top of page

ปรสิต (寄生獣) เล่ม 1-8

เล่ม 1

ประมาณ 19-20 ปีที่แล้ว "แนะนำการ์ตูนให้อ่านสักเล่มสิ" ฉันพูดกับเพื่อนคนหนึ่ง "ปรสิตเดรัจฉาน" เขาตอบ นี่จึงเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่อ่านและซื้อ เวลาผ่านมาจนถึงวันที่มันหายไปไหนหมดแล้วก็ไม่รู้ จังหวะที่ปีนี้มีหนังให้ดู ก็ถือเป็นฤกษ์ซื้ออ่านใหม่ ในเล่มแรก ฉันประทับใจบทสนทนาระหว่างชินอิจิกับครูมามิยะ ทามิยะ "ฉันคิดว่าทั้งแมลงวันและแมงมุมมันปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น ... สิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกต่างก็ได้รับคำสั่งต่าง ๆ กันมาด้วยกันทั้งสิ้น" ชินอิจิ "มันพูดอะไรของมันนะ" หันไปถามมิกกี้ "แกเข้าใจมั้ย?" ทามิยะ "มนุษย์ไม่ได้รับคำสั่งมาหรอกรึ ... ?" ชินอิจิ "ก็มันคืออะไรล่ะ รึว่าจะมาพูดเรื่องพระเจ้า" ทามิยะ "ตอนที่ฉันฟักตัวในสมองของมนุษย์ก็ได้รับคำสั่งมาอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ให้จับสัตว์ประเภทแกกิน ... !!" ฉันนับบทท่อนนี้เป็นวาทะว่าด้วยปัญหา Existentialism ในปรสิต

เล่ม 2

มิคกี้กำลังพลิกดูหนังสือ พูด "จิตใจมนุษย์นี่มันเข้าใจยากเสียจริงจริ๊ง...อย่างไอ้คำว่าเสียสละเนี่ย...เป็นการทำเพื่อคนอื่นโดยที่ตัวเองต้องเสียเปรียบแท้ ๆ...แล้วจะทำไปเพื่ออะไร ฉันไม่เข้าใจ !!" ในบริบทนี้ "เสียสละ" ของมิคกี้ดูจะตรงกับ "altruism" ในนิยามของ Peter Singer พฤติกรรมที่สร้างผลประโยชน์ให้กับชาวบ้านด้วยการลงทุนส่วนตัว พูดว่าทำอย่างนี้แล้วชาวบ้านบวก แต่ตัวเองติดลบ มิคกี้เข้าใจผิดนะฮะว่ามีแต่ในมนุษย์ อิซึมิคุงต้องหาหนังสือให้มันอ่านเพิ่ม มีนกบางชนิดร้องเตือนเพื่อน ๆ เวลาเจอสัตว์ที่จะจับพวกมันกินเป็นอาหาร การร้องเตือนคือการลงทุนที่เพิ่มโอกาสให้ตัวเองถูกจับกิน แต่เพื่อน ๆ ได้ประโยชน์ รีบบินหนีไป Singer ตั้งคำถามที่น่าสนใจใน The Expanding Circle ว่า ถ้าพฤติกรรมดังกล่าวถูกควบคุมโดยยีน แล้วพฤติกรรมทำนองนี้จะอยู่รอดจากกระบวนการวิวัฒนาการได้ยังไง พวกกลุ่มนกที่มียีนใจดีร้องเตือนชาวบ้านไม่ถูกจับกินหมดเหรอ ดาร์วินเองอธิบาย altruism ไว้ 2 แบบ แบบแรกคือการได้ผลตอบแทน อีกแบบคือพฤติกรรมดังกว่าถูกสร้างผ่านการชม/ตำหนิของสมาชิกคนอื่นในสังคม จะว่าไป ในกลุ่มคำอธิบายแบบ reciprocal นั้นมิคกี้น่าจะเข้าใจได้ดี ก็ตัวเองช่วยให้ตัวเองอยู่รอดผ่านการเชื่อมหัวใจให้อิซึมิคุงจนสูญเสียตัวเองไป 30% ไม่ใช่เหรอ

