
เป็นหนังสือเล่มที่ 2 ของโปรเฟสเซอร์ Kenrick ที่มีโอกาสอ่าน หนังสือเล่มนี้เขียนร่วมกับโปรเฟสเซอร์ Vladas Griskevicius หนังสือเล่มแรกชื่อ Sex, Murder and the Meaning of Life และหนังสือทั้งสองเล่มมีแก่นความเชื่อในจิตวิทยาวิวัฒนาการร่วมกัน จึงทำให้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจไม่เท่าตอนอ่านเล่มแรก ประเด็นของหนังสือสรุปได้ 4 ข้อหลักตามนี้ครับ
(1) การตัดสินใจของคนที่ดูเหมือนไร้เหตุผล (irrational) ซึ่งบางครั้งทำให้คำนายผ่านโมเดลทางเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกที่ตั้งสมมติฐานกับความมีเหตุผลของคนดูจะใช้การไม่ได้นั้น แท้จริงแล้วมีเหตุผลระดับลึก เป็น deep rationality อันเป็นผลพวงมาจากการแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดที่บรรพบุรุษโฮโมเซเปี้ยนของเราใช้ และได้รับรางวัลผ่านความอยู่รอดนั้นแล้วตกทอดมาสู่เรา (2) ปัญหาเพื่อให้อยู่รอดดังว่า มีหลายมิติ มีหลายจุุดประสงค์ ทำให้เราหรือกลไกทางจิตใจของเรามีโหมดการทำงานหลายโหมด Kenrick เรียกโหมดเหล่านี้ว่า subselves แต่ละโหมดถูกปรับโดยวิวัฒนาการให้เข้ากับปัญหาแต่ละแบบ ฉะนั้นการตัดสินใจของคุณขณะหนึ่ง ๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าโหมดไหนที่เข้ายึดครองความเป็นคุณ ประเด็นนี้ Kenrick แจกแจงว่าเรามี (หรือเราคือ) 7 subselves (3) สำหรับพฤติกรรมใด ๆ จะมีเหตุผลรองรับอยู่ 2 ระดับ ผู้เขียนใช้ศัพท์ว่า proximate reason กับ ultimate reason ตัวแรกเป็นเหตุผลระดับพื้นผิวว่าทำไมเราทำแบบนั้นแบบนี้ ตัดสินใจอย่างนั้นอย่างนี้ ขณะที่ตัวหลังเป็นเหตุผลจากสมองที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษและเป็นเหตุผลเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างเชิงวิวัฒนาการ และเราไม่อาจเข้าถึง ultimate reason ในระดับจิตสำนึก เราเชื่ออย่างจริงใจใน proximate reason ตัวอย่างการทดลอง Griskevicius "รักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนเห็น" (going green to be seen) ทำไมคุณเลือกซื้อพริอุส ระบบไฮบริด เป็น proximate แต่ไม่ใช่ ultimate reason (4) ความสำเร็จทางวิวัฒนาการดึงดูดปรสิต ตัวอย่างเช่น โฆษณาที่ไม่ได้พูดถึงฟังก์ชั่นของสินค้า เราไม่ซื้อรถเพียงเพราะมันพาเราจากจุด A ไปยังจุด B ไม่ซื้อรองเท้าเพียงเพราะปกป้องตีน ฯลฯ โฆษณาเหล่านี้ปลุกโหมดบางโหมดในตัวเราขึ้นมาเพื่อเพิ่มราคาเพราะสนองความต้องการของโหมดนั้น เครื่องดื่มบางยี่ห้อมีระดับตั้งแต่จับแก้ว นักเขียนบางคน หนังสือบางเล่ม ช่วยเสริมสถานะให้เราได้ เราจึงถ่ายรูปลงเฟสบุ๊ก หรือ ... เขียนรีวิว :P
