top of page

Social Physics


Pentland ว่า เราจำเป็นต้องมองสังคมในฐานะโครงข่ายของอันตรกิริยาระว่างปัจเจกแทนที่จะคิดถึงมันแบบเป็นตลาดหรือชนชั้น และการมองในลักษณะโครงข่ายแบบนี้นั้น แกได้เสนอ framework เรียกว่าฟิสิกส์เชิงสังคม (social physics) ซึ่งช่วยแสดงให้เห็นว่า การไหลของความคิดจากคนหนึ่งสู่อีกคนจะส่งผลกระทบต่อบรรทัดฐาน ปริมาณผลผลิต และความคิดสร้างสรรรค์อันเป็นผลลัพธ์ของบริษัท เมือง และสังคมได้อย่างไร Pentland เปรียบเทียบแบบนี้ครับ ทำนองเดียวกับความเข้าใจว่าการไหลของพลังงานสามารถเอาไปใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนที่ในทางฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงสังคมก็อาศัยความเข้าใจการไหลของความคิดและ information ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรม โดยแก่นแล้วนั้น ฟิสิกส์เชิงสังคมเป็นโมเดลทางสถิติ ฉะนั้นจึงเป็น quantitative social science หมายความว่า ผลลัพธ์จะโมเดลเหล่านี้จะต้องใช้ทำนายพฤติกรรมบางอย่างที่สนใจในเชิงปริมาณได้ โมเดลจะแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงคณิตศาสตร์ระหว่างการไหลของความคิดกับพฤติกรรมของคน คล้าย ๆ กับ Psychohistory ของ Asimov ในนิยายชุด Foundation นั่นแหละฮะ จะว่าไป psychohistory ของกาแล็กติกเอ็มไพร์อาจจะเป็นยุคเบ่งบานของ social physics ก็เป็นได้ Pentland ได้ยกตัวอย่างการทดลองจำนวนมากว่า แค่รูปแบบโครงข่ายของการติดต่อสื่อสาร เช่น ใครคุยกับใคร ถี่แค่ไหน นานเท่าไร ในหน่วยงาน ก็เพียงพอที่จะใช้ทำนายปริมาณผลผลิตและความคิดสร้างสรรค์ของหน่วยงาน และเราสามารถปรับเปลี่ยนผลลัพธ์ได้ด้วยการใช้แรงจูงใจ แต่ไม่ใช่ที่ปัจเจกอย่างในแนวคิดแบบเก่า แต่เป็นการใช้แรงจูงใจที่โครงข่าย ไอเดียคือ ถ้าเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่ม เราต้องสร้างแรงกดดันภายในกลุ่ม เช่น ถ้าคุณรู้ว่าเพื่อนบ้านประหยัดพลังงาน ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะประหยัดพลังงาน (เท่าที่เห็นผู้เขียนเอามาอวดนิด ๆ หน่อย ๆ ในหนังสือคณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่ได้ซับซ้อนไปกว่า HMM กับ Bayes) ถ้าเราอยากให้คนกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมบางอย่าง เราก็ให้รางวัลกับเพื่อนของเขาถ้าคนกลุ่มนั้นทำกิจกรรมอย่างที่เราต้องการนั้นมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ รูปแบบของข้อมูลการติดต่อในภาพรวมเมื่อเอามาแสดงบนพื้นที่ทางภูมิศาสตร์สามารถใช้ทำนายได้แม้กระทั่งโอกาสแพร่ระบาดของไข้หวัด ฉะนั้นการออกแบบระบบที่สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้มาใช้และขณะเดียวกันก็ปกป้องความเป็นส่วนตัวของปัจเจกด้วยจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญที่หนังสืออภิปราย

ตัวอย่างเนื้อหา

(2015.2.13) ถ้าจะวิเคราะห์ใครสักคน ให้ดูข้อมูลการโทรศัพท์ สลิปบัตรเครดิต พิกัด GPS ที่อยู่ ฯลฯ ไม่ใช่ดูที่เขาโพสต์บนเฟสบุ๊ก ตัวตนของเขาบอกได้จากนถานที่ที่เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ จากของที่เขาซื้อ ไม่ใช่จากสิ่งที่เขาบอกว่าเขาทำ

