
The Martian
ถ้าคุณเป็นนักบินอวกาศที่เพื่อน ๆ เข้าใจผิดคิดว่าตาย เพราะถูกพายุทรายพัดหายบนดาวอังคาร โดยมีเสาอากาศเสียบทะลุชุดก่อนปลิวลับไปต่อหน้าต่อตา การถูกทิ้งไว้บนดาวเคราะห์ร้างสีแดงตามลำพังด้วยเครื่องยังชีพจำกัด คุณจะยังเหลือความหวังให้ชีวิตแค่ไหน คุณจะรอดได้กี่วัน ถึงแม้จะมีหลายตอนที่ Andy Weir เขียนให้ The Martian อ่านคล้ายคู่มือการเอาตัวรอดบนดาวอังคาร แต่ก็เป็นแค่การเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสไตล์ hard science fiction ซึ่งเขียนได้อย่างชาญฉลาด ผมหมายถึง ทั้งฉลาดในแง่เรื่องเล่า และฉลาดในความแม่นยำของข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมี ฉลาดในการสร้างบุคลิกของพระเอกอารมณ์ดีแม้ในสถานการณ์ริบหรี่สุด ๆ อันนี้นี่แหละครับที่ทำให้อ่านติดหนึบถึงแม้คุณจะไม่อินกับวิธีทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นของเหลวเพื่อแยกมันออกมาจากอากาศ เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นระเบิด หรือใช้มุมของดาวคำนวณละติจูด-ลองจิจูด ก็ยังลุ้นว่ามันจะรอดจากคลื่นความซวยลูกแล้วลูกเล่าได้อย่างไร
เหยียบนรกสุญญากาศ
The Martian ฉบับแปลไทยฮะ คำโปรยของ Publishers Weekly บนปกหลังเขียนว่า "แอนดี้ เวียร์เรียงข้อมูลเชิงเทคนิคได้ยอดเยี่ยม แม้แต่ผู้อ่านทั่วไปที่ไม่รู้วิทยาศาสตร์ก็ยังอ่านได้โดยไม่สะดุด ... ความตื่นเต้นพุ่งพรวดตั้งแต่ต้น และสะสมจนไประเบิดเอาตอนท้าย"
เห็นจริงตามนั้นทุกประการ และอยากเพิ่มท่อนแยกให้กับคำโปรยอันนี้ว่า ยิ่งรู้วิทยาศาสตร์ ก็ยิ่งอ่านสนุก ลักษณะหนังสือในกลุ่ม hard sci-fi ก็คือ sci-fi ที่บรรยายและเน้นข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์หรือเชิงเทคนิคในรายละเอียด สำหรับบล็อกนี้เราจะพูดความสนุกของมันในมุมของ hard sci-fi สักสองสามจุด ส่วนในมุมที่ว่าด้วยความลุ้นระทึก มันส์เป็นบ้านั่นคงไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศ สำหรับเรา เป็นการอ่านที่ทำให้อะดรีนาลีนพุ่งปรี๊ดซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับการอ่านนิยายมานานแล้วล่ะ
