Einstein: His Life and Universe

เท่าที่เคยอ่านมานะฮะ เล่มนี้เป็นหนังสือชีวประวัติและผลงานของไอน์สไตน์ที่สมบูรณ์มากเล่มหนึ่ง Isaacson ค้นคว้าทำการบ้านได้อย่างยอดเยี่ยม จากการไล่อ่านโน้ตในแต่ละบทแล้วเห็นได้เลยถึงพลังทุ่มเทของผู้เขียน ใครที่ต้องการรู้ประวัติและความคิดของไอน์สไตน์ รวมถึงทฤษฎีในปีมหัศจรรย์และความหมกมุ่นครึ่งหลังในการตามหาทฤษฎีรวมแบบพอหอมปากหอมคอ สมควรอ่านอย่างยิ่ง ผมไม่มองว่าการนำเสนอผลงานภาคทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างหลวมในบางประเด็นเป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้นะ โควตต่าง ๆ ที่คุณเห็นเพื่อน ๆ แชร์กันตามเฟสบุ๊กจะโลดแล่นเคียงคู่ไปกับบริบทซึ่งช่วยให้เราเข้าใจความหมายแท้จริงของโควตเหล่านั้น นอกจากนี้ หลักฐานหลายชิ้นยังชี้ให้เห็นความรู้ผิด ๆ ของคนส่วนใหญ่ที่ถ่ายทอดกันมาในลักษณะเรื่องเล่าเอาฮา โดยเฉพาะพุทธศาสนานิกายไอน์สไตน์ (ซึ่งแน่นอนว่า ไอน์สไตน์แบบปลอม ๆ) ที่แพร่หลายในบ้านเรา แก่นปรัชญาของไอน์สไตน์กับพุทธนี่คนละเรื่องกันเลยนะครับ สวนทางกันอย่างชัดเจน ไอน์สไตน์ปฏิเสธ freewill ถึงขั้นสุดโต่ง ทุกอย่างถูกกำหนดมา ทั้งหมดเป็น determinism การเลือกจึงเป็นเพียงภาพมายา (ถ้านิพพานมี คุณจะนิพพานได้เมื่อคุณถูกกำหนดให้นิพพาน แบบนี้เป็นพุทธไหมล่ะ?) ไอน์สไตน์เชื่อในพระเจ้า ในฐานะกฎที่ควบคุมสรรพสิ่ง และยึดถือหลัก causality หรือความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลอย่างเหนียวแน่น ถึงขั้นปฏิเสธควอนตัมในฐานะความจริงของธรรมชาติ (แต่ก็ยอมรับในฐานะปรากฏการณ์) ทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะก็เป็นการพูดถึงการมีอยู่ของสิ่งสัมบูรณ์ ตรงข้ามกับข้ออ้างแบบมั่ว ๆ ของนักวิชาการสายสังคมบางคนที่เข้าใจแบบผิด ๆ ว่านี่คือความคิดของกลุ่มสัมพัทธนิยม ฯลฯ Isaacson เขียนเรื่องราวได้อย่างมีชีวิตชีวา บางตอนก็ดราม่ายังกับนิยายเกาหลี เช่น ทะเลาะกับพ่อแม่เพราะหลงรักแฟนหัวปักหัวปำ ครั้นพอแก่ตัวเป็นพ่อคน ก็ทะเลาะกับลูกเพราะลูกหลงแฟนเหมือนกัน ไอน์สไตน์มีกิ๊กเยอะมาก บางตอนก็เป็นการเมืองเข้มข้น ต่อต้านนาซีเอย เสนอให้ก่อตั้งรัฐบาลโลกเอย บางตอนก็เป็นการถกเถียงทางวิชาการมัน ๆ แม้แต่ตอนตายแล้วยังมีเรื่องสนุก ๆ เกี่ยวกับการขโมยสมองโดยหมอชันสูตรศพ พูดได้ว่ารอบด้านครับ
ข้อความต่อจากนี้เป็นเหตุการณ์ไม่ต่อเนื่อง ที่ผมทะยอยเล่าบน facebook ระหว่างแปลหนังสือเล่มนี้
2555.5.27
ระหว่างแปลหนังสือ มาหยุดวอกแวกตรงชื่อ Prolegomena ของ Kant เข้าใจว่าหมายถึง Prolegomena to Any Future Metaphysics ซึ่งตีพิมพ์หลัง Critique of Pure Reason สองปี หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ไอน์สไตน์พกติดตัวไปนอนอ่านอาบแดดริมชายหาดที่รีสอร์ตซึ่งเคยเป็นย่านหมู่บ้านชาวประมงเก่าชื่อ Aarenshoop (ผมเข้าใจว่าเป็นชื่อเดียวกับ Ahrenshoop) ทะเลบอลติก ช่วงพักผ่อนฤดูร้อนปี 1918 กับเอลซา
