top of page

The Recollections of Eugene P. Wigner as told to Andrew Szanton


เดือนธันวาคมปี 1963 ระหว่างเยี่ยมห้องปฏิบัติการแห่งชาติโอ๊คริดจ์ มีหลายคนเข้ามาขอจับมือแสดงความยินดีกับ ดร. วิกเนอร์ "ขอบคุณมากครับ ... ว่าแต่ยินดีกับผมเรื่องอะไรกัน" ยูจีน วิกเนอร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ตอนแรกแกก็ไม่เชื่อ พอหลายคนเข้า คงไม่ผิดล่ะ กลับบ้าน เปิดซองจดหมาย จึงได้เห็นข้อความยืนยันข่าวรางวัล วิกเนอร์พูดถึงความรู้สึกว่า "การได้รับรางวัลยังความยินดีใหญ่หลวงมาให้ กระนั้น ผมสงสัยนะครับว่าตัวเองทำอะไรลงไปคู่ควรรางวัลนี้ ชวนให้นึกถึงสุภาษิตเยอรมันเก่าแก่ คนโง่คนหนึ่งมีโชค"

คุณคิดว่าเขาเป็นคนยังไงฮะ สุภาพ ถ่อมตัว หนังสือชีวประวัติจากบทสัมภาษณ์ที่วิกเนอร์ให้ไว้กับ Andrew Szanton เล่มนี้เปิดเผยแง่มุมความคิดส่วนตัวในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ความรักในฟิสิกส์ คนรอบข้าง เพื่อน ความเป็นฮังกาเรียน การเมือง การมองโลก โดยเฉพาะประเด็นโครงการแมนฮัตตันที่มักจะถูกเล่าผ่านสายตาของคนนอก ซึ่งเป็นภาพที่ผิดไปจากภาพผ่านสายตาของคนใน เวลาแกเล่าถึงใคร จะไม่อ้างว่าสิ่งที่เล่ามีความเป็นสากล แต่บรรยายสิ่งที่เขาเห็นและคิดว่าเป็นเช่นไร การอ่านเล่มนี้จึงเหมือนได้รับสิทธิ์เข้าไปนั่งอยู่ในจิตใจของวิกเนอร์ จิตใจที่มองโลกอย่างที่มันเป็น เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ มีความอ่อนน้อมอยู่ในที และมีความหวัง ตอนแรกที่มีคนขอทำหนังสือชีวประวัติ แกไม่ยอมนะครับ เหตุผลเพราะตัวเองไม่ใช่คนสำคัญและอยากให้ชื่อค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจ เพราะคิดถึงเรื่องอื่นที่อยากเล่า นั่นคือ เรื่องของเพื่อนและเรื่องของความรักในฟิสิกส์ สองเรื่องนี้เป็นแก่นของหนังสือ แต่ขณะเดียวกัน การพูดถึงมันก็เปิดเผยตัวตนของผู้พูดออกมาชัดเจน

ตัวอย่างระหว่างอ่านที่เคยนำไปเขียนลง facebook

1. ใน The Recollections of Eugene P. Wigner ประเดิมเหตุการณ์แรกด้วยการเล่าเรื่องการทดลองควบคุมปฏิกิริยาลูกโซ่ของแฟร์มีที่ชิคาโก้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กแมนฮัตตัน เพียงสิบปีหลังจากแชดวิกพิสูจน์การมีตัวตนของนิวตรอน แฟร์มีก็ควบคุมปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ได้แล้ว วันนั้น วิกเนอร์แอบถือไวน์เคียนติเตรียมไปแสดงความยินดีด้วย ทำไมต้องเคียนติ แกเล่าว่าฤดูร้อนปี 1913 ตอนที่ยังอายุ 10 ขวบ แกเปิดซิงกับไวน์นี้ที่เวนิซ ถึงแม้จะจิบเพียงน้อยนิดแต่รสยังติดลิ้นมาจนทุกวันนี้ พอแฟร์มีรับขวดไวน์ ถามหาแก้วกระดาษ แจกจ่าย เขาเป็นแรกที่ลงชื่อที่ขวด ส่งขวดต่อไปให้คนอื่น ๆ ลงชื่อตาม วิกเนอร์บรรยายช่วงเวลานี้ผสมผสานกันทั้งความยินดีและความตระหนกที่พลังงานนิวเคลียร์ถูกสร้างได้ง่ายดายซะเหลือเกิน

2. ตอน 11 ขวบ วิกเนอร์ป่วยเนื่องด้วยปอด อาจเป็นวัณโรค แต่หมอยังไม่ฟันธง ถูกส่งไปพักตัวบนภูเขาเมืองไบรเท่นชไตน์ ออสเตรีย ระหว่างพักรักษาตัว เด็กชายวิกเนอร์หันหน้าเข้าหาคณิตศาสตร์ เชื่อว่าอีกไม่ช้าก็คงตาย ผ่านไปหกสัปดาห์ หมอบอกว่าไม่ใช่วัณโรคล่ะ กลับบ้านได้ ยูจีน วิกเนอร์เล่าในภายหลัง เขาได้เรียนรู้ว่า ชีวิตนี้สั้นนัก

