top of page

The Grand Design (2010)


ทำไมจึงมีบางสิ่งแทนที่จะไม่มีอะไรเลย? ทำไมเรามีตัวตน? เอกภพเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมเอกภพถูกควบคุมโดยกฏชุดนี้ (เช่น กฎความโน้มถ่วง ควอนตัม สัมพัทธภาพ ฯลฯ) ไม่เป็นกฎชุดอื่น? การปรากฏของเราซึ่งต้องอาศัยปัจจัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโลกที่อยู่เขต Goldilocks (ปัจจัยเกี่ยวกับมวลดวงอาทิตย์และระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกเป็นต้น) วงโคจรของโลกที่มีค่า eccentricity ประมาณ 2% ซึ่งเกือบเป็นวงกลม กระบวนการ triple alpha ที่ดาวฤกษ์สร้างคาร์บอนก่อนระเบิดออกมาปล่อยให้ธาตุชนิดนี้กระจัดกระจายเพื่อรวมกันกับธาตุอื่นอย่างซับซ้อนเป็นสิ่งมีชีวิต ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ช่างประจวบเหมาะลงตัวเสียเหลือเกิน คำถามคือทำไม? ผลงานของพระเจ้าใช่หรือไม่? หนังสือเล่มใหม่ของ Stephen Hawking กับ Leonard Mlodinow ในชื่อ The Grand Design เสนอคำตอบสำหรับคำถามทั้งหมดจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ปัจจุบันฮะ ซึ่งเป็นมุมมองที่มองโลกภายนอกหรือความจริงว่าเป็นความจริงแบบ model-dependent เป็นความจริงที่เรารับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสของเราแล้วสร้างคำอธิบายหรือโมเดลของเรา นั่นหมายความว่าเป็นความจริงที่อาจจะไม่ได้สะท้อนความจริงแบบจริง ๆ (ถ้ามี) ประเด็นนี้ผู้เขียนอธิบายไว้กระจ่างในบทที่ 3 What is reality? เกริ่นนำด้วยสภาเมืองมอนซา อิตาลี ห้ามเลี้ยงปลาทองในขวดแก้วโค้งเพราะทำให้ปลาทองรับรู้ reality ที่บิดเบือน ผู้เขียนตั้งคำถามล้อกันว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าเราเองมิได้รับรู้ reality ที่บิดเบือนทำนองเดียวกับปลาทอง อย่างเช่น ตาของเราก็ตอบสนองต่อย่านความถี่ที่มีกำลังสูงจากดวงอาทิตย์ ในบทต่อ ๆ มาพูดถึงภาพรวมของสถานะความรู้ฟิสิกส์ในปัจจุบัน อาทิ alternative histories ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีเส้นทางเดียว การเคลื่อนที่จาก A ไปยัง B ของอนุภาค อนุภาคจะใช้ทุกเส้นทางที่เป็นไปได้แล้วรวมผลลัพธ์ของเส้นทาง ไอเดียนี้ของฟายน์แมนสามารถอธิบายเรื่องแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นกับการทดลองสลิทคู่ (ฟายน์แมนบอกว่า "การทดลองสลิทคู่บรรจุความลึกลับของกลศาสตร์ควอนตัมไว้ทั้งหมด") และไอเดียนี้กระทบกับความสัมพันธ์ของอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต และความเป็นเหตุปัจจัย ทำให้เราต้องมองธรรมชาติที่อนุญาตให้เรามองด้วยมุมมองใหม่ นอกจากนี้ยังสรุปแรงต่าง ๆ เวอร์ชั่นควอนตัม เช่น QED QCD ทฤษฎี M และ quantum fluctuation ที่สร้างเอกภพเล็ก ๆ จากความว่างเปล่า ความคิดเกี่ยวกับ multiverse บทสุดท้ายเปรียบเทียบภาพเอกภพของเรากับเอกภพจำลองสองมิติของ Conway ใน Game of Life หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนเขียนสำหรับผู้อ่านทั่วไปครับ อ่านง่ายมาก และนำเสนอความคิดซับซ้อนได้ค่อนข้างชัดเจน ลำดับเนื้อหาให้คนอ่านอ่านตามได้ต่อเนื่อง ภาพประกอบสวยงาม สไตล์การเขียนเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน (ก่อนพูดถึง inflation หลัง big bang ก็อดไม่ได้ที่จะแวะไปซิมบับเวซึ่ง inflation เหมือนกัน กว่า 200 ล้านเปอร์เซ็นต์แหนะ) ที่สำคัญ อ่านสนุกครับ


bottom of page