เล่ม 3

"เอาลูกหมาไปทิ้งถังขยะ ไม่สงสารมันบ้างเหรอ" "สงสารทำไม ก็มันตายแล้วนี่" "ทำไมเธอถึงพูดแบบนี้" "ก็มันตายแล้ว มันก็ไม่ใช่หมาอีกต่อไป มันเป็นแค่ก้อนเนื้อก้อนหนึ่งเท่านั้น" ต่อไปนี้เป็นโหมดเพ้อเจ้อ สมมติเราเลียนแบบที่ Shelly Kagan วิเคราะห์ process การตายด้วยลำดับของสถานะ B_1, B_2, ..., B_n โดยที่ ก่อนหน้าสถานะ B_1 ฟังก์ชั่นทุกอย่างทำงานปกติ พอถึง B_n ฟังก์ชั่นทุกอย่างหยุดทำงาน และตามลอจิกของน้องชินอิจิ ที่ B_n มันไม่ใช่หมา สถานะสุดท้ายที่มันยังเป็นหมาคือ B_(n-1) ทำให้นึกถึงคำพูดของปู่ Raymond Smullyan แฮะ "ฉันไม่มาคิดมากเรื่องความตายหรอก ก็มันไม่มีทางเกิดขึ้นในชีวิตของฉัน" (Why should I worry about dying? It's not going to happen in my lifetime!) สมมติ เราอาศัยคติชาวพุทธแบบบ้าน ๆ เชื่อในดวงวิญญาณ ถ้าวิญญาณนางสาวสุดสวยออกจากร่าง (อาจจะกำลังเดินผ่านประตูไปสวรรค์หรือนรกซึ่งมีเทวดาและปิศาจหน้าตาเหมือนกันเฝ้าอยู่ ตัวหนึ่งพูดจริง ตัวหนึ่งพูดเท็จ ตามที่สมาคมคณิตศาสตร์เคยกล่าวเอาไว้เมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว) หากมีดวงวิญญาณอื่นมาสิง เราก็พูดว่า นี่ไม่ใช่นางสาวสุดสวย แต่เป็นผีร้าย เอาน้ำมนต์สาด เอาแส้ฟาดได้ สมมติต่อว่า เรายังอาศัยคติชาวพุทธผู้หนักคันถธุระและรักอภิธรรม จะพูดว่าที่ B_n จิตทำหน้าที่จุติกิจ (เรียกจิตที่ทำหน้าที่นี้ว่า จุติจิต) คือ กิจเคลื่อนจากภพ แล้วพอจุติจิตดับ แต่ตัณหายังมี (ลักษณะของตัณหาอันหนึ่งคือ โปโนพฺภวิกา เป็นไปเพื่อภพชาติใหม่ และเรียกชื่อตัณหาตัวนี้ (โดยองค์ธรรมมันคือโลภเจตสิกนั่นและ) คือ โปโนพภวิภวตัณหา) ทำให้จิตเกิดต่อเนื่องจากจุติจิตทันที และตัวที่เกิดต่อเนื่องตัวนี้ ทำหน้าที่ปฏิสนธิ จึงได้ชื่อว่าปฏิสนธิจิต โดยไม่มีอะไรมาคั่น หมาตัวนั้นไปเกิดใหม่แล้ว

