ถึงเดวิด ต่อไปนี้เป็นความทรงจำบางส่วนของผมเกี่ยวกับคาร์นัป ผมรู้จักโปรเฟสเซอร์คาร์นัปครั้งแรกตอนเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยชิคาโก้ เอกคณิตศาสตร์ จะว่าไป ไม่มีวิชาเลขที่เปิดสอนวิชาไหนถูกใจผมเลย คงเป็นเพราะผมสนเพียงแค่ตรรกศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ แต่ที่ได้ลงเรียนกับคาร์นัปสามตัวมีประโยชน์นัก วิชาแรกคือตรรกศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ วิชาที่สองวากยสัมพันธ์ วิชาที่สามเป็นสัมมนา ว่าด้วยวากยสัมพันธ์กับอรรถศาสตร์ ทั้งสามตัวตัดเกรดกันที่เปเปอร์ปลายภาคอย่างเดียว ไม่มีสอบครับ สำหรับวิชาแรก ผมเขียนบทความเกี่ยวกับกระบวนวิธีตัดสินใจแบบใหม่สำหรับ monadic first-order logic (พูดแบบหยาบ ๆ มันคือ first-order logic ที่ arity ของ predicate เท่ากับ 1 — ผู้แปล) ซึ่งในฐานะบทแทรก ได้นำไปสู่สองกระบวนวิธีตัดสินใจของควิน โปรเฟสเซอร์คาร์นัปให้เกรด A และเขียนตอบกลับมาว่า ผมควรจะส่งสำเนาบทความดังกล่าวไปให้ควิน ผมทำตาม

ขอนอกเรื่องสักหน่อย ควินตอบกลับหลังจากนั้นไม่นาน ว่า "ผมชอบวิธีแก้ปัญหาแบบเมตริกซ์ของคุณนะ แต่เปเปอร์นี้คงยังไม่พอสำหรับตีพิมพ์ ดูจากความเข้าใจลึกซึ้งไม่ธรรมดาของคุณเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ quantification theory (อีกชื่อหนึ่งของ first-order logic — ผู้แปล) ทำงานแล้ว ผมคิดว่าคุณควรจะปรับปรุงต่อยอดอีกสักหน่อย อาจได้อะไรที่ใหม่ออกมา" ในบทความนี้ ผมสะกดคำว่า "procedures" ผิดทุกจุด ควินเขียนด้วยอารมณ์ขัน "คุณสะกด procedures ผิดคงเส้นคงวาได้อย่างน่าชื่นชม" กลับมาที่คาร์นัป ผมไม่ได้ส่งเปเปอร์สำหรับสองวิชาที่เหลือ นั่นทำให้ติดเกรดส่งงานไม่ครบ (incomplete) ทั้งสองวิชา หลายเดือนต่อมา ผมไปเยี่ยมคาร์นัปที่พรินซ์ตัน แล้วบอกเขาว่า "ตอนนี้ผมเขียนเปเปอร์ชั้นยอดสองชิ้นเสร็จแล้วละครับ จะส่งให้อาจารย์เร็ว ๆ นี้" [ใช่ ผมไม่ถ่อมตัวเลยสักนิดในการเรียกบทความของตัวเอง "ชั้นยอด"!] พอกลับถึงบ้าน ก็ส่งบทความทั้งสองไปให้ คาร์นัปให้เกรด A กลับมาทั้งคู่ และเห็นได้ชัดว่าแกจำที่ผมเรียกเปเปอร์ของตัวเองว่า "ชั้นยอด" ได้ เพราะแกเขียน "การประเมินตัวเองของเธอถูกต้องนะ" แถมยังบอกอีกด้วยว่า "ฉันเขียนไปบอกฝ่ายทะเบียนให้แก้เกรดเธอจากส่งงานไม่ครบเป็น A แล้วล่ะ แน่นอน สำหรับฉัน เธอควรจะได้ A+ ด้วยซ้ำ แต่ฝ่ายทะเบียนไม่ยอมให้มีประจุ" หนึ่งในสองเปเปอร์นี้ คาร์นัปแนะนำ "ฉันว่าน่าจะส่งไปตีพิมพ์ใน Journal of Symbolic Logic" สำหรับอีกเปเปอร์ อาจารย์เขียน "อันนี้ก็ด้วย ฉันเชียร์ให้เธอตีพิมพ์!" ผมตีพิมพ์เปเปอร์แรกใน Journal of Symbolic Logic ตามคำแนะนำ ชื่อของบทความคือ "Languages in which Self-Reference is Possible" และได้รับการตอบรับอย่างดี สำหรับเปเปอร์ที่สอง ส่วนหนึ่ง ผมตีพิมพ์เป็นบทความ และอีกส่วนหนึ่ง ตีพิมพ์ในหนังสือ Theory of Formal Systems ของผม