ตัวอย่างเนื้อหาในหนังสือ: Modern Cavemen
ท้ายบทที่ 5 Modern Cavemen โปรเฟสเซอร์ Kenrick มีประเด็นน่าสนใจ เริ่มจากคำถามฮิตของ Kahneman กับ Tversky ที่ให้จินตนาการถึงการระบาดของโรคที่คาดว่าจะฆ่าคน 600 คน โดยมีแผนรับมือการระบาดดังกล่าวอยู่ 2 แผน แผนเอ ถ้าใช้แผนนี้จะช่วยชีวิตคนได้ 200 คน แผนบี ถ้าใช้แผนนี้ จะมีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะรักษาชีวิตคนทั้ง 600 คนเอาไว้ และมีโอกาส 2 ใน 3 ที่ไม่ช่วยชีวิตใครเลย Kahneman พบว่าคนส่วนใหญ่ (72%) เลือกแผนเอ ในทางสถิติ ค่าคาดหมายของทั้ง 2 แผนเท่ากัน คือ ช่วยชีวิตคนได้ 200 คน แต่ก็โอเค ถ้าจะมองว่าคนเราชอบอะไรที่แน่นอนชัดเจน เพราะช่วยคนชัวร์ ๆ 200 คนก็ฟังดูดีกว่ามีโอกาส 1/3 ช่วยคน 600 คน ฟังขึ้นใช่มั้ยฮะ แล้วก็ดูเหมือนไม่มีอะไรไม่สอดคล้องกับ common sense จุดหักมุมอยู่ตรงนี้ ต่อมา Kahneman เปลี่ยนโจทย์ใหม่นิดหน่อย แผนเอ ถ้าใช้แผนนี้จะทำให้คนตาย 400 คน แผนบี ถ้าใช้แผนนี้ มีโอกาส 1 ใน 3 ที่จะไม่มีใครตาย และมีโอกาส 2 ใน 3 ที่ทั้ง 600 คนจะตายหมด ในมุมมองของคณิตศาสตร์ โจทย์ 2 ข้อนี้ไม่แตกต่างกันเลย เหมือนกันเป๊ะ แต่ Kahneman พบว่า คนส่วนใหญ่ (78%) เลือกแผนบี เกิดอะไรขึ้น จากผลการทดลองนี้ Kenrick บอกว่า นักวิจัยส่วนใหญ่พูดถึงมันในฐานะ hallmark ของ human irrationality พอถูกชี้นำในมุมของการสูญเสีย เราชอบที่จะเลือกความไม่แน่นอนในการสูญเสียอย่างนั้นเหรอ
จุดหักมุมที่ 2 อยู่ที่งานของ X.T. Wang ฮะ สิ่งที่ Wang ทำ เหมือนสิ่งที่ Kahneman ทำแทบทุกอย่าง เพียงเปลี่ยนตัวเลขจาก 600 เป็น 60, เปลี่ยนเลข 200 เป็น 20, และเปลี่ยนเลข 400 เป็น 40 เท่านั้นเอง Wang พบว่า พอเปลี่ยนให้จำนวนคนลดลง กรอบคำถามที่ชี้นำว่าช่วยชีวิตหรือทำให้คนตายที่เคยมีผลต่อการตัดสินใจของคนในงานของ Kahneman กลับไม่มีผลอะไรเลยในงานของ Wang Kenrick ใช้เรื่องนี้สรุปประเด็นว่า เพราะสมองของเราสืบทอดมาจากสมองของบรรพบุรุษที่เข้าใจและตีความการมีอยู่ของกลุ่มเก็บผลไม้ป่าล่าสัตว์ที่มีจำนวนอย่างมากก็ไม่เกิน 100 คน ความคิดเกี่ยวกับคนจำนวนมากจึงยังเป็นอะไรที่ใหม่ในเชิงวิวัฒนาการ irrationality ดังว่าเพราะสมองโบราณของเราอยู่ในโลกสมัยใหม่ เหมือนลูกเต่าแรกดูโลกที่ฟลอริด้าหาเรื่องเดินข้ามถนนไปให้รถชนตายแทนที่จะคลานลงทะเลเพราะวิวัฒนาการทำให้พวกมันมุ่งหน้าไปสู่แสงไฟ