
หนังสือเล่มนี้พยายามตอบคำถามว่าคุณคือใครในมุมมองของ neuroscience สิ่งที่นิยามตัวคุณคือสิ่งที่คุณคิด หรือจิตสำนึกของคุณใช่หรือไม่? ผู้เขียน David Eagleman บอกว่า จากการศึกษาการทำงานของสมองในปัจจุบัน สิ่งที่เรียกว่าจิตสำนึกนั้นมีอำนาจควบคุมเพียงน้อยนิดต่อจักรกลทางชีวภาพที่สร้างตัวคุณขึ้นมา และพฤติกรรมของคุณไม่อาจเป็นอิสระจากมัน อีกทั้งมีความคิดที่คุณไม่สามารถคิดได้ พฤติกรรมที่เราแสดงออกมานั้นเป็นผลลัพธ์จากการต่อสู้กันของหน่วยที่ขัดแย้งกันและมีความสัมพันธ์กับก้อนเนื้อสมองทางกายภาพ ด้วยความสัมพันธ์ซับซ้อนกับปัจจัยทางกายภาพและสิ่งแวดล้อม มนุษย์เราถูกสร้างขึ้นมาอย่างไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า free will มีหรือไม่ น้ำเสียงของผู้เขียนชัดเจนว่า "ไม่" ด้วยการยกตัวอย่างหลากหลายว่าจิตสำนึกของเรารับรู้ทีหลัง หลังจากกิจกรรมที่มีการตัดสินใจได้เกิดขึ้นแล้วในสมอง (แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งว่า free will อาจมีบทบาทในการยับยั้งการกระทำ หรือ veto power) ในบทท้าย ๆ ของหนังสือจึงเป็นปัญหาที่สืบเนื่องกับ free will โดยตรง นั่นคือมุมมองในแง่ของกฎหมาย คุณจะระบุได้อย่างไรว่าคน ๆ หนึ่งกระทำความผิด ในเมื่อไม่มี free will อ่านมาถึงจุดนี้ผมค่อนข้างโน้มเอียงไปทาง argument ของผู้เขียนมากทีเดียว เพราะประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการค้นหาความถูกผิดเป็นเรื่องของเทคโนโลยี คุณ Whitman หลังจากที่ฆ่าภรรยาและแม่ของตัวเองแล้ว ขึ้นไปบนดาดฟ้าตึกมหาวิทยาลัย Texas ใน Austin ยิงคนตายอีก 13 บาดเจ็บ 33 ต่อมาเมื่อพบจดหมายสารภาพกับไดอารีที่แสดงให้เห็นความรู้สึกถึงความผิดปกตัวในตัวของแกเองที่แกเองก็รู้สึกได้ และเมื่อมีการผ่าตัดสมองของ Whitman คุณหมอพบก้อนเนื้อ (glioblastoma) ใต้โครงสร้างที่เรียกว่า thalamus และกดดันส่วน amygdala (ซึ่งรู้กันว่า การกระทบกระเทือนต่อส่วนนี้ทำให้เกิดความแปรปรวนของอารมณ์และการเข้าสังคม) จากคนปกติธรรมดา ต้องลุกขึ้นมาฆ่าแม่และเมียที่ตัวเองรักเพราะก้อนเนื้อในสมองโดยที่เขาไม่อาจยับยั้งได้ (ลองเปรียบเทียบกับอาการ coprolalia ของ Tourette's syndrome สิครับ free will ที่ไหนก็มายับยั้งการโพล่งคำพูดไม่ได้) แบบนี้คุณคิดว่า Whitman ถ้าไม่ถูกฆ่าตายในที่เกิดเหตุเสียก่อน แกสมควรได้รับโทษขนาดไหน หรือผิดมั้ย กับการที่เขาโชคร้ายมีเนื้องอกในสมอง ในทรรศนะของผู้เขียน การตั้งคำถามว่า Whitman ผิดมั้ย จึงเป็นการตั้งคำถามที่ผิด เพราะถ้าหากเทคโนโลยีของเราไม่ดีพอที่จะตรวจพบเนื้องอกและความรู้เกี่ยวกับ amygdala ยังไม่มี ลูกขุนก็พูดว่าผิดได้เต็มปากอย่างไม่มีข้อค้างคาใจ หาก Whitman ไปเกิดผิดยุค พฤติกรรมต่ำช้านี่ก็กลายเป็นผลงานจากการครอบงำของซาตานไป (อีกกรณีตัวอย่างคือ กรณีของ Kenneth Parks ที่ศาลตัดสินให้ homicidal somnambulism ไม่มีความผิด) และเมื่อเราตระหนักว่าเทคโนโลยีของเราเดินหน้าไปเรื่อย ๆ มุมมองต่อพฤติกรรมของคนที่จะใช้ระบุว่าถูกผิดก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เช่นนี้การถามหา blameworthiness จึงไม่สมเหตุสมผล และเพื่อป้องกันผู้อ่านเข้าใจว่าผู้เขียนปกป้องคนกระทำผิด คุณ Eagleman จึงใช้พื้นที่อีกหลายหน้าในการอธิบายว่าคำถามที่ถูกต้องคืออะไร และการไม่ถามหา blameworthiness ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการจับคนที่กระทำสิ่งเลวร้ายออกจากท้องถนน หรือไม่มีการลงโทษนะ ถ้าคุณสนใจประเด็นนี้ หยิบเฉพาะเนื้อหาในบทที่ 6 มาอ่านก่อนได้เลยครับ หนังสืออ่านสนุก และอ่านง่ายกว่าที่คิดไว้ตอนแรกมาก เป็นหนังสือ pop neuroscience ซึ่งเขียนโดย neuroscientist ที่ไม่มีศัพท์แสง neuroscience มากจนทำให้ผู้อ่านความรู้ ม.ปลาย เบือนหน้าหนี