
หนังสือเปิดฉากด้วยการตายของ ด.ช. กัปตัน บุญมานุช วัย 6 ขวบที่ จ. กาญจนบุรี เมื่อปี 2003 จากการที่ไปอุ้มไก่ป่วยกลับบ้าน การตายของกัปตันเป็นการตายรายแรกในประเทศไทยจาก H5N1 หรือไข้หวัดนก (อันที่จริงไวรัสไข้หวัดทุกสายพันธุ์ที่ติดมนุษย์ ไม่ว่าเราจะติดมาจากสัตว์อะไร ก็ล้วนมีจุดกำเนิดมาจากนกทั้งนั้น) ผู้เขียนเปิดเรื่องนี้ขึ้นมา บอกว่าคนที่ติด H5N1 นั้นมีโอกาสตายถึง 60% ถ้ามันระบาดแบบเดียวกับ H1N1 เมื่อปี 1918 ละก็ หายนะแน่ ๆ เพราะขณะที่ H1N1 มี fatality rate มากสุดก็แค่ 20% (บางสำนักประมาณว่าต่ำกว่า 2.5% แต่ผู้ป่วยตายด้วยติดเชื้ออื่นซ้ำซ้อน, ส่วนสายพันธุ์ 2009 มี fatality rate อยู่ที่ 1%) ก็ฆ่าคนตายไปมากกว่าจำนวนคนที่ตายจากสงครามในศตวรรษที่ยี่สิบรวมกันทั้งหมดเสียอีก นี่คือจุดตั้งต้นประเด็นของหนังสือเล่มนี้ The Viral Storm ผู้เขียน Nathan Wolfe พาเราสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับ pandemics ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากที่ไหน ทำไมจึงเกิดขึ้น และเราจะหาทางยับยั้งป้องกันก่อนที่มันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ โปรเฟสเซอร์ Wolfe พาเราเดินทางย้อนกลับไปไกลถึงแปดล้านปีก่อน สมัยที่บรรพบุรุษร่วมของเรา กับ bonobo และ chimpanzee เริ่มล่าสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร (แกบอกว่าเราไม่พบพฤติกรรมอันนี้ใน gorilla) ซึ่งการล่าสัตว์นี่เอง ทำให้บรรพบุรุษร่วมสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง ทำให้เชื้อโรคที่มีความสามารถในการกลายพันธุ์ (และตัดต่อพันธุ์) รวดเร็วสามารถปรับตัวเข้ามาอยู่ใน host ใหม่ได้ ฉะนั้นเวทีเลือดเหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นดูโลกของเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ ตัวอย่างหนึ่งคือ HIV ซึ่งข้ามพันธุ์มาจาก SIV ของ chimpanzee และ SIV ของ chimpanzee นี้จะเกิดขึ้นมิได้เลย หากมันไม่สืบทอดพฤติกรรมล่าสัตว์ และล่าลิงสองสายพันธุ์ (red-capped mangabey กับ spot-nosed guenon) กินเป็นอาหาร ลิงทั้งสองสายพันธุ์ต่างมี SIV คนละสายพันธุ์เป็นของตัวเอง แต่ด้วยเวทีเลือดจากการล่า ทั้งสองสายพันธุ์ตัดต่อรวมกันเป็น SIV ใหม่ที่อาศัยอยู่ใน chimpanzee, นอกจากจะพาย้อนอดีต โปรเฟสเซอร์ Wolfe ยังพาไปเยี่ยมชม site วิจัยในป่าทวีปต่าง ๆ ทั้งอัฟริกาและเอเชีย อีกยังชี้ให้เห็นถึงโลกยุคใหม่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ การคมนาคม การแพทย์ การก่อการร้าย และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่เอื้ออำนวยต่อการให้กำเนิดและแพร่ระบาดเชื้อโรค ในภาคสุดท้ายของหนังสือ พูดถึงความเป็นไปได้ที่จะทำนายและยับยั้งโดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่มี เช่น การตรวจสอบความเคลื่อนไหวของนายพรานที่อาจพาเชื้อโรคซึ่งฝากไว้ที่ primate ตัวอื่นกลับมาสู่เมือง เชื้อโรคหลายตัวได้ตายไปจากบรรพบุรุษของคนในช่วง population bottlenecks ที่บรรพบุรุษของคนทิ้งถิ่นฐานป่าฝนออกมาสู่ทุ่งหญ้า แต่เชื้อโรคเหล่านั้นยังอาศัยอยู่ในญาติใกล้ชิดของเราในป่า และไม่ลำบากใจเท่าไรที่จะกลับมาอยู่ในคน นอกจากนี้รูปแบบการโทรศัพท์ การทวิต การเสิร์ชหาข้อมูลผ่าน google ก็เป็นตัวบ่งชี้การระบาดได้เช่นกันครับ และสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการยับยั้งได้ด้วย ไม่ใช่ไวรัสทุกตัวจะเป็นศัตรู ไวรัสที่เป็นมิตรและช่วยเหลือเราก็มี เช่น บทความตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine 2004 บอกว่า ผู้ป่วยชายที่ติดเชื้อ HIV จะมีอายุยืนกว่าถ้าเขาติด GB virus C ด้วย แต่ GB virus C ไปทำอะไรกับ HIV นั้นยังไม่กระจ่างชัด ผู้เขียนใช้พื้นที่บทหนึ่งให้กับการอภิปรายในเรื่องนี้ โดยภาพรวม หนังสือเขียนเล่าประสบการณ์ของผู้เขียนจากการทำงานภาคสนาม ประกอบกับการให้ความรู้ ความเข้าใจ และเสนอความคิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะความคิดที่ว่าจะยับยั้ง pandemics ก่อนเกิด pandemics ได้อย่างน่าติดตาม