เล่ม 4

ตอนที่มิคกี้ขู่จะฆ่าคนที่รู้ความลับของมันกับชินอิจิ ชินอิจิคุงพูดว่า "ให้ตายสิ แกมันเป็นพวกที่เห็นใจใครไม่เป็นจริง ๆ" มิคกี้ตอบ "แน่นอน" พูดด้วยสำนวนของ Simon Baron-Cohen มิคกี้กับเพื่อน ๆ ปรสิตของมันมีดีกรีของ empathy (ความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจผู้อื่น) เท่ากับศูนย์ หรือ zero degree of empathy นี่ยังเป็นชื่อหนังสือ น่าจะสัก 3 ปีที่แล้วของแกด้วย เป็นหนังสือที่พยายามจะทำความเข้าใจความชั่วร้าย ซึ่งแกเสนอว่า มีสิ่งที่เรียกว่า empathy circuit อยู่ในสมอง และหากเซอร์กิตส่วนนี้ถูกปิด ไม่ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยใด ๆ ก็ตาม อาจจะถาวรหรือชั่วคราว มันจะทำให้คน ๆ นั้นกระทำความชั่วร้ายต่ออีกคนหนึ่งราวกับว่าเหยื่อเป็นวัตถุ (หรือเป็นอาหาร ในกรณีของปรสิตเพื่อนรักกระมัง) ในงานวิจัยของ Baron-Cohen แกจะมีมาตรวัดที่เรียกว่า EQ ไม่ใช่วัด emotional intelligence นะ แต่เป็น empathy quotient และนิยามเจ้า zero degree ที่จุดต่ำสุดของคะแนน (ซึ่งแน่นอน คะแนนกระจายแบบเก๊าซ์) Baron-Cohen ได้จำแนกคนกลุ่ม zero degree ออกเป็น 2 พวก คือพวก negative เช่น ฆาตกรโรคจิตหรือพวกหลงตัวเอง กับพวก positive อย่าง autistic เป็นต้น ที่ดูเป็นคนไร้จิตใจนั่นแหละ แต่ก็มิได้มีความพึงพอใจต่อการทำให้ผู้อื่นเจ็บปวดอย่างกลุ่ม negative ที่สำคัญ กลุ่มนี้จะมีคะแนนในการวิเคราะห์ความมีอยู่ของรูปแบบสูง ฉะนั้น หากให้เจ้ามิคกี้ทำข้อสอบ EQ เราว่ามันและกลุ่มปรสิตเพื่อนรักจะต้องยืนอยู่ปลายสุดของ positive zero เป็นแน่ อีกตอนหนึ่ง ใกล้ ๆ จบเล่ม ก่อนที่ชินอิจิคุงจะเอาหัวโขกต้นไม้ พูดกับตัวเองว่า "นี่สมองของเราโดนเจ้ามิคกี้มันยึดไปแล้วโดยที่เราไม่ทันรู้ตัวรึเปล่านะ ... ขนาดคานาโกะตายไปอย่างนั้น ... เรากลับไม่มีน้ำตาให้เธอสักหยด" ใช่วงจร empathy ของน้องเขาเริ่มทำงานผิดไปจากเดิมหรือไม่ เราปล่อยให้เป็นปัญหาของ Baron-Cohen ไปก็แล้วกัน เราจะข้ามไปอีกสเต็ปถึงคำถามคลาสสิกว่าด้วย freewill นั่นคือ สมมติเราพบความสัมพันธ์ในแง่ของการเป็นเหตุและผลสืบเนื่องอย่างชัดเจนระหว่างวงจรสมองที่ทำงานผิดไปจากเดิมกับพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไปของชินอิจิคุง เราจะยังพูดว่าชินอิจิคุงมี freewill ไหม คนที่รำพันแบบนั้นใช่อยากจะร้องไห้หรือเปล่า ถ้าใช่ เขามีสิทธิที่จะเลือกที่จะร้องไห้มั้ย นอกจากจะปลอบใจและหลอกตัวเอง (หลังเอาหัวโขกต้นไม้จนเลือดออก) ว่าเลือดที่ไหลอยู่นั่นคือหยดน้ำตา

เล่ม 5

ฉากต่อสู้และชัยชนะของชินอิจิกับมิคกี้ในเล่มนี้ชวนให้นึกถึง The Art of War ของ Sun Tzu หัวข้อ Attack by Stratagem ที่พูดถึงปัจจัยสำคัญสู่ชัยชนะ 5 ประการ (ตามสำนวนแปลของ Lionel Giles) 1. He will win who knows when to fight and when not to fight. อย่างตอนที่มีศัตรูกำลังมา มิคกี้เกิดง่วงนอนพอดิบพอดี "ก็ฉันง่วงนอนแล้ว ต้องนอน 4 ชั่วโมง" แนะนำให้ชินอิจิคุงวิ่งหนีตลอดเวลาที่มันหลับ, 2. He will win who knows how to handle both superior and inferior forces. มิคกี้ "มีม้าฝีเท้าดีอย่างนี้ ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแลัว" ชินอิจิ "ใครเป็นม้าของแก" เรียกว่าแต่ละคนมี skill set ไม่เหมือนกัน ก็รู้จักใช้ให้เหมาะกับงาน, 3. He will win whose army is animated by the same spirit throughout all its ranks. ทั้งคู่มี goal ร่วมกัน คือ ความอยู่รอด, 4. He will win who, prepared himself, waits to take the enemy unprepared. ข้อความตอนหนึ่งบรรยาย 'ตามหาปรสิตและแอบตามเก็บไปทีละตัว พอตกลใจแบบนั้นแล้ว ชินอิจิก็รู้สึกเหมือนกับได้ยกภูเขาออกไปจากอก' การแอบตามเก็บทีละตัวน่าจะถือเป็นการโจมตีช่วงที่ศัตรูไม่ได้เตรียมตัวได้นะ, 5. He will win who has military capacity and is not interfered with by the sovereign. สำหรับข้อนี้ เราน่าจะตีความภาพรวมของตัวเอกคือทั้งชินอิจิและมิคกี้ที่เป็นอิสระจากกันได้กระมัง เพราะถึงแม้จะพึ่งพาอาศัยกัน และมีความคิดบางอย่างที่ต่างฝ่ายต่างก็ได้รับผลกระทบจากการมีตัวตนของอีกฝ่าย แต่ก็ไม่แทรกแซงกัน โดยเฉพาะขณะกำลังต่อสู้

