จะว่าไปพล็อตเรื่องสั้น En La Noche ของ Bradbury แทบไม่มีอะไรน่าสนใจเลย นาง Navarrez หล่อนร้องไห้หนักมาก คิดถึงผัว Joe โดยเฉพาะตอนกลางคืน กรีดร้องจนชาวบ้านไม่ได้หลับไม่ได้นอน คืนหนึ่ง ชาวตึกทนไม่ไหว หลบออกมารับอากาศข้างนอกตึกพร้อม ๆ กัน จึงกลายเป็นการประชุมโดยมิได้นัดหมาย บางคนขอให้พระเจ้าลงมาทำให้เธอเงียบที แต่พระเจ้าก็เฉย บางคนเสนอว่า ย่องเข้าไปห้องหล่อน แล้วรัดคอแม่งเลย โอ้ย โหดไป อีกคนประท้วง พร้อมเสนอจับโยนออกมานอกหน้าต่างดีกว่า ฮา ฮา ฮา มาถึงไอเดียของนาย Villanazul ส่งผู้ชายขึ้นไปปลอบเธอสิ ผู้ชายในที่นี้มีใครสักคนไหม เสียสละหน่อย ข้ออ้างของชาวบ้านคือ ทุกคนแต่งงานกันหมดแล้ว ฉะนั้นเจ้าของไอเดียนั่นแหละขึ้นไป เมียของนาย Villanazul ก็อนุมัติ บอก ฉันอยากนอนเต็มทีแล้ว หลังจากนาย Villanazul เข้าไปในห้องของนาง Navarrez ความเงียบก็บังเกิด ตรงจุดนี้ Ray Bradbury บรรยายระดับความเข้มเสียงที่ค่อย ๆ ลดลงจากกรีดร้องจนถึงเสียงเต้นของหัวใจได้เจ๋งเชียวล่ะ

แต่ที่เจ๋งที่สุดคือการพาคนอ่านไปปล่อยทิ้งไว้กับชาวบ้าน ตรงนี้ต้องขออธิบาย นิยายส่วนใหญ่ ถ้าไม่เขียนผ่านมุมมองของตัวละคร ก็จะเขียนผ่านมุมมองของพระเจ้า หรือผู้สร้างโลกในนิยายนั้น สำหรับมุมมองแบบหลังนี้ เราก็จะลอยไปชมจุดโน้นจุดนี้ตามแต่กระแสอักษรของผู้เขียนจะพาไป เดี๋ยวก็อยู่กับพระเอก เดี๋ยวก็โผล่ไปห้องตัวร้าย เดี๋ยวก็อยู่ในฝันของใครบางคน รู้ไปถึงความคิดความรู้สึกเชียวล่ะ ครึ่งแรก Bradbury พาเราชมในฐานะคนอ่านผู้มีสิทธิ์รับรู้ (และบางครั้งก็ตัดสิน) ตัวละคร จนกระทั่งถึงตอนที่นาย Villanazul ขึ้นไปห้องนาง Navarrez นั่นแหละ เราถูกทิ้งให้อยู่กับกลุ่มชาวตึกหน้าตาเฉย เพราะเหตุการณ์หลังจากนั้น เรา ผู้อ่าน ถูกบังคับให้ต้องรู้สึกเหมือนกำลังแอบฟังเช่นเดียวกับที่ตัวละครตัวที่เหลือกำลังแอบฟัง เราสูญเสียสิทธิ์ในฐานะแขกคนพิเศษของพระเจ้าไปเสียแล้ว ท่านใดที่ยังไม่เคยลอง ลองลอง แล้วลองบอกว่าเทคนิคที่ Ray Bradbury ใช้ดังว่านี้เข้าท่าไหม