คำว่า prolegomena คำนี้ก็เปิดดิกบางเล่มไม่เจอ ใน CALD3 กับ OALD8 ไม่เก็บไว้, OALD8 มี hapax legomenon (คำหรือวลีที่มีบันทึกว่ามีการใช้แค่ครั้งเดียว, คำว่า hapax, ἅπαξ ภาษากรีกแปลว่า ครั้งเดียว) เจอตอนเปิดดิกของเพนกวิน prolegomenon คือบทนำสำหรับงานศึกษา, prolegomenon มาจากรากศัพท์ภาษากรีก prolegein หมายถึง to say beforehand คำว่า legein (λέγω) คือ to speak

2555.5.27
ที่วางอยู่ข้างล่างคืองาน (หมายถึงต้นฉบับภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้) ข้างบนคือเครื่องกีดขวาง (หมายถึงหนังสือชื่อ Ai Weiwei Speaks with Hans Ulrich Obrist): หลายวันก่อนเห็นรูป Ai Weiwie โยนแจกันจาก facebook ของเพื่อนคนหนึ่ง หลังจากนั้นเจอหนังสือเล่มนี้ในร้าน อ่านประวัติโดยย่อในคำนำของ ฮันส์ อูลริช โอบริสท์ (ประกอบกับภาพหลายภาพในเล่ม) เขาเป็นบุคคลที่ชวนขนลุกใช้ได้ทีเดียว พ่อเป็นกวีมีชื่อ เรียนวาดรูปกับศิลปินที่ถูกต่อต้านผู้เป็นเพื่อนกับพ่อ ตอนมาอเมริกาก็เป็นเพื่อนกับ Allen Ginsberg กลับจีนก็สร้างบ้านสตูดิโอจากแรงบันดาลใจของวิทเก้นชไตน์ เรียบง่าย งดงาม ร่วมออกแบบรังนกของจีนโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 กับ Herzog และ de Meuron บริษัท sina.com ขอให้เขียนเว็บบล็อก มียอดผู้ชมบล็อกของเขาถึงวันละหนึ่งแสนคน กระทั่งถูกรัฐบาลสั่งปิดในปี 2009 พอถึงปี 2011 สำนักพิมพ์แห่ง MIT ก็แปลและตีพิมพ์บล็อกของแกออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ในสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง เขาว่า "จริง ๆ แล้วพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริง (reality) และถ้าเราไม่ตระหนักในความจริงข้อนี้ เราก็ขาดความรับผิดชอบโดยสมบูรณ์"

2555.5.25
กลายเป็นว่าคำที่แปลแล้วใช้เวลานานกว่าที่ควรจะเป็นในหนังสือชีวประวัติคือคำจำพวก sister, brother, uncle ฯลฯ โดยเฉพาะเมื่อบรรยายตัวละครที่ไม่กล่าวถึงมากนัก เช่น "เอลซาเป็นคนโลภมาก" มาริชกล่าวหา "Her two sisters are very rich, และเธออิจฉาพี่น้องทั้งสองอยู่เสมอ" คุณต้องตามไปค้นหามาว่าเจ๊เอลซาแกเป็นลูกคนที่เท่าไร พี่สาวสองคนของเธอรวยมาก หรือ น้องสาวของเธอสองคนรวยมาก หรือ พี่สาวน้องสาวทั้งสองคนของเธอรวยมาก (กรณีนี้ แกมีพี่สาวชื่อแฮร์มีนาและน้องสาวชื่อเพาลา)
2555.6.22