โปรเฟสเซอร์คาร์นัปช่วยเหลือผมในหลาย ๆ ด้าน ตอนอาจารย์อยู่พรินซ์ตัน แกเคยอวดบทความปลายภาค "Languages in which Self-Reference is Possible" ของผมให้เกอเดลดู หลายปีต่อมา ตอนผมเรียนที่พรินซ์ตัน ผมเจอเกอเดลผู้ซึ่งแสดงความยินดีกับบทความนั้นที่แกคิดว่าเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก! นี่แปลกมาก ผมรู้นะว่ามันดี แต่ก็คิดว่าไม่น่าเพียงพอสำหรับทีสีส ป. เอก! ย้อนกลับมาตอนผมยังเป็นนักเรียนที่ชิคาโก้ เพื่อนนักเรียนคนหนึ่งในคลาสของคาร์นัปคือ สแตนลีย์ เทนเน็นบัม ผู้ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญมากในตรรกศาสตร์เชิงคณิตศาตร์สองชิ้น เราสามคนเป็นแก๊งสนิทสนมกัน สแตนลีย์กับผมมักจะเดินไปส่งคาร์นัปที่บ้านหลังเลิกเรียน สแตนลีย์จัดงานปาร์ตี้ฉลองวันเกิดปีที่ 60 ให้คาร์นัปที่บ้านของเขา คาร์นัปหลงรักดนตรีคลาสสิก ผมเลยเล่นเปียโนให้ในงาน หลังเล่นจบ คาร์นัปว่า "ถ้าฉันเล่นได้อย่างเธอ ฉันจะเล่นวันละสิบสองชั่วโมง!" หลังจากปาร์ตี้ที่้บ้านของสแตนลีย์ พวกเราไปต่อกันที่บ้านของคาร์นัป ที่นั่น ผมได้นำเสนอบทพิสูจน์การมีตัวตนของพระเจ้าให้คาร์นัปฟัง ตอนนั้นผมเป็นนักมายากลอาชีพอยู่นะครับ บทพิสูจน์เป็นแบบนี้ ผมหยิบควีนโพดำออกมาจากไพ่หนึ่งสำรับ ให้ทุกคนเห็นแล้วคว่ำลงบนโต๊ะ จากนั้นพูด "อาจารย์รู้ว่าสำหรับประพจน์สองประพจน์ p กับ q, ถ้า p เป็นจริงแล้ว ไม่ p ก็ q เป็นจริง" (p∨q เป็นจริง เพราะ p เป็นจริง — ผู้แปล) คาร์นัปยอมรับ ผมพูดต่อ "ให้ p เป็นประพจน์ไพ่ใบนี้มีดอกสีดำ และ q เป็นประพจน์พระเจ้ามีจริง ทีนี้ เนื่องจากไพ่ใบนี้มีดอกสีดำจริง ฉะนั้น ไม่ไพ่ใบนี้มีดอกสีดำ ก็พระเจ้ามีจริง" อาจารย์ยอมรับ จากนั้นผมหงายไพ่ใบที่คว่ำไว้ เล่นเอาทุกคนตะลึง เพราะมันเปลี่ยนเป็นหน้าดอกสีแดง! ผมจึงพูดว่า "เนื่องจากมันไม่ใช่สีดำ ฉะนั้นพระเจ้ามีจริง" คาร์นัปตอบกลับอย่างเบิกบาน "แหงล่ะ พิสูจน์ด้วยมายากล แบบเดียวกับที่พวกนักเทววิทยาใช้กัน!" มีอีกหนหนึ่ง ใครบางคนเล่นกลที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ทางกายภาพ คาร์นัปว่า "โอ สวรรค์! ฉันไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้ไม่ว่าใน possible world ไหนก็ตาม ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในโลกใบนี้!" คาร์นัปเป็นโรคปวดหลัง ผมก็เป็น ตอนไปเยี่ยมเขาที่พรินซํตัน เขานอนบนเตียงตลอดเวลา เพราะปวดหลัง ผมเคยแนะนำว่าบางทีอาการอาจเกิดจากปัญหาทางจิต เลยแนะนำให้ลองปรึกษานักจิตบำบัด เขาทำตามนะครับ หลายปีต่อมา ผมเจอนักจิตบำบัดคนนั้น เขาพูดชื่นชมคาร์นัปมาก ผมบอกคุณแล้วว่าคาร์นัปช่วยเหลือผมหลายด้านมาก ที่จริง เขาอาจเป็นคนที่เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผมด้วยซ้ำ! เรื่องเป็นแบบนี้ หลายเดือนหลังจากเยี่ยมคาร์นัปที่พรินซ์ตัน ผมกลับไปใช้ชีวิตเป็นนักมายากลอยู่ที่ชิคาโก้ วันหนึ่ง ผมได้รับโทรศัพท์จากโปรเฟสเซอร์จอห์น เคเมนี หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ที่วิทยาลัยดาร์ตมัธในแฮนโอเวอร์ นิวแฮมป์เชียร์ เขาบอกว่าภาควิชาต้องการคนสอนเลข และตอนที่เขาอยู่พรินซ์ตัน คาร์นัปเคยแนะนำผมว่าในฐานะ "นักคณิตศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง" ซึ่งเหมาะกับตำแหน่งนี้ เคเมนีถามว่าผมจะมาสัมภาษณ์ที่ดาร์ตมัธมั้ย เขาจะออกค่าใช้จ่ายให้ ผมก็โอเค ไปดาร์ตมัธ ได้งาน และสอนที่นั่นอยู่สองปี นั่นแหละครับผม อาจารย์ดาร์ตัธผู้ไม่มีปริญญาตรี ไม่มีแม้กระทั่งวุฒิ ม. ปลาย! ภายหลังมหาวิทยาลัยชิคาโก้ให้ปริญญาตรีผมนะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเครดิตจากคอร์สที่ผมไม่เคยลงเรียน แต่เคยสอนที่ดาร์ตมัธ จบสองปีที่ดาร์ตมัธ จอห์น เคเมนีเป็นคนช่วยให้ผมได้เป็นเข้าเรียนระดับบัณฑิตศึกษาที่พรินซ์ตัน คาร์นัปก็ช่วย ผมขอให้เขาเขียนจดหมายรับรองเข้าพรินซ์ตัน อาจารย์ตอบคำขอของผมว่า "แน่นอน ฉันเขียนจดหมายให้เธออยู่แล้ว เธอก็รู้ว่าฉันเห็นศักยภาพในตัวเธอและเต็มใจช่วยเสมอถ้าช่วยได้" ถ้าผมไม่รู้จักคาร์นัป ผมก็คงไม่ได้งานที่ดาร์ตมัธ และอาจไม่ไปได้พรินซ์ตัน และก็ไม่แน่ว่าจะได้ปริญญาเอกคณิตศาสตร์จากที่ไหนด้วยหรือไม่ แล้วชีวิตผมจะลงเอยยังไง เป็นไปได้สูงว่านักเดี่ยวเปียโน หรือไม่ก็นักมายากล! ครั้งสุดท้ายที่ผมเจอคาร์นัปคือที่พรินซ์ตัน หลังจากผมส่งวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกได้ไม่นาน คำพูดประโยคสุดท้ายที่เขาพูดกับผมคือ "ฉันเข้าใจว่าเธอเขียนวิทยานิพนธ์ที่เยี่ยมยอด" เดวิด ผมรู้ว่าผมไม่ถ่อมตัวเอาเสียเลย ถึงขั้นหลงตัวเองที่เล่าเรื่องเหล่านี้ ก็แต่ละเรื่องดันซะตัวเองเด่นนี่! ข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าคือ โชคร้ายครับที่ผมเป็นพวกหลงตัวเองชนิดไม่อาจเยียวยา ฝืนไม่ได้จริง ๆ ติดอยู่ในพันธุกรรมเสียแล้ว มาร์ค ทเวนเคยพูดว่า "ผมเกิดมาอ่อนน้อมถ่อมตน แต่ความอ่อนน้อมถ่อมตนนะอยู่ได้ไม่นาน" ส่วนผม "ผมเกิดมาก็หลงตัวเองเอาเสียแล้ว แถมมันยังอยู่มาจนถึงวันนี้!" ด้วยความนับถือ เรย์มอนด์ ป.ล. จู่ ๆ ก็นึกขึ้นได้อีกสองเรื่องเกี่ยวกับคาร์นัป ครั้งหนึ่งในชั้นเรียน แทนที่จะพูด "ตอนฉันเขียน Logical Syntax of Language" อาจารย์กลับพูด "ตอนที่ฉันเขียน Principia Mathematica" ภายหลังพอผมบอก อาจารย์ก็ขำแล้วว่าเป็นการพลั้งปากแบบฟรอยด์ "ฉันเดาว่าในจิตใต้สำนึก คงหวังให้ตัวเองเป็นคนเขียน Principia Mathematica" อีกเรื่องหนึ่ง เขาเล่าให้คลาสฟังเกี่ยวกับเกอเดล เขาเป็นคนอ่านตรวจสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเกอเดลว่าด้วย completeness ของ first-order logic อาจารย์ว่า "นั่นเป็นวิทยานิพนธ์ที่สั้นที่สุดเท่าที่ฉันเคยอ่านมาเลย!" คาร์นัปยังเล่าพวกเราด้วยว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยเสนอเขียนเปเปอร์ร่วมกับเกอเดล "นี่อาจช่วยให้คุณดัง" อาจารย์เล่า พอได้ยินแบบนั้นเกอเดลยืดตัวตรงอย่างมั่นคง แล้วพูด "ผมจะดังด้วยตัวของผมเอง"