1. เมื่อถูกทิ้งบนดาวอังคาร น้ำเป็นสิ่งหนึ่งที่พระเอกต้องการมาก พระเอกจะสร้างน้ำยังไง คำตอบคือแกต้องหาออกซิเจนมาผสมกับไฮโดรเจนเอง แล้วบนดาวอังคารจะหาออกซิเจนจากไหน คำตอบ "แต่คุณคงนึกไม่ถึงแน่ว่าบนดาวอังคารหาออกซิเจนได้ง่ายขนาดไหน ในเมื่อบรรยากาศของที่นี่มีแต่คาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 95 เปอร์เซนต์" (น.37) แล้วพระเอกจะใช้ออกซิเจเนเตอร์แยกคาร์บอนกับออกซิเจน แต่ก็ยังมีปัญหาอีกนั่นแหละ เพราะ "อากาศที่นี่เบาบางมาก" (น.37) ความดันบนดาวอังคารไม่ถึง 1% ของความดันบนโลก ฉะนั้น ถ้าเอาออกซิเจเนเตอร์มาวางข้างนอกแล้วคอยแยกคาร์บอนกับออกซิเจนไม่เวิร์กแน่ สุดท้ายจึงนึกไปถึงฐานผลิตเชื้อเพลิงของยานนำขึ้น ซึ่งมันจะคอยสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของดาวอังคาร แล้วพระเอกก็ว่า "มันจะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เหลวให้ผมได้ชั่วโมงละครึ่งลิตร ... ผ่านไป 10 วันก็จะได้คาร์บอนไดออกไซด์ 125 ลิตร แปลว่าถ้าป้อนมันให้ออกซิเจเนเตอร์ผมก็จะได้ออกซิเจน 125 ลิตร ... แค่นี้ก็เสกน้ำได้ 250 ลิตรแล้ว หมดห่วงเรื่องออกซิเจน" (น.37) ลองคิดเลขง่าย ๆ ตามนะฮะ 1 ชั่วโมงได้คาร์บอนไดออกไซด์ 0.5 ลิตร 1 วันบนดาวอังคารมี 24.6 ชั่วโมง ฉะนั้นพอครบ 10 วันก็จะได้ 123 ลิตร รอเพิ่มอีก 4 ชั่วโมงถึงจะได้ 125 ลิตร เท่ากับผ่าน 10 วันไป 4 ชั่วโมง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอะไร ทีนี้ในคาร์บอนได้ออกไซด์ หรือ CO2 125 ลิตรมี O2 125 ลิตร และน้ำ 1 โมเลกุลต้องการ O แค่ตัวเดียว ฉะนั้น ฉะนั้น O2 125 ลิตรจึงสามารถเอาไปใช้เป็นวัตถุดิบสร้างน้ำได้ 250 ลิตร ทั้งหมดนี่ง่าย ๆ ใช่มั้ยฮะ และไม่ได้แปลว่าคนอ่านต้องมานั่งคิดเลขตาม ลองเปรียบเทียบระหว่างคนอ่านที่รู้กับคนอ่านที่ไม่รู้ สำหรับคนอ่านที่ไม่รู้ ตัวเลขต่าง ๆ จะไร้ความหมายเฉพาะเจาะจงสำหรับเขา และถูกกลืนเป็นรายละเอียดของคำบรรยาย แทนที่จะผู้เขียนจะเลือกบรรยายป่าเขา หรือใบหน้าของหญิงสาว ซึ่งเราอ่านแล้วก็นึกภาพไม่ออกหรอกหรืออ่าน 10 คนก็นึกภาพได้ 10 แบบ ผู้เขียนก็หันมาบรรยายกระบวนการแทน ความไม่รู้ไม่ได้ทำลายโครงเรื่อง ไม่ได้ทำลายแม้ความสนุกของเรื่อง คุณมั่นใจว่าคุณวาพภาพแมลงหรือตัวตนใหม่ของเกรโกร์ ซัมซ่ากลายร่างหรือเปลี่ยนไปได้ตรงกับที่คาฟคาบรรยายไหม ทำนองเดียวกันนั่นแหละ งานนี้ความรู้แค่ช่วยให้เราได้รายละเอียดที่ชัดขึ้น เอาล่ะ พระเอกมีออกซิเจนแล้ว จะหาไฮโดรเจนจากไหน คำตอบคือจากเชื้อเพลิงจรวดของยานลงจอด