3. ผู้ชายในรูปนี้คือ László Rátz คุณครูสอนเลขโรงเรียนมัธยมที่ยูจีน วิกเนอร์ ชื่นชมและกล่าวถึงในตอนที่ 4 วิกเนอร์ว่า Rátz เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของครูที่ดี 3 ประการ รักการสอน รู้เรื่องที่สอน และจุดไฟในใจนักเรียน อันที่จริงแกรักการสอนถึงขั้นลาออกจากงานบริหารเพื่อให้ได้ทุ่มเทกับการเป็นครูอย่างเต็มที่ หากเห็นเด็กคนไหนมีแวว ก็จะติวเข้มให้ฟรี ๆ ด้วย เด็กชายจอห์น ฟอน นอยมันน์ เป็นหนึ่งในนั้น ฟอน นอยมันน์เป็นรุ่นน้องวิกเนอร์หนึ่งปี แต่วิกเนอร์ว่าภูมิปัญญาคณิตศาสตร์ของนอยมันน์นั้นล้ำกว่าเขาถึง 2 ปี (อันนี้เด็กมัธยมเขาประเมินกันนะฮะ) ถึงแม้คุณครู Rátz จะไม่ได้จับวิกเนอร์มาติวแบบนอยมันน์ แต่ก็ให้วิกเนอร์ยืมหนังสืออย่าง Analytic Geometry ของเฮสเสและอีกหลาย ๆ เล่มอ่าน ก่อนหน้านั้น เด็กชายวิกเนอร์ประทับใจกฎทางคณิตศาสตร์ข้อหนึ่ง คือ กฎกำลังห้า ว่า เลขโดดยกกำลัง 5 จะได้ผลลัพธ์หลักสุดท้ายเท่ากับเลขนั้น เช่น 2^5 = 32, 3^5 = 243, 4^5 = 1024, ... ในหนังสือเล่มหนึ่งที่คุณครู Rátz ให้ยืมพูดถึงทฤษฎีบทเล็กของแฟร์มาต์ (ถ้า p เป็นจำนวนเฉพาะ และ a เป็นจำนวนเต็มใด ๆ แล้ว a^p - a เป็นจำนวนเต็มเท่าของ p เช่น a = 2, p = 5, 2^5 = 32, 32 - 2 = 30 = 6 x 5) พออ่านทฤษฎีบทนี้ปุ๊บ วิกเนอร์ใช้มันพิสูจน์กฎกำลังห้าได้ทันที

หนังสือไม่ได้เล่าว่าวิกเนอร์ทำยังไง แต่ด้วยความรู้ของเราที่มากกว่าเด็ก 10 ขวบ เชื่อว่าใครที่อ่านถึงบรรทัดนี้ก็น่าจะพอเดาได้ :)) ผมเดา จาก ทบ.เล็กของแฟร์มาต์ d^5 = 5n+d และ 5n ต้องเป็นจำนวนคู่ เพราะ d^5 เป็นจำนวนคู่ เมื่อ d เป็นจำนวนคู่ และ d^5 เป็นจำนวนคี่ เมื่อ d เป็นจำนวนคี่ ฉะนั้น 10 หาร 5n ลงตัว ทำให้หลักหน่วยของ 5n+d คือ d

4. วันหนึ่ง วิกเนอร์นอนแผ่บนสนามหญ้าข้างสระว่ายน้ำเทศบาลที่เกิททิงเง่น มีนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อเฮคมานนั่งอยู่ข้าง ๆ เฮคมานเห็นมดแดงจำนวนมากไต่บนขาข้างหนึ่งของเขา ด้วยความประหลาดใจที่วิกเนอร์ยอมให้มดไต่ จึงถามว่ามดไม่กัดเหรอ

"กัดสิ" "แล้วทำไมไม่บี้มันล่ะ" "ก็...ผมไม่รู้ว่าตัวไหนกัดนี่ครับ"

5. มีอยู่วันหนึ่งหลังจากฟังไอน์สไตน์พูดเรื่องทฤษฎีสนามรวม วิกเนอร์ เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ พร้อมกลุ่มเพื่อน ๆ ชวนกันไปเดินเล่นที่สวนสัตว์ วิกเนอร์เห็นเทลเลอร์หงอย ๆ