เล่ม 6

ในเล่มนี้ มีตอนหนึ่งทามูระ ปรสิตในร่างผู้หญิง อดีตเคยเป็นครูสอนโรงเรียนที่ชินอิจิเรียน (ในฉบับหนัง สอนเคมี ถ้าจำไม่ผิดนะ เราเห็นเธอสอนทฤษฎีจลน์ของแก๊ส ส่วนในฉบับการ์ตูน บนกระดานดำภาพหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดอีกเช่นกัน เธอสอนแคลคูลัส) ผู้สนใจศึกษาชีวิตมนุษย์ และเริ่มตั้งคำถามว่าคนเราเกิดมาเพื่ออะไรในมุมมองที่ต่างออกไป ในมุมมองที่มิได้มีคำตอบปักเอาไว้ว่าเพื่ออยู่รอด ผู้ซึ่งเคยทดลองเป็นแม่โดยให้กำเนิดทารกมนุษย์หนึ่งคน (อยากเขียนประโยคที่มีประธานยาว ๆ แบบนี้มานานแล้ว) ได้โต้ตอบเพื่อน ๆ ปรสิตของเธอเอาไว้อย่างน่าสนใจ "จริงอยู่ว่า ถ้ามองเป็นตัว ๆ มันก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ...แต่มันก็ไม่ใช่อย่างนั้นซะทีเดียว" มันในที่นี้คือมนุษย์ แล้วพูดต่อ "เรื่องที่พวกเราต้องยอมรับก็คือ มนุษย์กับพวกเรามีจุดที่แตกต่างกันมาก นั่นคือมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่อยู่รวมกันเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่น มนุษย์จึงมี "สมอง" ที่ยิ่งใหญ่อีกส่วนหนึ่งนอกจากหัวของตัวเอง ดังนั้น ในทางกลับกัน พวกเราต่างหากที่จะต้องปราชัย" ข้อความดังกล่าวสะท้อนเสียงของ Yuval Noah Harai ที่พูดถึง cognitive revolution ของโฮโมเซเปี้ยนส์ไว้ใน Sapiens: A Brief History of Humankind หนังสือที่เราอ่านค้างไว้เมื่อหลายเดือนก่อน ค้างไว้นานถึงขั้นที่ถ้าเริ่มอ่านอีกครั้ง คงต้องกลับไปเริ่มหน้า 1 ใหม่ แต่ยังพอจำได้ตอนที่แกเล่าถึงการปะทะกันระหว่าง Sapiens กับ Neanderthals ในครั้งแรกเมื่อราวหนึ่งแสนปีก่อนนั้นเซเปี้ยนส์แพ้ เซเปี้ยนส์ชุดแรกนี้แกเรียกว่าเป็นเซเปี้ยนส์โบราณ เป็นเซเปี้ยนส์ที่เราไม่สามารถสอนให้พวกมันพูด ไม่สามารถเล่าเรื่องปรสิตของ Iwaaki ให้มันเพลิดเพลินได้ จนกระทั่วพวกเซเปี้ยนส์โบราณมีความสามารถในการคิดและสื่อสารแบบใหม่ขึ้นมา ช่วงประมาณเจ็ดหมื่นถึงสามหมื่นปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่า cognitive revolution พวกเซเปี้ยนส์ใหม่นี้จึงสามารถกวาดล้างนีอันเดอร์ทัลได้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่หากสู้กันตัวต่อตัวแล้วเซเปี้ยนส์แพ้ ความคิดอันนี้แหละที่เรานึกถึงจากคำพูดของทามูระ ปรสิตชนะมนุษย์กลุ่มเล็ก ๆ ได้ไม่ยาก Harari บอกว่า ความสามารถอย่างหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาในช่วง revolution อันนั้นคือความสามาถในการเล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ถ้าพูดด้วยตัวอย่างวัตถุไม่มีอยู่จริงดังกล่าวแบบสมัยใหม่ ก็อาทิ ชาติ จิตวิญญาณ สิทธิมนุษยชน (มุกตลกในหนังสือประมาณว่า คุณไม่สามารถชักชวนลิงให้บริจาคกล้วยในมือของมันตอนนี้ โดยเอาสวรรค์ที่มันจะมีกล้วยเหลือกินเหลือใช้มาหลอกล่อได้) การหลอมรวมภายใต้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริง อย่างน้อยก็ไม่มีอยู่ใจในทางกายภาพ ทำให้เซเปี้ยนส์สามารถร่วมมือกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก กระทรวงกลาโหมสหรัฐมีพนักงานถึง 3.2 ล้านคน กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนมีกำลังพลถึง 2.3 ล้านคน เป็นตัวอย่างการรวมกลุ่มภายใต้เรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงทางกายภาพ เพื่อปกป้องเสรีภาพ เพื่อความเท่าเทียมเสมอภาคและอุดมการณ์ เป็นต้น สมองที่ยิ่งใหญ่ที่ทามูระพูดถึงคงเป็นผลพวกจาก cognitive revolution นี่กระมัง