นั่นคือ ไฮดราซีน พระเอกบรรยายว่า "ผมต้องปล่อยให้ไฮดราซีนไหลผ่านตัวเร่งปฏิกิริยา ... จากนั้นมันจะเปลี่ยนไปเป็นไนโตรเจนกับไฮโดรเจน ผมจะไม่ลงลึกเรื่องเคมีให้คุณปวดกบาล แต่สรุปว่าผลลัพธ์ที่ได้ก็คือไฮดราซีน 5 โมเลกุลจะกลายเป็นไนโตรเจน 5 โมเลกุล ... กับไฮโดรเจน 10 โมเลกุล ระหว่างกระบวนการนี้จะได้แอมโมเนียออกมาด้วย" (น.39) ถ้าคุณรู้สูตรเคมีของไฮดราซีน N2H4 ก็จบ ไฮดราซีน 5 โมเลกุล จะได้ N2 5 โมเลกุลกับ H2 10 โมเลกุล ถ้าระหว่างทางมันเกิดแอมโมเนีย NH3 แล้วแอมโมเนียคงอยู่ มันก็จะทำให้ได้ H2 ไม่ครบ 10 แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร เพราะตอนนี้พระเอกเจอหนทางแล้วว่าจะหาไฮโดรเจนจากไหนมารวมกับออกซิเจนที่ได้จากคาร์บอนไดออกไซด์บนดาวอังคาร
2. คำบรรยายแบบเนิร์ด ๆ ผมขอยกตัวอย่างสัก 4 แห่ง
2.1 ตอนหนึ่งที่คำบรรยายของพระเอกเก็บรายละเอียดดี พระเอกบรรยายว่า ให้นักบินบนยานที่อยู่ในวงโคจร ควบคุมยานนำขึ้นของโครงการถัดไปให้ลงจอด "เพราะโลกอาจอยู่ห่างจากดาวอังคารออกไประหว่างสี่ถึงยี่สิบนาทีแสง" (น.77)
ตอนที่ดาวอังคารอยู่ใกล้โลกที่สุด จะอยู่ห่างออกไปประมาณ 54.6 ล้านกิโลเมตร และตอนที่อยู่ห่างจากโลกที่สุด จะอยู่ห่างประมาณ 401 ล้านกิโลเมตร และ 1 นาทีแสงคือระยะทางที่แสงเคลื่อนที่ได้ 1 นาที ก็แปลว่าแสงใช้เวลาเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคารตอนที่มันอยู่ใกล้ที่สุดประมาณ 3 นาทีกว่า ๆ ส่วนตอนที่อยู่ไกลที่สุด ก็ประมาณ 22 นาที นี่คือที่มาของตัวเลข 4 ถึง 20 นาทีแสงฮะ
2.2 "แบตเตอรี่อันเบ้อเริ่ม ลากแทบไม่ไหว นี่ขนาดอยู่ภายใต้แรงโน้มถ่วงของดาวอังคารนะ" (น.80) ครึ่งหลังนั้นเท่ากับขยายว่าหนักมาก เพราะสนามโน้มถ่วงที่ผิวโลกของเราคือ g ขณะที่ดาวอังคารคือ 0.38g หรือประมาณ 0.4g นั่นคือมวลก้อนเดียวกันบนโลกจะหนักกว่าบนดาวอังคารประมาณ 2.5 เท่า
2.3 ตอนหนึ่งพระเอกซ้อมทดลองขับรถโดยปิดเครื่องทำความร้อน เพราะคิดว่าฉนวนของรถสำรวจจะเอาอยู่ แต่สุดท้ายความร้อนก็ค่อย ๆ หลุดออกไปจากรถจนได้ "แผนการสุดล้ำพังเพราะเทอร์โมไดนามิกส์ ไอ้เอนโทรปีเวรเอ๊ย" (น.85) กฎข้อสองของเทอร์โมไดนามิกส์บอกว่าความร้อนไม่สามารถไหลจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงได้เองตามธรรมชาติ และเราสามารถใช้ปริมาณที่เรียกว่าเอนโทรปีแสดงสถานะของกระบวนการถ่ายเทความร้อนนี้ เนื่องจากไม่มีฉนวนที่สมบูรณ์แบบตามที่พระเอกว่าไว้ ฉะนั้น ตามกฎของเทอร์โมไดนามิกส์ ความร้อนจะค่อย ๆ ออกไปจากรถ พูดอีกอย่างว่า เอนโทรปีของระบบ (ที่มีทั้งรถและบรรยากาศของดาวอังคาร) เพิ่มมากขึ้น พระเอกก็เลยสบถใส่เอนโทรปี