(2015.2.19) ในงานศึกษา collective intelligence ของ Pentland และคณะว่าปัจจัยใดส่งผลต่อ performance ของกลุ่ม พบว่า ปัจจัยที่คนส่วนใหญ่คิดว่าจะส่งผลต่อความสามารถของกลุ่ม อาทิ ความเข้ากันได้ แรงจูงใจ และความพึงพอใจ เหล่านี้มิได้เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญเชิงสถิติต่อ performance เลย แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด 2 ตัวคือ 1. ความเท่าเทียมกันในการพูด สำหรับกลุ่มที่คนหยิบมือหนึ่ง (อาจจะเป็นคนที่ฉลาด หรือเป็นคนที่มีอำนาจ) แย่งพูดหมดนั้น collective intelligence จะต่ำกว่ากลุ่มที่ทุกคนมีสิทธิพูดพอ ๆ กัน และ 2. ความสามารถในการอ่านสัญญาณทางสังคมในกลุ่ม นี่คือ social intelligence ของสมาชิกในกลุ่ม กลุ่มที่สมาชิกมี social intelligence สูงกว่า จะมี collective intelligence สูงกว่า

แล้วตอนนี้บ้านเมืองของเราอยู่ในกลุ่มแบบไหนฮะ collective intelligence สูงหรือต่ำ

(2015.2.21) บทที่ 7 หนังสือ Social Physics ผู้เขียนเล่ากลยุทธ์ที่ทำให้ทีม MIT คว้าชัยใน network challenge ของ DARPA ปี 2009

สำหรับเกมนี้ ดาร์ป้าจะปล่อยลูกโป่งแดง 10 ลูก ผูกติดตำแหน่งแน่นอน กระจายทั่วอเมริกา ทีมไหนสามารถบอกพิกัดของลูกโป่งทั้ง 10 ได้ก่อนและถูกต้อง ทีมนั้นชนะ ทีมที่ชนะจะได้เงินรางวัล 40,000 เหรียญ ทีมของโปรเฟสเซอร์ Pentland สามารถบอกตำแหน่งของลูกโป่งถูกต้องทั้งหมดด้วยเวลาเพียง 8 ชั่วโมง 52 นาที 41 วินาที และวิธีที่แกใช้ก็ดูง่าย ๆ ธรรมดา ๆ ปรัชญาในงานของแกเป็นคีย์เวิร์ดที่ทำให้ทีมชนะนะครับ นั่นคือให้ความสำคัญกับ information flow ฉะนั้น กลยุทธ์ที่ใช้จึงสนับสนุนให้เกิด information flow เยอะ ๆ แกมองว่าลูกโป่งของดาร์ป้าก็คล้าย ๆ กับ multi-level marketing แกให้รางวัลความสำเร็จลูกโป่งลูกละ 4,000 เหรียญ โดยแบ่ง 2,000 เหรียญให้กับคนที่สามารถบอกตำแหน่งได้ถูกต้อง และอีกครึ่งหนึ่งให้กับ up-line คือคนที่ส่งคำเชิญไปยังคนที่บอกคำตอบถูกต้องเข้ามาร่วมทีม โดยแบ่งครึ่งของ 2,000 ไปเรื่อย ๆ ตามลำดับชั้นและจำนวนชั้นของ up-line สุดท้าย เงินส่วนที่เหลือบริจาค

เช่น (จากรูปซ้ายมือ) Dave เจอลูกโป่ง เขาก็ได้ 2,000 โดย Carol เป็นคนชวน Dave เข้าร่วมทีม ได้ 1,000 ส่วน Bob ซึ่งเป็นคนชวน Carol อีกที ได้ 500 และ Alice ที่ชวน Bob ได้ 250 (ขณะเดียวกัน อีกสายหนึ่งของ Alice ก็เจอลูกโป่ง ก็ทำให้ Alice ได้ตังค์เพิ่มจากสายนั้นอีก) เงินส่วนที่เหลือถูกนำไปบริจาค (มันจะไม่มีเงินส่วนเหลือ ถ้าสายยาวอนันต์ เพราะอนุกรม 1 + 0.5 + 0.25 + 0.0125 + ... = 2 :P) Pentland บอกว่า ถ้าให้เงินคนที่หาเจออย่างเดียวลูกละ 4,000 จะทำให้ information flow ติดขัด เพราะทุกคนเป็นคู่แข่งกัน นอกจากนี้ การจัดเงินครึ่งหนึ่งเพื่อจ่ายให้กับช่องทาง ยังทำให้คนที่อยู่นอกอเมริกาถูกใช้งานได้ด้วย (จากการวิเคราะห์ภายหลัง พบ 1 ใน 3 ข้อความ tweet ออกนอกอเมริกา) แกเขียนในหนังสือว่า มีประมาณ 2 ล้านคนที่ช่วยกันหาลูกโป่งให้กับทีมของแก นี่ถูกใช้เป็นตัวอย่างว่าแรงจูงใจทาง social network สามารถใช้ในการสร้าง instant organization


bottom of page