
เราให้ของขวัญปีใหม่ (2554) ตัวเองด้วยนิยายโปรตุเกสเรื่อง Jerusalem ของ Gonçalo M. Tavares ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Anna Kushner (2009) ทั้ง ๆ ที่ตอนซื้อมาก็ไม่แน่ใจว่าจะชื่นชอบกับเรื่องแนวนี้มั้ย แต่ทนต่อคำยั่วเย้าของ Saramago บนปกหน้าไม่ไหว "Tavares has no right to be writing so well at the age of 35. One feels like punching him!" เทคนิคการเล่าเรื่องโดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาเรียงไม่ลำดับเวลาดูเข้ากันดีและได้ผลกับหนังสือเล่มนี้ เรามั่นใจว่าคงหยุดอ่านตั้งแต่ก่อนครึ่งเรื่องถ้าแกไม่เล่นมุกนี้ เพราะถึงแม้ภาพที่วาดด้วยภาษาจะรุนแรง ชัดเจน ตรงไปตรงมา ฟัดคนอ่านอยู่หมัด แต่ก็น่าเบื่อ การหั่นสลับลำดับชดเชยความน่าเบื่อดังกล่าวได้พอดิบพอดี พอแกหั่นเป็นชิ้น แต่ละชิ้นเป็นเหมือน movement หลาย movement ของ symphony ขนาดใหญ่ Jerusalem มีทำนองหลักคือเหตุการณ์ของเช้าตรู่ระหว่างตี 3 ถึงก่อนโบสถ์เปิดให้บริการในวันที่ 29 พ.ค. ไม่ระบุปี ตัวละครไม่ว่าจะเป็น Mylia, Ernst, Hinnerk, Hanna, Theodor และ Gomperz เหมือนคนที่เราจะจับต้องได้จากโลกใบนี้ แต่ก็ถูกลงแปรงใส่สีเหมือนภาพวาดของเบคอน ทำนองรองจะค่อย ๆ แต่งแต้มรายละเอียดภูมิหลังและความเป็นมาของตัวละครเหล่านั้นก่อนที่จะมาถึงเช้าวันเกิดเหตุ Mylia เธอตระหนักถึงแก่นของชีวิตคือความเจ็บปวดและต้องการที่พึ่งทางจิตวิญญาณ ออกจากห้องพักไปยังโบสถ์ตอนตี 3 (แน่นอน โบสถ์ปิด) ณ เวลาไล่เลี่ยกันนั้นสามีเก่าของเธอ Theodor ผู้เป็นหมอ มีการศึกษา ออกไปหาโสเภณีบำบัดความใคร่ นางชื่อ Hanna นางพบว่าเงินทองหาสำคัญไม่ จึงใช้จ่ายด้วยการเลี้ยงดู Hinnerk ชายทหารผ่านศึกผู้เป็นที่หวาดกลัวของเด็ก ๆ ด้วยดูเหมือนฆาตกรฆ่าคน ซึ่งเช้าวันนั้นเขากลับช่วยเหลือ Mylia กับ Ernst (ชู้รักที่พบกันในโรงพยาบาลบ้า) ก่อนหน้านั้น Ernst กำลังใคร่ครวญว่าจะทิ้งร่างของตัวเองออกมานอกหน้าต่างอาคารพักอาศัยดีหรือไม่ ตัวละครโยงใยกันอย่างเจ็บแสบ และจบอย่างเจ็บแสบด้วยการค้นพบสัจธรรมของ Mylia ว่า ไม่มีความเจ็บปวดใดยิ่งใหญ่เท่าความหิว