
ดูชื่อรอง adventures in the queer east กับสีปกเหลืองสดใสรับตัวอักษรสีแดง เราก็คิดว่าเป็นแนว sex trip หน้าสารบัญมีชื่อ 7 ประเทศ อินโดนีเซีย ไทย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย พม่า อินเดีย ก็ดูน่าสนใจ บทแรกพูดถึงโรงแรมที่แขกสามารถแก้ผ้าเดินไปเดินมากับย่าน cruising ในบาหลี คงใช่ล่ะ แต่เซ็กส์แฟนซีที่แอบคาดหวังจบลงแค่นั้นแหละครับ ถึงแม้ Law จะเขียนด้วยสไตล์และสำนวนสนุกสนาน อ่านไปอมยิ้มไป แต่ประเด็นที่เขาสัมภาษณ์และเก็บข้อมูลมาเล่า ล้วนเป็นเรื่องเครียดจริงจัง พูดถึงการประกวดทิฟฟานี่และผ่าตัดแปลงเพศ สภาพกดดันทางวัฒนธรรมในไทย การแต่งงานหลอกพ่อแม่ สร้างครอบครัวปลอมของคู่เกย์เลสเบี้ยนในจีน แดรกควีนเซเลบที่มีตัวตนเฉพาะบนทีวี ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่ามีตัวตนแบบนั้นอยู่จริงหรอกของญี่ปุ่น โบสถ์คริสต์ และศูนย์วิจัยอะไรสักอย่างของมุสลิมที่เชื่อว่าเกย์เป็นความผิดปกติ หรือถูกครอบงำโดยวิญญาณชั่วร้าย สามารถรักษาให้หายได้ในมาเลเซีย ความยากจน (อัตราบริการทางเพศของผู้ชายในย่างกุ้งเริ่มต้นที่ 60 เซนต์ยูเอสต่อชั่วโมง!) และการแพร่ระบาดระดับรุนแรงของ HIV การขาดความรู้ ขาดยาต้านไวรัสในพม่า การต่อสู้เพื่อล้มมาตรา 377 ของอินเดีย พอลบภาพ sex trip ออกไป คุณว่าหนังสือที่พูดเรื่องซีเรียสเหล่านี้แบบเบา ๆ ภาษาเฮฮา ไม่ใส่น้ำเสียงตัดสินถูกผิดจนออกนอกหน้า น่าสนใจไหม สำหรับผม มันเกือบเป็นงานวิชาการเชิงสำรวจภาคสนามที่ตัดอ้างอิงทิ้ง ไม่ซ่อนประธานผ่านประโยคกรรมวาจก ลบศัพท์แสงอย่าง identity alterity หรือคำที่มี pre- de- ex- ฯลฯ เป็นอุปสรรค ประมาณนั้น