top of page

keep/hold something at bay


เมื่อวาน (2555.7.7) เบียร์สิงห์หยิบหนังสือไฟในประวัติศาสตร์มนุษย์ (แปลจาก Catching Fire: How Cooking Made Us Human) ไปอ่านระหว่างรอกินข้าว แล้วถามว่า ประโยคนี้แปลว่าอะไร สิงโตมันปาก้อนหินได้ด้วยเหรอ "อาจเป็นไปได้ว่าบรรพบุรุษพวกนี้พบซากสัตว์โดยการเฝ้าดูว่าพวกเหยี่ยวบินโฉบลงมาที่ใด แต่สำหรับพวกสัตว์อื่น ๆ ทีเป็นผู้ล่า เช่น สิงโตเขี้ยวดาบ น่าจะมีวิธีล่าสัตว์ที่ท้าทายมากกว่าบรรพบุรุษของเรา เช่น การทำงานเป็นทีมน่าจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกมัน ตัวที่อยู่ในกลุ่มที่ออกไปล่าก็จะปาหินใส่เหยื่อตัวที่ขี้กลัว ในขณะที่ตัวอื่น ๆ ก็จะคอยฉีกเนื้อเป็นชิ้น ๆ จากนั้นทุก ๆ ตัวก็จะออกมาหาที่ที่ปลอดภัยและกินเนื้อที่หามาได้พร้อม ๆ กัน" หน้าที่ 19 ตอนผมอ่านเองนี่ หลุดผ่านไปหน้าตาเฉยเลย พอถูกทักและอ่านอีกทีก็งงเหมือนกัน สิงโตปาหิน? แถมยังกินแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในที่ปลอดภัย กลัวละมั่งจะออกมาแย่งหรือไงฮะ ลองตรวจสอบหน่อย โชคดีในแอมะซอนมีตัวอย่างหน้า 7 ให้อ่าน ซึ่งตรงกับหน้าที่ 19 ฉบับแปล "... where vultures swooped down. Predators such as sabertoothed lions brought challenges. Teamwork might have been necessary, with some individuals in a hunting party throwing rocks to keep fearsome animals at bay while others quickly cut off hunks of meat before all retired to eat in a defensible site." พออ่านภาษาอังกฤษแล้วผมวาดภาพได้คนละภาพเลยแฮะ ... หลังจากที่เจอซากสัตว์จากตำแหน่งที่บรรดาคุณแร้งโฉบลงมา คนที่จะเอาซากมากินเนี่ยนะ จะเจออุปสรรคหรือพบคู่แข่งสำคัญ นั่นคือสัตว์ที่เป็นผู้ล่าอย่างเช่นสิงโต ฉะนั้นการทำงานเป็นทีมของคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนส่วนหนึ่งในกลุ่มออกล่าสัตว์ก็ต้องแบ่งหน้าที่มาเป็นฝ่ายปาหินใส่พวกสัตว์ที่น่ากลัวเพื่อ keep fearsome animals at bay (หมายถึง เพื่อให้มันอยู่ห่าง ๆ รักษาระยะห่าง) ระหว่างที่คนอื่นในกลุ่มรีบเข้าไปตัดเนื้อชิ้นใหญ่แล้วออกไปหาที่ปลอดภัยกินกัน และคำว่า fearsome animals หมายถึง สัตว์ที่น่ากลัว ไม่ใช่สัตว์ที่ขี้กลัว คำว่า fearsome เป็น adj หมายถึง ที่ทำให้เรารู้สึกกลัว สิงโตปาหินเล่นซะท้องแข็ง พูดโดยรวม หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาดีมากครับ


bottom of page