ไอน์สไตน์ว่า "ผมไม่เชื่อเรื่องเจตจำนงเสรีในความหมายทางปรัชญาเลย มนุษย์ทุกคนนอกจากจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ภายใต้ภาวะบีบบังคับภายนอกแล้ว ยังกระทำตามความจำเป็นภายในอีกด้วย คำกล่าวของโชเพนเฮาเออร์ที่ว่า มนุษย์สามารถทำตามความปรารถนาของตนเอง แต่ไม่อาจปรารถนาได้ดังที่เขาปรารถนา นั้น เป็นแรงบันดาลใจแท้จริงสำหรับผมตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก คำพูดนี้ช่วยปลอบประโลมทุกครั้งที่เจอเรื่องหนักหนาสาหัสในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องของคนอื่น อีกทั้งยังเป็นต้นน้ำที่ไม่มีวันเหือดแห้งของความอดทนอดกลั้น"
อ่านมาถึงมุมมองที่เป็น deterministic ของไอน์สไตน์ซึ่งเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างถูกกำหนดไว้ล่วงหน้า มีตอนหนึ่งแกบอก "ผมรู้ว่าในทางปรัชญา ฆาตกรไม่ต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ตัวเองก่อ แต่ผมก็ขอเลือกที่จะไม่ดื่มชาร่วมกับเขา" อดสงสัยไม่ได้นะฮะ ถ้าการกระทำถูกกำหนดมาล่วงหน้าจริง แกจะเลือก (prefer) ได้ยังไง เว้นแต่จะถูกกำหนดมาให้เลือกหรือชอบที่จะไม่ดื่มชาร่วมกับฆาตกร ทีนี้ ถ้าสิ่งที่เลือกหรือชอบเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมา ประโยคครึ่งหลังก็ไม่มีความหมาย อย่างน้อยก็บอกไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จจนกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น เป็นเพียงการตั้งความหวังว่า ขอให้ฉันถูกกำหนดมาให้เลือกที่จะไม่ดื่มชาร่วมกับเขา
2555.6.23
ช่วงที่ไอน์สไตน์สนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ แกขัดแย้งกับพวกกลืนกลาย (assimilationist) คราวหนึ่งกลุ่มพลเมืองเยอรมันแห่งศรัทธาแบบยิวเชิญให้ไปพูด นอกจากจะกล่าวหาคนกลุ่มนี้ว่ากำลังแบ่งแยกตัวเองออกจากยิวยุโรปตะวันออกที่ยากจนกว่าหรือมีความเนี้ยบน้อยกว่าแล้ว ยังด่าด้วยว่า "Can the 'Aryan' respect such pussyfooters?"
2555.7.3
ตอนนักข่าวถามไอน์สไตน์ว่ามีแค่ 12 คนที่เข้าใจทฤษฎีสัมพัทธภาพจริงหรือไม่ ไอน์สไตน์ตอบว่าไม่ และพยายามอธิบายทฤษฎีแก่นักข่าวคนนั้น โดยการเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตสองมิติที่เคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวสองมิติซึ่งโค้งเป็นทรงกลม เสร็จแล้วนักข่าวก็กลับมาเขียนถึงความงุนงงของตัวเองซะหรู แต่เปลี่ยนเป็นสไตล์การเขียนผ่านมุมมองของบุคคลที่สาม
"When the reporter came to he was vainly trying to light a three-dimensional cigarette with a three-dimensional match" นี่เป็นบทสรุปของเรื่อง "It began to trickle into his brain that the two-dimensional organism referred to was himself, and far from being the 13th Great Mind to comprehend the theory he was condemned henceforth to be one of the Vast Majority who live on Main Street and ride in Fords."
