ฉันเยาว์ จำได้ว่า ตอนเด็กเคยอ่านนิทานอีสปเรื่องลมเหนือกับพระอาทิตย์ (The North Wind and the Sun) ลมเหนือกับพระอาทิตย์เถียงกันว่าใครแข็งแกร่งกว่ากัน ก็เลยตัดสินด้วยการแข่งขันอย่างนี้ ใครทำให้ผ้าคลุมของชายที่กำลังเดินทางคนนั้นหลุดได้ ฝ่ายนั้นชนะ ลมเหนือเริ่มก่อน เธอออกแรงมหาศาล เป่าลมกระหน่ำ ปรากฎว่ายิ่งทำอย่างนั้น ชายนักเดินทางก็ยิ่งยึดจับผ้าคลุมแน่น เป่าอย่างไรก็ไม่หลุด ต่อมาถึงทีพระอาทิตย์บ้าง พระอาทิตย์ก็แค่ฉายแสง ชายนักเดินทางร้อน จึงถอดผ้าคลุมออกมาเอง พระอาทิตย์เป็นฝ่ายชนะ

ฉันสงสัย ทั้งคู่โต้เถียงกันว่าใครแข็งแกร่งกว่ากัน แต่วิธีการวัดการตัดสินนั้น ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าใครแข็งแกร่งกว่ากัน การทำให้เสื้อคลุมหลุดอาจจะวัดถึงความแข็งแกร่งก็ได้ หรือไม่วัดถึงความแข็งแกร่งก็ได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นอยู่อีก เช่น ถ้าเสื้อคลุมนั้นเป็นเสื้อคลุมที่ตากอยู่บนราวตากผ้า พระอาทิตย์ฉายแสงไปอีกห้าพันล้านปีจนกลายเป็นดาวแคระขาว ดาวแคระดำ ผ้าคลุมก็ไม่หลุด (ถ้ายังเหลือผ้าคลุมอยู่นะ) แต่ลมเป่าแรงระดับหนึ่งก็หลุด ในเวทีการแข่งขันครั้งนี้จึงเจือด้วยอคติ ความลำเอียง วิธีวัดไม่ได้ให้คำตอบต่อปริมาณหรือคำถามที่เราต้องการทราบที่แท้จริง นิทานเรื่องนี้นอกจากจะหลอกเด็กให้เห็นถึงชัยชนะของความอ่อนโยน ยังสอนให้คนเรายอมรับวิธีการ (มาตรฐาน) ที่ดูผิวเผินเหมือนยุติธรรม แต่แท้ที่จริงแล้วลำเอียงด้วยรึเปล่านะ
เมื่อฉันเรียนวิทยาศาสตร์
จุดกำเนิดของลมหรือพลังงานลม ก็มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นผิวโลกที่ประกอบด้วยวัสดุหลากหลายมีความจุความร้อนไม่เท่า ทำให้อุณหภูมิไม่เท่ากัน ความกดอากาศไม่เท่ากัน ทำให้อากาศเคลื่อนที่มีทิศทาง นั่นแหละลม