(บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2552) ขอตั้งชื่อล้อเลียนซะหน่อยนะครับ หลังจากอ่าน 'การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์ เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์' เขียนโดยอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ไปได้ครึ่งเล่ม ระหว่างอ่านไปก็มีอะไรค้านในใจไปเรื่อย ๆ ประกอบกับการยกตัวอย่างที่เมื่อเราวิเคราะห์ดี ๆ แล้วพบว่ามันขัดแย้งยอกย้อนกันเองของอาจารย์ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องนำมาแสดงความคิดเห็นกัน สำหรับตอนนี้คงขอเริ่มจากประเด็นที่ง่ายที่สุดและเห็นได้ชัดว่าผิดที่สุดจนเชื่อได้ว่าคนที่ไม่เคยศึกษางานของไอน์สไตน์จริง ๆ จะเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ อย่างนี้สินะที่เรียกว่า ... มายาคติ

อาจารย์ธีรยุทธบอกว่า "นี่เป็นยุทธศาสตร์ของพวกโมเดอร์นิสต์ตั้งแต่ปิกาสโซ่จนถึงไอน์สไตน์ ซึ่งก็มองว่าไม่มีสิ่งสัมบูรณ์ (absolute) มีแต่ภาวะสัมพันธ์ (relativity)" (หน้า 84) ตรงนี้ผมยังไม่อยากเล่นเรื่องความยอกย้อนระหว่างคำว่า "สิ่ง" กับคำว่า "ภาวะ" การใช้สองคำนี้ปนกันเป็นอุปสรรค์ต่อความเข้าใจของผู้อ่านมากครับ โดยเฉพาะผม ในอีกที่หนึ่งอาจารย์บอกว่า "ในทางฟิสิกส์ไอน์สไตน์ได้พัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพซึ่งเสนอเช่นกันว่า ไม่มีสิ่งที่เป็นแก่น (essence) ของสรรพสิ่งที่ตายตัว สิ่งที่พื้นฐานคือความสัมพัทธ์หรือความสัมพันธ์ (relative) ไอน์สไตน์พยายามพัฒนาความคิดที่จะให้ "สิ่ง" ในโลกธรรมชาติ เช่น มวลสาร ประจุไฟฟ้า แม่เหล็ก ฯลฯ ได้เปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์ทางเรขาคณิตระหว่างจุด เส้นความโค้ง มิติต่าง ๆ ฯลฯ" (หน้า 78) โดยภาพรวมแล้วเมื่อพูดถึงไอน์สไตน์ อาจารย์จะใช้ไอน์สไตน์เป็นสัญญะเชื่อมโยงไปถึงสัมพัทธ์ แล้วคาดเดาต่อเอาเองว่า เอะอะอะไรก็สัมพัทธ์มันไปซะทุกเรื่อง ซึ่งผมหวังว่าเดี๋ยวเราจะมาทำความเข้าใจกันให้ลึกกว่าเดิมสักนิดว่าสัมพัทธ์ที่พูด ๆ กันจนคล่องปากนั้น สัมพัทธ์จริง หรือสัมพัทธ์มายา
ก่อนอื่นขออนุญาตแก้ต่างให้ตัวเองไว้ตรงนี้ว่า การแสดงความเห็นของผมไม่ใช่เพราะ 'ไอน์สไตน์ข้าใครอย่าแตะ' นะฮะ เจตนาผมเรียบง่ายกว่านั้น สมมุติเรามีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อยู่ทฤษฎีหนึ่ง คิดค้นโดยนาย ก. ใครก็ตามเอาทฤษฎีนี้ไปตีความ จะตีความว่าอย่างไรก็ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ของคนที่นำไปตีความ แต่เมื่อไรที่คนที่นำไปตีความ ตีความเสร็จแล้วจับมันยัดกลับเข้าปากนาย ก. โดยบอกว่านาย ก. ตีความ แบบนี้เห็นทีจะรับไม่ได้ ไม่ผิดจากการบิดเบือนความรู้ไปจากความเป็นจริง (ผมไม่ได้หมายถึงความจริงแท้นะครับ เพราะทฤษฎีของนาย ก. อาจจะผิด แต่ผมหมายถึงความจริงที่ว่านาย ก. เองจริง ๆ นั้นคิดเห็นอย่างไรกับทฤษฎีของตัวเอง) ในประเด็นนี้ผมคิดว่าอาจารย์ธีรยุทธกำลังสรุปเรื่องสัมพัทธ์เกินขอบเขตที่ไอน์สไตน์สรุปแล้วล่ะครับ
