
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (เขียนเดือนมีนาคมปี 2557) มีโอกาสค้นชั้นหนังสือที่ดูเหมือนถูกทิ้งให้ฝุ่นเกาะอยู่ใน Lab นูนู่ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่น มีบ้างเป็นภาษาอังกฤษ ผมไม่ทราบนะฮะว่าใครเป็นเจ้าของ แต่แน่ใจอย่างหนึ่ง คนผู้นั้นเป็นแฟน Michael Crichton กับ Robin Cook หนังสือเล่มนี้ก็ได้มาจากชั้นนั้นนั่นแหละครับ กำลังจะบอกว่า หนังสือถูกเลือกมาอ่านอย่างสุ่ม ด้วยอยู่ในอารมณ์อยากอ่านอะไรก็ได้ สั้น ๆ ไม่เกี่ยวกับงานที่กำลังทำ ไม่ต้องแปลงฟูริเยร์ ไม่ต้องเอสวีดี หนังสือบางมาก แค่ 70 หน้า แต่ไป ๆ มา ๆ หมกมุ่นอยู่กับมันถึง 5 วัน
ความคิดของ Rorty พูดได้ว่าเป็น pragmatism ฉบับ postmodern ตัวอย่างเช่น แกปฏิเสธว่า การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีทิศทางเดินไปในแบบที่ทำให้เราเข้าใกล้ความจริงหรือ Reality มากขึ้น นิวตันไม่ได้เข้าใกล้ความจริง (ถึงแม้จะเป็นความจริงทางฟิสิกส์) มากกว่าแคปเลอร์หรือกาลิเลโอ ไอน์สไตน์ไม่ได้เข้าใกล้ความจริงมากไปกว่านิวตัน ไอเดียของ Rorty คือ ความจริงหรือโลกจะถูกรับรู้และถูกเข้าใจผ่านคำบรรยายหรือ description สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความก้าวหน้าแท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ "redescription" คำนี้เป็นคำสำคัญต่อการทำความเข้าใจความคิดของ Rorty ฉะนั้น ไม่มีคำบรรยายไหนที่เข้าใกล้ความจริงมากกว่าคำบรรยายไหน แต่อย่าเข้าใจว่าแกเป็น immaterialist อย่างบิชอบเบิร์กลีย์นะ เพราะแกไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของโลกภายนอกถึงแม้มันจะไม่ถูกรับรู้ โลกภายนอกนะมีอยู่ แต่ในเมื่อมันถูกรับรู้และถูกเข้าใจผ่านคำบรรยายที่มันไม่แคร์ว่ามันจะถูกบรรยายว่ายังไง หรือมันเลือกได้ว่าจะโอเคไม่โอเคกับคำบรรยายไหน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีคำบรรยายใดที่เราจะสามารถอ้างได้ว่าได้บรรยายตรงกับแก่นแท้ (intrinsic) ของโลกภายนอก เราทำได้เพียงแค่บอกว่า คำบรรยายไหนใช้การได้ดีกว่าคำบรรยายไหน ตรงนี้เท่ากับแสดงให้เห็นว่า แกไม่ใช่ relativist นะ ตัวอย่าง postmodern relativist จะบอกว่า สำหรับคำบรรยาย 2 ชุดต่อต้นกำเนิดชนพื้นเมืองอเมริกัน (ผมชอบตัวอย่างนี้ อ่านเจอจากหนังสือ fear of knowledge ของ Boghossian) ชุดแรกเป็นของลาโกต้าเผ่าหนึ่งในอีเกิ้ลบิวท์ รัฐเซาท์ดาโคตาที่ว่า พวกเขาสืบเชื้อสายมาจากชาวบัฟเออะโลที่อยู่ใต้โลก แน่นอน ไม่มีชาวลาโกต้าคนไหนเชื่อทฤษฎีวิวัฒนาการ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคำบรรยายอีกชุดของนักโบราณคดีที่บอกว่า ผ่านชอบแคบเบริงมาจากเอเชียเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีก่อน พูดง่าย ๆ คือ Rorty ปฎิเสธหลักการ equal validity ของ postmodernist relativism นะฮะ ถึงแม้ objectivity ของแกจะเท่ากับ inter-subjective agreement ก็ตาม นี่เป็นหนังสือแนะนำ Rorty ที่ดีมาก ผมพูดในฐานะคนที่รู้จักและประทับใจจากการอ่านผ่านมันเป็นเล่มแรก ทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยว่าความก้าวหน้า (progress) นั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนวิธีการพูด ไม่เห็นด้วยว่าเราไม่ได้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ประเด็นนี้ผมชอบการโต้ตัวอย่างการมองเห็นเก้าอี้ผ่านมุมมองหนึ่งและบรรยายมุมมองนั้นออกมาของ John Searle (อยู่ในหนังสืออีกเล่ม อาจเอามาเล่าวันหลัง)