เล่ม 7

"หา! 10.5 วินาที" "ฟู่" "นี่อิซุมิ ทำไมเธอ ทำไมเธอถึงเก่งอย่างนี้" 9 วินาทียังได้เลย อิซุมิคุงคิดในใจ ถ้าอิซุมิวิ่ง 100 เมตรใน 9 วินาทีจริง ก็เป็น world record ล่ะ กระนั้นก็ยังอยู่ในสเกลที่เป็นไปได้สำหรับมนุษย์ อันที่จริง ถ้าเราดูสถิติวิ่ง 100 เมตรชาย จะเห็นว่ามันทำลาย wr กันมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เกือบ 11 วินาทีจนมาถึง 9.58 โดย Bolt ในวงการนี้มันก็มีคำถามว่า มีลิมิตมั้ย ถ้ามี อะไรคือปัจจัยของลิมิตนั้น ที่เคยอ่านเจอมานะ เค้ามีอยู่ 2 ทฤษฎี ทฤษฎีแรกบอกว่า เป็นเพราะขีดจำกัดในการออกแรงกระแทกพื้น ยิ่งวิ่งเร็ว เรายิ่งต้องออกแรงกับพื้นเยอะ อีกทฤษฎีบอกว่า เพราะขีดจำกัดความถี่ของการสลับเท้า ท่าวิ่งมันจะมีอยู่ 2 เฟส stance กับ swing แล้วเรียกเวลาที่เท้าแต่ละข้างอยู่ลอยอยู่บนอากาศว่า swing time เขาว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนวิ่งเร็วหรือวิ่งช้า ที่อัตราเร็วสูงสุดที่คุณวิ่งได้นั้น swing time ของคุณก็เท่ากับ swing time ของ Bolt ตอนที่แกวิ่งเร็วสุด อันนี้จึงเป็นปัจจัยสำหรับขีดจำกัดอัตราเร็วสูงสุด เคยเห็นเปเปอร์สักอันแวบ ๆ ประมาณเอาไว้ ยังไงคนเราก็ไม่มีทางวิ่งได้เร็วกว่า 65 km/hr ฉะนั้น เราเดาเวลาต่ำสุดที่อิซุมิสามารถทำได้เอาไว้ที่ 5.5 วินาทีละกัน เพราะยังไงซะร่างกายยังเป็นคน แถมมิคกี้ก็ไปช่วยแปลงร่างอะไรที่ขาไม่ได้ :P

เล่ม 8

มิคกี้ "ฉันนะเกลียดมนุษย์ที่พูดว่าทำเพื่อโลกอย่างไม่อายปากจริง ๆ เพราะโลกนะ ไม่ได้ร้องไห้หรือหัวเราะตั้งแต่แรกแล้ว เพราะสิ่งมีชีวิตแรกสุดที่เกิดมาบนโลกเกิดมาจากไฮโดรเจนซัลเฟตเดือด ๆ นี่นา"


bottom of page