ลองมาตั้งข้อสังเกตที่ชวนให้สับสนกันก่อนระหว่างคำว่าสัมพัทธ์กับสัมพันธ์ คนที่เคยเรียนฟิสิกส์พื้นฐานมาจะไม่สับสนระหว่างสองคำนี้ สัมพัทธ์ (relativity) เป็นการบ่งชี้ว่ามีการเปรียบเทียบ ปริมาณสัมพัทธ์ หมายถึงปริมาณที่ค่าของมันนั้นเป็นค่าเปรียบเทียบ เมื่อพูดถึงสัมพัทธ์ สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในหัวคือ สัมพัทธ์กับอะไร (หรือกับใคร) ซึ่งในกรณีทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ การเปรียบเทียบนั้นถูกกำหนดโดย 'ผู้วัด' หรือ 'ผู้สังเกตการณ์' ครับ ส่วนคำว่า สัมพันธ์ (relation) หมายถึงมีความเกี่ยวข้องกัน คำถามที่ควรเกิดขึ้นในหัวคือ สัมพันธ์กันแบบไหน ถ้าใครก็ตามเข้าใจตรงนี้จะไม่สับสนสัมพันธ์กับสัมพัทธ์แล้วล่ะครับ ซึ่งเราเห็นได้ชัดว่าจากข้อความที่ยกมาหน้า 78 นั้น อาจารย์ใช้สับสน เช่น จากทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของไอน์สไตน์เราได้ความสัมพันธ์ L = L_0/K เมื่อ K = gamma factor ซึ่ง K > 1 เสมอ เนื่องจาก K > 1 เสมอ ดังนั้น L < L_0 เสมอ สำหรับคุณที่ไม่เคยเรียนฟิสิกส์ไม่ต้องตกอกตกใจครับ L เราเรียกว่าความยาวสัมพัทธ์ (relativistic length) และเรียก L_0 ว่าความยาวนิ่ง (rest length) ลองมาค่อย ๆ พิจารณาความหมายของมันนะครับ ตอนนี้คุณถือไม้บรรทัดยาว 1 ฟุตอยู่ในมือ ถ้าคุณเอาไม้เมตรไปวัดมัน ไม้เมตรก็จะบอกคุณว่าไม้บรรทัดของคุณยาว 1 ฟุต ความยาวของไม้บรรทัดที่อยู่นิ่งเมื่อเทียบกับคุณนี่เราเรียกแทนด้วย L_0 หรือความยาวนิ่ง ไม่ว่าคุณจะนั่งวัดไม้บรรทัดของคุณบนเครื่องบินที่บินด้วยอัตราเร็วคงที่ 500 ก.ม./ช.ม. หรือวัดในยานอวกาศที่เคลื่อนที่ไปยัง K-PAX ด้วยอัตราเร็ว 0.8 เท่าของอัตราเร็วแสง ตราบเท่าที่ไม้บรรทัดนิ่งเมื่อเทียบกับคุณ มันก็ยังคงเป็น L_0 และมีค่าเท่ากับ 1 ฟุตเท่าเดิม คราวนี้ลองจินตนาการว่าอยู่ดี ๆ มีมนุษย์ต่างดาววิ่งด้วยอัตราเร็วคงที่มาชิงไม้บรรทัดของคุณไป สมมติว่าคุณมีวิธีการบางอย่างที่ยังใช้วัดความยาวของไม้บรรทัดอันนั้นได้ทั้ง ๆ ที่มันเคลื่อนที่ไปพร้อมกับมนุษย์ต่างดาวแล้วนะฮะ ถ้าคุณวัดความยาวของไม้บรรทัดอันนั้น ความยาวที่คุณวัดได้เราจะเรียกว่า L หรือความยาวสัมพัทธ์ ซึ่งทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษบอกเราว่า L = L_0/K ทำให้ L < L_0 เท่ากับไอน์สไตน์บอกเราว่า