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจตรงไหน ยิ่งถ้าเราตีความคำตอบของคาอินหลังจากพระเจ้าถามว่าน้องอยู่ไหน "ฉันจะไปรู้ได้ยังไง ฉันไม่ใช่คนดูแลเขานี่" คำตอบครึ่งหลังโจมตีศีลธรรมของพระเจ้าด้วย พระเจ้าไม่รู้เหรอว่าคาอินเป็นคนยังไง พระเจ้าไม่รู้รึว่าผลสืบเนื่องหลังจากทำให้คาอินอิจฉาจะเป็นแบบไหน มันไม่น่าจะคาดเดายากนี่หว่า จะว่าไป ถ้าตานี้คาอินไม่ฆ่าน้องสิ พระเจ้าอาจอ่านเกมผิด

ตาต่อมาพระเจ้าเดิน "น้องชายเธออยู่ไหน" กับ "เธอทำอะไรลงไป เลือดของน้องเจ้าร่ำร้องจากผืนดิน" ทำให้คาอินมีตัวเลือก 3 แบบ 1. ยอมรับ 2. ปฏิเสธ และ 3. หาข้อแก้ตัวทางศีลธรรม และหลังจากเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วพระเจ้าสามารถโต้ตอบได้ 2 แบบ 1. ฆ่า กับ 2. ลงโทษคาอิน Brams วิเคราะห์ว่าถ้าคาอินเลือก 1. หรือ 2. พระเจ้าจะเลือก 1. และในการเลือก 3. ของคาอินนั้นแม้ดูผิวเผินเหมือนแถ แต่ Brams ชี้ว่าพระเจ้าเองก็รู้ว่าตัวเองมีส่วนด้วย จึงเลือกที่จะขับไล่และทำเครื่องหมายไม่ให้ผู้ใดฆ่าคาอิน บัดนี้เขาได้กลายเป็นตัวแทนของการประกาศบาปแห่งความโกรธและอิจฉา รวมถึงความเมตตาไว้ชีวิตจากพระเจ้า วิน-วิน (อันที่จริงไม่ใช่ วิน-วิน ถ้าคุณพลิกดูหนังสือหน้าที่เป็นรูป analysis tree จุดหยุดของเกมจะอยู่ที่ medium-good สำหรับ คาอิน-พระเจ้า) ฉะนั้น ก็โอเค-วิน