คารวะสำนวนนักหนังสือพิมพ์ชิคาโกสามจอก
2555.7.4
ตอนที่ Rathenau ถูกลอบสังหารในฐานะชาวยิวผู้สนับสนุนสนธิสัญญาแวร์ซายและเจรจาสนธิสัญญาราปาลโล (เขาเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ) ชาวเยอรมันส่วนใหญ่เศร้าโศกเสียใจ แต่ก็ใช่ว่าจะทุกคน ฮิตเลอร์เรียกฆาตกรที่กราดกระสุนปืนกลพร้อมระเบิดมือใส่รถของ Rathenau ว่าฮีโร่ ทางด้านนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลคู่อาฆาตของไอน์สไตน์ชื่อเลนาร์ดก็ท้าทายความเศร้าด้วยการเปิดสอนตามปกติ (มหาวิทยาลัยปิดในวันพิธีฝังศพ) จนทำให้เขาถูกคนงานเดือดดาลลากตัวออกจากชั้นและเตรียมจับโยนลงแม่น้ำเน็กคาร์ ตำรวจเข้ามาห้ามไว้ทัน
2555.7.4
“ตอนที่สามีของฉันทำอะไรฝ่าฝืนธรรมเนียมปฏิบัติ คนก็จะพูดกันว่าเพราะเขาเป็นอัจฉริยะ” เอลซาตัดพ้อ “กระนั้นพอทีฉันบ้าง กลับกลายเป็นไร้วัฒนธรรมไป” อ่านแล้วทั้งขำ ทั้งเห็นใจนะครับ วันนั้นทั้งคู่ไปเยี่ยมข้าหลวงใหญ่อังกฤษ Sir Herbert Samuel ด้วยความประหยัดหรือไรไม่ทราบ ไอน์สไตน์ยืนกรานจะนั่งรถไฟชั้นประหยัด (ทั้ง ๆ ที่เขาจัดตู้นอนชั้น 1 อย่างดีไว้ให้แล้ว) พอไปถึงด้วยความที่เธอเหนื่อยจัดและประสาทเสียกับพิธีรีตองแบบอังกฤษ จึงหนีไปนอนตั้งแต่หัววัน
2555.7.19
ในจดหมายถึง Louis de Broglie ฉบับหนึ่งไอน์สไตน์พูดเปรียบเทียบกับนกกระจอกเทศไว้น่ารักเชียวครับ "ผมคงดูเหมือนนกกระจอกเทศที่ฝังหัวตัวเองลงในทรายแห่งทฤษฎีสัมพัทธภาพตลอดกาล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับปิศาจควอนตัม"
2555.7.20
ตาย ๆ แปลไปแปลมาน้ำตาคลอ; วันที่ไอน์สไตน์ล้มในห้องน้ำ คืนนั้นหมอฉีดมอร์ฟีนให้เขาหลับ ส่วนดูคาสก็มานอนข้าง ๆ คอยวางน้ำแข็งบนริมฝีปากที่แห้งผาก เส้นเลือดโป่งพองเริ่มแตก วันรุ่งขึ้นคณะแพทย์มาประชุมกันที่บ้าน หารือชั่วครู่ แนะนำศัลยแพทย์คนหนึ่งที่อาจผ่าตัดไอ้เส้นเลือดเอออร์ตาได้ แต่โอกาสก็น้อย ไอน์สไตน์ปฏิเสธครับ “เป็นเรื่องไร้รสนิยมที่จะยืดชีวิตแบบปลอม ๆ” เขาบอกกับดูคาส “ผมได้ทำส่วนของตัวเองเสร็จสิ้นแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องไป และผมก็จะไปอย่างสง่างาม”
2555.7.21

หลังจากไอน์สไตน์เสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมง เช้าวันนั้น ในชั้นเรียนของนักเรียนเกรดห้าโรงเรียนพรินซ์ตัน คุณครูถามว่า เด็ก ๆ ได้ข่าวอะไรกันบ้างมั้ยคะ นักเรียนหญิงคนหนึ่งกระวีกระวาดรีบยกมือตอบกลัวเพื่อนแย่ง "ไอน์สไตน์ตายแล้วค่ะ" กระหยิ่มได้ชั่วครู่ก็ถึงกับกริบ ด้วยนักเรียนชายหลังห้องซึ่งปกติเป็นคนไม่ค่อยพูดค่อยจาข่มทับว่า "พ่อของผมเก็บสมองของเค้าไว้ด้วยฮะ" เป็นไงล่ะ เจอลูกชายของ โทมัส ฮาร์วีย์ เข้าไป อันที่จริงตอนผ่าศพไอน์สไตน์ ฮาร์วีย์แอบเก็บสมองเอาไว้เองโดยพลการ ตอนหลังพอครอบครัวรู้ก็เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา แกอ้างว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ ไอน์สไตน์เห็นด้วย เชื่อเหอะ [หลังจากเขียนลง facebook มีเพื่อนเข้ามาบอกว่า "เคยได้ยินมาเหมือนกันค่ะ แต่สุดท้ายเค้าก็คืนให้โดยทำเรื่องขอโทษด้วยค่ะ"] [ผมตอบ] ฮาร์วีย์เป็นผู้พิทักษ์สมองของไอน์สไตน์อยู่ถึง 43 ปีครับ ระหว่างนั้นก็สไลด์แจกจ่ายให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษา ซึ่งมีบทความวิชาการตีพิมพ์จากการศึกษาแค่ 3 เรื่อง ญาติของไอน์สไตน์คนแรก ๆ ที่ได้รับการติดต่อเป็นรุ่นหลาน (ลูกเลี้ยงของลูกชาย) ซึ่งสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นลูกของไอน์สไตน์ จึงจะตรวจสอบดีเอ็นเอกับดีเอ็นเอสมองของไอน์สไตน์ แต่ก็ทำไม่ได้ทางเทคนิค เป็นผลจากการดองของฮาร์วีย์เอง ตอนฮาร์วีย์ส่งมอบภารกิจพิทักษ์สมองที่เป็นเศษ ๆ ส่วนที่เหลือ แกก็ไม่ได้คืนญาตินะครับ แต่ส่งให้กับ pathologist ที่ รพ. พรินซ์ตัน อีกคน ผมเข้าใจว่าตอนนี้ก็ยังอยู่ที่ รพ. พรินซ์ตันนั่นแหละ
2555.7.26
ประติมากรคือ Robert Berks (คนเดียวกับที่ปั้นหัวของ Kennedy ที่ Kennedy Center) ส่วน James Van Sweden เป็นผู้ออกแบบภูมิทัศน์ บนสมุดฉีดที่ไอน์สไตน์ถือในมือมีสมการ 3 สมการ อธิบายทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป, ปรากฏการณ์โฟโตอิเล็กทริก และที่ขาดไม่ได้ E = mc^2 นอกจากนี้ บนขั้นบันไดหินอ่อนที่ไอน์สไตน์นั่งพิงมีคำพูด 3 ประโยค หนึ่งในนั้นคือ “ตราบเท่าที่ผมมีทางเลือกใดก็ตามในเรื่องนี้ ผมจะอยู่เฉพาะในประเทศที่เสรีภาพของพลเมือง การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และความเสมอภาคของประชาชนทุกคนมาก่อนกฎหมายเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับกันโดยทั่วไป”
เอ่อ ... นอกจากสมองของไอน์สไตน์จะถูกฮาร์วีย์จกไปแจกจ่ายให้บรรดานักวิทยาศาสตร์แล้วนะครับ ดวงตาของไอน์สไตน์ยังถูกจักษุแพทย์ของตัวเอง เฮ็นรี เอบรัมส์ ผู้ซึ่งบังเอิ๊ญบังเอิญเดินเข้าไปในห้องชันสูตรพอดีหยิบติดมือไปอีกด้วย แกเอาไปเก็บไว้ที่ตู้นิรภัยในนิวเจอร์ซีย์, foxnews เคยรายงานว่าตาเอบรัมส์บอก "ตอนที่คุณจ้องมองเข้าไปในดวงตาของเขานะ คุณกำลังมองเข้าไปในความงามและความลี้ลับของโลก" และจัดให้ดวงตาของไอน์สไตน์เป็น 1 ใน 10 อวัยวะคนดังที่ประเมินค่ามิได้ โดยจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 ส่วนอันดับ 1 คือ จู๋ของนโปเลียน โบนาปาร์ต (แม้มันจะหดและเหี่ยว แต่ความยาวปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 นิ้ว ราคาเสนอซื้อ 100,000 USD ถูกบอกปัดนะจ้า) ในลิสต์นี้มีอย่างหนึ่งที่ผมว้าว ลมหายใจสุดท้ายของเอดิสันครับ ลูกชายของแกเป็นคนเก็บใส่หลอดทดลองในปี 1931 ตามคำขอของ เฮ็นรี ฟอร์ด เพราะเชื่อว่าจิตวิญญาณของเอดิสันอยู่ในลมหายใจสุดท้ายนี้