2.4 เป็นตอนที่พระเอกจะใช้หลักการเรื่องคานผ่อนแรงเพื่อยกรถ "ผมเดินถอยหลังพร้อมกับดึงสายเคเบิลไปด้วย ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ ซึ่งไม่ใช่ผมแน่นอน อาร์คิมิดิสต้องอยู่ข้างผมแน่ ๆ" (น.345) มุกในประโยคนี้มาจากคำพูดอันโด่งดังของแกนะครับ Give me a place to stand and with a lever I will move the whole world. หาที่ให้ฉันยืนพร้อมคานยาว ๆ สักอัน แล้วฉันจะงัด (เคลื่อน) โลกให้ดู จากตัวอย่างทั้ง 4 แห่ง จะเห็นว่า ความรู้วิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต่อความเข้าใจในภาพรวม แต่มันช่วยให้เรา "อิน" มากขึ้น
3. ตอนหนึ่งที่ผมประทับใจคือตอนอัพเกรดระบบปฏิบัติการของรถสำรวจให้คุยกับยานพาทไฟน์เดอร์ได้ ถ้าจะส่งโค้ดทีละครึ่งไบต์ให้พระเอก กว่าจะครบทั้งหมดกินเวลาถึง 3 ปี กระทั่งแจ๊คได้ไอเดียสุดเจ๋ง นั่นคือ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลของรถเป็นตัวช่วยบันทึกโค้ด "ปกติรถสำรวจจะแยกสัญญาณข้อมูลออกมาวิเคราะห์เป็นไบต์ ๆ จากนั้นก็หาลำดับเฉพาะที่แฮ็บส่งมา วิธีนี้ทำให้รถไม่สับสนระหว่างคลื่นวิทยุอื่น ๆ ในธรรมชาติกับคลื่นจากแฮ็บ พอรถสำรวจพบว่าไบต์ที่ได้รับไม่ถูกต้องมันก็จะไม่สนใจคลื่นที่ว่า" (น.139) หมายความว่า ทุกข้อความที่รถได้รับ มันเลือกที่จะสนใจแต่ข้อความจากแฮ็บ ถึงแม้ยานพาทไฟน์เดอร์จะคุยกับมัน แต่มันก็ไม่สนใจ สิ่งที่พระเอกจะต้องทำก็แค่ เข้าไปแก้โค้ดของรถให้บันทึกทุกอย่างที่มันได้รับ ทีนี้ฝั่งนาซ่าก็จะบอกให้พาทไน์เดอร์พูดโค้ดไปเรื่อย ๆ ฝั่งรถก็บันทึกไปเรื่อย ๆ จนได้โค้ดครบ พระเอกก็แค่เอาโค้ดนั้นไปรัน
4. ตอนพูดถึงยานเฮอร์มีส "ถึงแม้ตัวเลขอัตราเร่งของเฮอร์มีสจะฟังดูไม่มาก แต่ในสี่สิบนาทีนั้นมันสามารถพาเราไปได้ไกลถึง 5.7 กิโลเมตรนู่นเลย" (น.363) ถ้าเรารู้แค่ว่ายานเฮอร์มีสเป็นยานแบบเร่งต่อเนื่อง ความเร่งของเครื่องยนตร์ไอออนมันดูเหมือนน้อยมาก คือใน 1 วินาทีความเร็วเพิ่มขึ้นแค่ 0.002 เมตร/วินาที แค่นี้เราก็คำนวณตัวเลขตามได้ง่าย ๆ ว่าถ้าเริ่มจากหยุดนิ่ง ในเวลา 40 นาทีมันจะไปได้ไกลถึง (0.5)(0.002)(40*60)^2 = 5760 เมตร ผมว่าคอนิยายไม่พลาดเล่มนี้อยู่แล้วล่ะ ที่เขียนตอนนี้ก็เพื่อจะเชียร์เด็กเนิร์ดที่ไม่ค่อยได้ติดตามอ่านนิยาย เผื่อขึ้น :P

