top of page

Neuroscience and the Law


หนังสือถกผลกระทบต่อกฎหมายเนื่องจากความรู้ neuroscience ที่ก้าวหน้าขึ้นทุกวัน เราอาจเริ่มต้นด้วยคำถามโด่งดังของวิทเก้นชไตน์ "จะเหลืออะไรอยู่เมื่อลบข้อเท็จจริงที่ว่าแขนของผมกำลังยกขึ้นออกจากผมยกแขน" Stephen J. Morse หนึ่งในผู้เขียนชอบเล่นมุกนี้เวลาบรรยาย เขาขอให้ผู้ฟังยกมือ แล้วถามว่าทำไมคุณถึงยกมือ แน่นอน มันต้องมีปัจจัยทางกายภาพที่สนับสนุนให้แขนยกขึ้น ขณะเดียวกันคุณจะได้คำตอบอื่น ๆ อีก เช่น เพราะผู้ฟังเชื่อว่าการยกมือเป็นการให้ความร่วมมือที่ทำให้งานบรรยายวันนี้ลุล่วงไปด้วยดี เขาจึงยกมือ ความเชื่อ ความปรารถนา ความจงใจ เซ็ตของนามธรรมเหล่านี้เล่นบทเป็นเหตุของการกระทำ นี่คือโครงสร้างของโมเดลที่กฎหมายนิยามคน และทำให้คำตอบของคำถามของวิทเก้นชไตน์คือเซ็ตของนามธรรมดังว่า พูดอีกอย่าง กิริยาเอามีดกรีดอกคนอื่นไม่เพียงพอที่จะใช้บอกว่าเขาเป็นหมอหรือเป็นฆาตกร ทีนี้ ลองนึกถึงกรณีของชาร์ลส์ วิทแมน ที่ก่อเหตุฆ่าแม่ ฆ่าเมีย แล้วปีนขึ้นไปบนดาดฟ้ามหาวิทยาลัยเท็กซัสในออสติน เขายิงคนตายบาดเจ็บอีกเพียบก่อนถูกนายตำรวจแม็คคอยยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ถ้าเขาไม่ตายวันนั้น ความผิดของเขาจะถูกตัดสินแตกต่างออกไปไหม เพราะเมื่อหลังจากผ่าศพนายวิทแมน หมอพบก้อนเนื้อใต้ทาลามัสที่กดทับส่วนอมิกดาลาซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และการเข้าสังคม และเรารู้ว่าเขาควบคุมก้อนเนื้อในสมองไม่ได้ ไหนล่ะเซ็ตของความเชื่อ ความปรารถนา ความจงใจ เป็นต้น ความรู้ neuroscience จะเล่นบทสำคัญในการนิยามคนและส่งผลกระทบต่อกฎหมายแน่ ๆ ด้านไหนและอย่างไรนั้นเป็นเรื่องในภาพกว้าง ๆ ที่หนังสือเล่มนี้อภิปราย

ความคิดเกี่ยวกับ free will เป็นอีกความคิดหนึ่งที่สำคัญ และหลายบทความในเล่มอ้างถึงงานของเบนจามิน ลิเบท งานชิ้นนี้มีต้นกำเนิดจากตอนปลายทศวรรษ 1970 ที่ลิเบทถกกับจอห์น เอคเคิลส์ (นักสรีรวิทยารางวัลโนเบล) ซึ่งเอคเคิลส์พูดถึง readiness potential (ศักย์ไฟฟ้าเตรียมพร้อม) จะเกิดในสมองก่อนการกระทำที่ไม่ถูกบีบบังคับใด ๆ เอคเคิลส์เชื่อว่านี่เป็นสัญญาณของ free will ทำให้ลิเบทกลับไปทดลอง และพบว่า ก่อนที่คนจะรู้ตัวว่าฉันอยากทำอะไร สมองของเรารู้ตัวมาก่อนหน้านั้นแล้ว และรู้ก่อนนานเสียด้วย นั่นคือ เราถูกเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้วสำหรับสิ่งที่เราเชื่อว่าเราจะตัดสินใจกระทำตั้งแต่ก่อนเราตัดสินใจกระทำ แต่งานนี้ก็ยังมีช่องว่างให้ free will ผ่าน vetoing power ซึ่งรามจันทรันเรียก free won't ทำนองเดียวกับทฤษฎีเจตจำนงเสรีของจอห์น ล็อก แต่กระนั้น ผู้เขียนส่วนใหญ่ที่พูดถึงประเด็นนี้ดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกันว่า การมีหรือไม่มี free will สามารถแยกพิจารณากับเรื่องความรับผิดชอบได้ Morse ถึงกับใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของบทความโต้แย้งให้กับ compatibilism และบอกว่า free will หรือความเป็นเหตุไม่ใช่เกณฑ์สำหรับความรับผิดชอบ

ประเด็นอื่น ๆ อาทิ ความน่าเชื่อถือ/ความแม่นยำของเครื่องมือ ถ้าเครื่องมือทาง neuroscience สามารถใช้บอกได้ว่าคนนี้โกหก หรือคนนี้มีอคติ ความน่าเชื่อถือระดับไหนคือระดับที่เรายอมรับได้ false positive, false negative เท่าไร ประเด็นความเป็นไปได้ที่จะเอาข้อมูล neuroscience มาใช้อย่างผิด ๆ กีดกันคนเข้าทำงาน กีดกันนักเรียนเข้าโรงเรียน คล้าย ๆ หนังเรื่องกัตตาก้า แต่ไม่ใช่แค่ข้อมูลด้านพันธุกรรม มีข้อมูลสถานะปัจจุบันของสมองร่วมด้วย

หนังสืออ่านสนกและกระตุ้นความคิด


bottom of page