ไอน์สไตน์: ชีวประวัติและจักรวาล (ฉบับสมบูรณ์)

ฉบับแปลภาษาไทยจาก Einstein: His Life and Universe คณะแปลนำทีมโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ร่วมกับ พี่หมู ธวัชชัย ดุลยสุจริต อาจารย์ต่าย เยาวลักษณ์ ภูอภิรมย์ และศล ผมไม่ค่อยชอบคำนิยมของคุณ ว. วชิรเมธี เลย เพราะเขาไม่ได้เขียนนิยมหนังสือของไอแซคสัน แต่เขียนขึ้นตามความเข้าใจของตัวเอง เช่น คุณ ว. ว่า "สิ่งที่ผู้เขียนใคร่จะกล่าวถึงในที่นี้มีเพียงประเด็นเดียวคือ สภาพแวดล้อมที่ทำให้ไอน์สไตน์สามารถคิดทฤษฎีสำคัญๆ ระดับโลกขึ้นมาได้ นั่นก็คือ การมีวิถีชีวิตที่สันโดษ ง่าย งามธรรมดาอย่างยิ่ง" มี 3 ประเด็นที่ผมอยากชี้ให้ดูเล่ห์ของข้อความนี้ (1.) การวิเคราะห์ของ ว. กับของไอแซคสันไม่ตรงกัน การวิเคราะห์ของไอแซคสันกรณีปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมสู่การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ คุณอ่านได้ที่หน้า 135 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับโควตนี้ของ ว. ดูอีกครั้ง (2.) หลังจากคุณอ่านจบเล่มแล้ว ขอให้ตอบคำถามว่า ไอน์สไตน์มีวิถีชีวิตที่สันโดษจริงหรือ? สันโดษคืออะไร? สันโดษคือความยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ ผมมั่นใจว่า ใครก็ตามที่อ่านจบจะพบว่าในด้านสันโดษนี้ เขาก็เหมือนกับเรา ๆ นี่แหละครับ คือสันโดษบางเรื่อง ไม่สันโดษบางเรื่อง (3.) หลุมพรางของการโยงความดีให้เป็นเหตุไปสู่ความสำเร็จที่เป็นผล เมื่อว่ากันตามตรงแล้วเราไม่มีหลักฐานว่าผลดังกล่าวเกิดจากความดีนั้น ๆ หรือกระทั่งว่าความดีนั้น ๆ เป็นเหตุของผลดังกล่าว ผมกำลังบอกว่า ถ้าสันโดษ ง่าย และงามธรรมดาอย่างยิ่งเป็นเหตุที่เพียงพอให้คิดทฤษฎีสำคัญ ๆ ได้แล้วไซร้ เรามีทฤษฎีสำคัญ ๆ เพียบแน่ เพราะประชากรบนโลกส่วนใหญ่โดยค่าเฉลี่ยแล้วนั้นสันโดษ ง่าย และธรรมดาอย่างยิ่ง ผมพนันว่า คุณสามารถนึกถึงเพื่อนที่สันโดษ ง่าย และงามธรรมดาอย่างยิ่งได้หลายคนแน่ ๆ นึกออกกันใช่มั้ยครับ ยังมีอีกตอน คุณ ว. ว่าไอน์สไตน์ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ประเภทปิดหูปิดตา (หน้า x) อันนี้แกมองไอน์สไตน์วิเศษไป คนก็คือคนนะครับ ยังไงตัวเองก็ต้องปิดหูปิดตาในบางเรื่องอยู่ดี เรื่องการเมือง ไอน์สไตน์ไร้เดียงสามาก เรื่องควอนตัม ไอน์สไตน์ปิดหูปิดตาถึงขั้นเปรียบเทียบตัวเองกับนกกระจอกเทศที่มุดหัวอยู่ในทรายเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับปิศาจควอนตัม ดังจดหมายถึง de Broglie ด้วยคำนิยมที่แกเขียน ตอนนี้ ผมไม่เชื่อว่าคุณ ว. อ่านไอน์สไตน์ของไอแซคสันจนจบเล่ม