"เป็นไรไป" "รู้สึกโง่หวะ" เทลเลอร์ตอบ

ถามไปถามมาค้นพบสาเหตุว่า เป็นเพราะเทลเลอร์ตามเล็กเชอร์วันนั้นของไอน์สไตน์ไม่ทัน หลังจากใคร่ครวญคำตอบพักหนึ่ง วิกเนอร์พูด "ก็จริง ความโง่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคน" เทลเลอร์พอใจคำตอบนี้นะฮะ อาจเพราะไม่ค่อยได้ยินใครว่าแกโง่มั้ง (ถึงบรรทัดนี้ บางคนรู้จักเทลเลอร์ดีอยู่แล้ว และรู้ว่าการแปะป้ายโง่ให้เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ นี่เป็นอะไรที่ชวนขนลุกอยู่ แต่ถ้าไม่รู้จัก เทลเลอร์คือพ่อของระเบิดไฮโดรเจน และเป็น 1 ใน 4 จตุรเทพแห่งบูดาเปส มีซิลาร์ดเป็นพี่ใหญ่ เพราะแก่กว่าเพื่อน คนนี้จดสิทธิบัตรตู้เย็นร่วมกับไอน์สไตน์ ไอเดียเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ก็แกนี่แหละ คนที่สองวิกเนอร์ คนที่สามฟอน นอยมันน์ คนที่สี่เด็กสุดคือเทลเลอร์ที่บ่นว่าตัวเองโง่อยู่นี่ วิกเนอร์มักพูดถึงพี่น้อง 3 คนนี้ในฐานะเด็กอัจฉริยะ ส่วนตนนั้น มาจากเด็กธรรมดา ๆ) ข้อความที่วิกเนอร์บรรยายตามมาน่าประทับ เขาว่า พวกเราทุกคนโง่เมื่อเปรียบเทียบกับอุดมคติ หมายถึง คนที่จำได้ทุกเรื่อง ซึมซับข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ได้ทันทีทันใด และพิจารณาตัดสินมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นไม่ใช่คนล่ะ แล้วพูดต่อว่า คนโง่ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมได้ การเปิดใจกว้างสำหรับเรื่องใหม่ ๆ หรือเรียนรู้ได้ไวปานสายฟ้าหาสำคัญเท่าการกัดปัญหาไม่ปล่อยไม่ ถึงตรงนี้ ถ้าคุณเคยอ่านประวัติไอน์สไตน์ คงจำได้ว่าไอน์สไตน์ก็บรรยายจุดแข็งเรื่องกัดปัญหาไม่ปล่อยของตัวเองไว้เหมือนกัน

6. ปี 1936 พรินซ์ตันไม่ต่อสัญญากับวิกเนอร์ เพราะถูกโปรเฟสเซอร์กลุ่มหนึ่งในมหาวิทยาลัยอิจฉา เป่าหูนายใหญ่ และเป็นการไม่ต่อสัญญาที่ไม่แจงเหตุผลใด ๆ ด้วย แกว่าตอนนั้นโกรธมากนะฮะ แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรได้นอกจากหางานใหม่ งานใหม่ในช่วงปี 30 นี่ก็ใช่จะง่าย เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ วิกเนอร์เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ฟอน นอยมันน์ ฟัง ทางนอยมันน์ก็ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ แต่ไม่แสดงอาการหรือแสดงอารมณ์อย่างที่คนทั่วไปพึงแสดงหลังจากได้ยินเรื่องไม่ชอบธรรม วิกเนอร์ว่า นั่นสะท้อนตรรกะอันเด็ดเดี่ยวภายในจิตใจของเขาและแสดงถึงอิทธิของมันต่อการประเมินและตัดสินทางศีลธรรม นักคณิตศาสตร์ยอมรับแอ๊กเซี่ยม ฟอน นอยมันน์รักแอ๊กเซี่ยมและเคยพูดว่า "การโทษว่าเป็นเพราะคนเราเห็นแก่ตัวและเชื่อไม่ได้นี่เป็นอะไรที่โง่มาก ก็เหมือนกับการโทษว่าสนามแม่เหล็กไม่เพิ่มขึ้นนอกจากสนามไฟฟ้าเกิดในทิศหมุนวนนั่นแหละครับ ทั้งคู่เป็นกฎของธรรมชาติ"

สุดท้าย วิกเนอร์ออกจากพรินซ์ตันไปวิสคอนซิน ความรักอเมริกาและรู้สึกว่าเป็นอเมริกันครั้งแรกเกิดขึ้นที่นี่ เมียคนแรกก็ได้ที่นี่ อะมีเลีย แฟรงค์เป็นลูกศิษย์ของแฟน ฟแล็ค (J. H. van Vleck) แต่น่าเสียดาย ชีวิตคู่กลับแสนสั้น ไม่นานเมียป่วยตาย ช้ำใจอีกรอบ ช่วงนั้นพรินซ์ตันอยากได้แฟน ฟแล็ค ไปร่วมงานพอดี แต่แฟน ฟแล็ค ไม่เอาพรินซ์ตัน เลือกฮาร์วาร์ด พอถูกถามความเห็นว่าใครที่พรินซ์ตันควรจะเชิญแทนที่แฟน ฟแล็ค เขาตอบโดยไม่ลังเล ยูจีน วิกเนอร์

ปี 1938 วิกเนอร์ยอมรับคำเชิญกลับพรินซ์ตัน นี่ถ้าเมียไม่ตาย แกว่าไม่กลับนะ และถ้าไม่ถูกพรินซ์ตันไล่ออกตั้งแต่แรก ก็คงไม่ได้เจออะมีเลีย


bottom of page