The Martian (2015)
ถ้าเราตั้งสมมุติฐานว่าหนังพยายามรักษาแก่นหรือ theme จากหนังสือ เราก็น่าจะมองเป็นอันดับแรกว่าอะไรคือแก่นของหนังสือ ความเหงา ซึมเศร้า จนตรอกของมนุษย์คนหนึ่งผู้ถูกทอดทิ้งห่างโลกหลายล้านไมล์เหรอ ภูมิศาสตร์ กสิกรรม หรือวิธีเอาตัวรอดบนดาวอังคารรึเปล่า เทคโนโลยีอวกาศใช่มั้ย จากการอ่านเรื่องนี้เฉลี่ย 2-3 รอบ (บางบทและบางประโยคอ่านมากกว่าสิบรอบ ... เพื่อค่าขนมนะ) แก่นเดียวที่เราจับได้จากงานเขียนคือ เด็กเนิร์ดรอดหวะ ชัยชนะของเด็กเนิร์ด ชัยชนะของการคิดแก้ปัญหาแบบเป็นระบบ บทที่ชวนให้อ่านเหมือน technical manual ทำหน้าที่เพียงเสริมความเนิร์ดของตัวเอก และทำให้ genre เป็น hard sci-fi ... แค่นั้น การติดเกาะบนดาวอังคารเป็นส่วนที่เรียกว่าโครง อารมณ์ขันเป็นบุคลิกตัวละคร (สตีเว่น คิง เคยเขียนว่าพอเป็นเรื่องความตาย เราจะทำอะไรได้ล่ะ นอกจากหัวเราะ) และขณะเดียวกันก็เป็นสไตล์ของผู้เขียน ทีนี้ลองสมมุติว่า Ridley Scott เอาไปแต่โครงโดยทิ้งแก่นเดิม เราก็อาจจะได้ดู The Martian ในแบบเศร้ารัดทดบีบน้ำตาหรือหว่องก๊าไหว่ หรือแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ Andy Weir ฉะนั้นหนังบางเรื่องซึ่งมีโครงในระดับ abstract เหมือนกัน Cast Away, Robinson Crusoe, Lord of the Flies เป็นต้น ต่างกันก็แค่ติดเกาะที่ไหน ติดเกาะกับใคร กี่คน แต่แก่นหรือ big idea คนละเรื่องคนละขั้วนั้น หากจะนำมาเปรียบเทียบ ก็ต้องไม่ลืมแก่นที่แตกต่างกันของมันด้วย เราชอบที่ Scott เลือกรักษาแก่นแบบ Weir ถือว่าเป็นโจทย์ยากนะ ปัญหาของเขาคือจะใส่ technical-manual style ลงไปยังไง (จะใช้วิธีเดียวกับการแคปเจ้อโมเม้นต์เลสลี จางซบเหลียง เฉาเหว่ยในรถใต้แสงไฟสีเขียวสีเหลืองกับเงามืดสลัวสัก 2-3 นาทีแล้วถือว่าแม็ตต์ เดม่อนคำนวณจำนวนหัวมันฝรั่งที่จะปลูกเสร็จแล้วได้เหรอ) ทำให้ technical-manual style ถูกตัดลงเกือบหมด แก่นในแบบของ Weir จึงไม่โดดเด่นเท่าที่เห็นในหนังสือ และอาจทำให้คนที่ไม่อ่านหนังสือได้รับแค่ impression เดียวคือ feel-good