top of page

Cracking the Einstein Code


ในงาน Texas Symposium ที่ Dallas ปี 63 นักคณิตศาสตร์หนุ่มชาวนิวซีแลนด์ Roy Kerr ผู้ซึ่งขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก ได้พูดผลงานเกี่ยวกับผลเฉลยชุดสมการสนามสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ที่เขาหาคำตอบได้สำเร็จ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที และไม่มีผู้ใดสนใจรับฟัง จนทำให้นักทฤษฎีสัมพัทธภาพแนวหน้าคนหนึ่งแห่งยุค Achilles Papapetrou อดรนทนไม่ไหวต้องลุกขึ้นบอกกับผู้ฟังคนอื่น ๆ ว่าสิ่งที่ Kerr ค้นพบนั้นเขาและผู้ร่วมงานค้นหาอย่างล้มเหลวมากว่าสามสิบปี ต่อมาเรารู้ว่านั่นคือคำบรรยายที่สมบูรณ์ของ spinning black hole หนังสือ Cracking the Einstein Code ของ Fulvio Melia ศาสตราจารย์ฟิสิกส์และดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนาเล่มนี้ เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงยุคทองของสัมพัทธภาพซึ่งกินเวลาตั้งแต่ปี 1960 ถึง 75 หลังจากไอน์สไตน์ตายไปแล้ว คำว่าโค้ดของไอน์สไตน์ในชื่อหนังสือหมายถึงสมการ 6 สมการที่เมื่อแก้ออกมาจะบ่งบอกบรรยายรูปทรงของกาลและอวกาศ ถึงแม้ Schwarzchild เป็นคนแรกที่ถอดโค้ดได้ภายในไม่กี่เดือน แต่วัตถุของชวาซชิลด์ก็ดูเป็นอุดมคติเกินไป Melia บอกว่า "holy grail ของสัมพัทธภาพ" คือ คำบรรยายกาลอวกาศรอบวัตถุที่หมุน ซึ่งต้องรออีกเกือบครึ่งศตวรรษกว่า Kerr จะค้นพบผลเฉลยดังกล่าว บรรยากาศความพยายามของบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์รุ่นใหม่ไฟแรงในยุคนั้นนั่นแหละครับคือสาระหลักที่หนังสือเล่มนี้นำเสนอ ควบคู่ไปกับความหมายและคำอธิบายพื้นฐานของสัมพัทธภาพและหลุมดำ Melia เล่าที่มาของหนังสือไว้ในบทนำว่า เริ่มจากคำเชิญให้ไปร่วมงานวันเกิดปีที่ 70 ของ Kerr และรู้สึกว่าเรื่องราวของ Kerr ไม่ค่อยถูกกล่าวขานถึงมากนักในแง่บุคคล ทำให้เขาอยากบอกเล่าออกมา ในหลายบท Kerr อาจจะเป็นพระเอกหลัก แต่ Melia ก็เก็บบรรยากาศเรื่องราวยุคทองของสัมพัทธภาพเอาไว้อย่างครบครัน ทั้งอิทธิพลทางความคิดที่ Kerr ได้รับ อิทธิพลจากความคิดของ Kerr ที่คนอื่นได้รับ และโศกนาฏกรรมเกี่ยวเนื่อง (เช่น ตอน Boyer ถูกฆ่าเพราะนักศึกษา Whitman ผู้เจ็บป่วยจากเนื้องอกในสมองส่วนไฮโปทาลามัสทำให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ลุกขึ้นมายิงคนเล่น) ใครสนใจเหตุการณ์ช่วงดังกล่าวก็ขอแนะนำ ภาพประกอบหาดูยากก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมชอบหนังสือเล่มนี้ครับ


bottom of page