คุณจะวัดความยาวของไม้บรรทัด (ที่ถูกมนุษย์ต่างดาวฉกไป) ได้สั้นกว่าเดิม ถึงตรงนี้ผมขอถามหน่อยครับความว่า "ความยาวสัมพัทธ์" คำว่า "สัมพัทธ์" นี่นะ อะไรสัมพัทธ์? คำตอบคือ "อัตราเร็ว" ของสิ่งที่ถูกวัดกับของผู้วัดครับ โดยที่ความยาว 'สัมพัทธ์' มี 'ความสัมพันธ์' กับความยาวนิ่งตามสมการ L = L_0/K จากตัวอย่างนี้ กรอบคิดของไอน์สไตน์คือมีปริมาณ 'บางอย่าง' ที่ไม่มีค่าสัมบูรณ์ เพราะค่าของปริมาณนั้นขึ้นอยู่กับอัตราเร็วที่สัมพัทธ์กันระหว่างผู้วัดกับสิ่งที่ถูกวัด
แต่ใช่ว่าอะไร ๆ ก็สัมพัทธ์ เพราะไอน์สไตน์เองนั่นแหละครับที่ตั้งสัจพจน์ว่ามีปริมาณที่ไม่แปรเปลี่ยน (invariance) ตามผู้วัด นั่นคือ อัตราเร็วแสงในสุญญากาศ ยังมีอีกหลายค่าที่ไม่แปรเปลี่ยนครับ เช่น ค่าประจุของอิเล็กตรอน หรือแม้แต่มวล (mass) คำว่า "มวล" ตามความคิดของไอน์สไตน์นั้นเป็นปริมาณที่ไม่แปรเปลี่ยน เพราะมวลของไอน์สไตน์นิยามตามมวลของนิวตัน กระทั่งนักวิทยาศาสตร์หันมาเรียกมวลด้วยชื่อใหม่ว่า "มวลนิ่ง" (rest mass) และเรียกประมาณที่แปรเปลี่ยนตามอัตราเร็วที่ล้อกับมวลนิ่งว่ามวลสัมพัทธ์ (relativistic mass) ประเด็นมวลนี้ปลีกย่อยเกินไป และมีหลักฐานที่นิยมอ้างกันคือจดหมายจากไอน์สไตน์ถึงบาร์เน็ท เขียนว่า "มันไม่สมควรที่จะแนะนำความคิดของมวล M = mK ของวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่ในเมื่อเราไม่อาจให้นิยามที่ชัดเจนแก่มันได้ มันจะเป็นการดีกว่าถ้าไม่แนะนำมวลอื่นนอกจาก "มวลนิ่ง" m แทนที่จะแนะนำ M เราพูดถึงมันด้วยโมเมนตัมและพลังงานของวัตถุที่เคลื่อนที่จะดีกว่า"
กลับมาวิเคราะห์ไอน์สไตน์และสัมพัทธ์ที่สับสนกับสัมพันธ์อันเป็นสัญญะอย่างหนึ่งในมายาคติที่อ้างกันอีกนิดก่อนจบ ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์ธีรยุทธ ผมเชื่อว่าเราเห็นผู้รู้หลายท่าน ตำราหลายเล่มที่พออ้างไอน์สไตน์ (ซึ่งแน่นอนว่าคำ ๆ นี้เป็นสัญญะแก่อะไรต่อมิอะไรมากมาย) และทฤษฎีสัมพัทธภาพอันลือลั่น ประกอบกับวาทกรรม 'simply the best' ทฤษฎีสัมพัทธภาพบ่อยครั้งจึงกลายเป็นทฤษฎีสัมพันธภาพไป และทฤษฎีสัมพัทธภาพก็เป็นสัญญะให้กับความสัมพัทธ์หรือสัมพันธ์ที่ถูกตีความว่าไร้แก่นสาร และถูกรวบหัวรวบหางความหมายโดยผู้รู้ย่นย่อลงเหลือเพียง 'ทุกสิ่งสัมพัทธ์' ไม่ว่าทุกสิ่งจะสัมพัทธ์จริง ๆ หรือไม่จริงโดยแก่นแท้ (ถ้ามี) นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพื่อเห็นแก่ไอน์สไตน์และนักศึกษาที่ตั้งใจมาเล่าเรียน ลองมาชะล้างมายาคติทุกสิ่งสัมพัทธ์จากทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์กันดีมั้ยครับ แล้วเปลี่ยนเป็น 'การวัดปริมาณทางฟิสิกส์บางสิ่งสัมพัทธ์ บางสิ่งก็ไม่สัมพัทธ์'