
ชื่อรอง Forty Tales From the Afterlives อาจชวนให้คิดว่าเป็นเรื่องสยองขวัญ ในบางความหมาย บางเรื่อง จะว่าไปก็สยองขวัญนะครับ แต่ไม่ใช่เรื่องสยองขวัญในความหมายทั่วไป ทั้ง 40 เรื่องจะเริ่มต้นเหมือนกัน คือ สมมุติว่าคุณตาย และตื่นขึ้นมาในโลกหลังความตาย แล้วคุณพบว่าจุดจุดจุด แต่ละเรื่อง คุณจะพบกับประสบการณ์ไม่เหมือนกัน จุดจุดจุดในแต่ละเรื่องของ Eagleman น่าทึ่งมาก กระตุ้นความคิด ปรัชญา และจินตนาการด้วยตัวอักษรเพียงน้อยนิด ไม่มีเรื่องไหนยาวเกิน 4 หน้า ทำให้ผมรู้สึกผิดอยู่นิดหน่อย ที่จะเอาพล็อตของบางเรื่องมาเล่าเสียตรงนี้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงไอเดียของมัน บางเรื่อง จะไม่มีคนแปลกหน้าในโลกหลังความตาย คุณคิดว่าโลกที่ไม่มีคนแปลกหน้าจะทำให้คุณรู้สึกอย่างไร, บางเรื่อง คุณจะพบว่า พระเจ้านั่งร้องให้อยู่ปลายเตียง เพราะทุกคนบนสวรรค์คิดว่าตัวเองอยู่ในนรก เพราะทุกคนอยู่อย่างเท่าเทียมกันบนสวรรค์ นรกปิดให้บริการ ^_^ คุณเห็นด้วยไหม, บางเรื่อง พระเจ้าชอบแฟรงเก้นสไตน์ของเชลลีย์ เพราะรู้สึกว่าเชลลีย์เข้าใจพระองค์ดี, บางเรื่อง พระเจ้าโง่กว่าเรา คิดได้ซับซ้อนน้อยกว่าเรา พระองค์ต้องการทราบความหมายของการดำรงอยู่ จึงสร้างเราขึ้นมาเพื่อหาคำตอบของความหมายนั้น ทำนองเดียวกับเราที่สร้างเครื่องจักรขึ้นมาเพื่อช่วยแก้สมการอนุพันธ์ ใช่ครับ เราเป็นเครื่องจักรของพระองค์ และพระองค์จะถามเราในโลกหลังความตายว่า "คำตอบคืออะไร", บางเรื่อง เราเป็นมะเร็งในร่างกายของพระเจ้า, บางเรื่อง โลกเป็นการพักผ่อนของร่างจริง 9 มิติที่โปรเจกชั่นลงมาบนโลก 3 มิติ เพื่อจะได้สนใจเพียงแค่เรื่องเล็ก ๆ รอบตัว, บางเรื่อง พอเราตาย จุลชีพที่อยู่ในเรามากมายก็แยกย้ายกันไปสวรรค์ ไม่มีสวรรค์สำหรับเรา เพราะพระเจ้าไม่รู้ว่าเรา exist ทั้งนี้เพราะเรา exist ในสเกลที่ใหญ่กว่าพระองค์ พระองค์ exists ในสเกลจุลชีพ ^-^, บางเรื่อง เราอยู่บนสวรรค์ที่มีสงครามศาสนา ไม่ใช่เพราะเหตุพระเจ้าคือใคร แต่เพราะเหตุว่าพระเจ้าอยู่ไหน, บางเรื่อง มองชีวิตก่อนตายของเราเป็น time series ซึ่งประกอบจากเรา ณ ช่วงอายุต่าง ๆ พอเข้าสู่โลกหลังความตาย พระเจ้าดีคอมโพส time series ออกเป็นตัวเราหลาย ๆ ตัวที่แต่ละตัวเราไม่มีเวลาเป็นตัวแปรอิสระ, บางเรื่อง โลกหลังความตายยินยอมให้เราเสพทุกสถานะที่เป็นไปได้ของประสบการณ์พร้อม ๆ กัน รวมถึงสถานะที่ mutually exclusive อย่างเช่น กินกับไม่กินในเวลาเดียวกัน ฯลฯ, พอสำหรับสปอยล์ เชียร์ให้หามาอ่านกันครับ

ช่วงที่กำลังอ่าน Sum เราได้นำความคิดบางอย่างไปเล่าบน facebook 2 ครั้ง
(May 21, 2014) กลับถึงหอเมื่อครู่ เราแวะดูตู้จดหมาย ในตู้จดหมายมีกล่องพัสดุ ในกล่องพัสดุมีหนังสือสองเล่ม เล่มหนึ่งน้องอู๋ฝากซื้อ อีกเล่มเป็นของเรา ไม่ได้ตั้งใจอ่าน แต่ก็พลิกอ่าน จบบทแรก sum ชอบสิ่งที่ Eagleman ชวนคิดมากมาย มากขนาดต้องเอามาพูดถึงเสียทันที ถ้า ณ จุดเริ่มของชีวิตหลังความตาย เราได้เสพประสบการณ์ทั้งหมดของเราในช่วงที่มีชีวิตอยู่ใหม่อีกครั้ง แต่เป็นการเสพต่างลำดับ โดยประสบการณ์อย่างเดียวกันจับกลุ่มรวมกัน เมื่อผ่านมันไปแล้วเราจะไม่เจอกับมันอีกเลยตลอดชีวิตหลังความตายที่มีอยู่ เช่นนั้นจะเป็นเช่นไร ตัวอย่างของ Eagleman สิบแปดเดือนต่อคิว มีเซ็กส์เจ็ดเดือน สิบห้าเดือนหาของหาย อ่านหนังสือหนึ่งปี สองสัปดาห์หมดไปกับความสงสัยว่าชีวิตหลังความตายจะเป็นแบบไหน อาบน้ำสองร้อยวัน สับสนเจ็ดสิบเจ็ดชั่วโมง ห้าสิบเอ็ดวันกับการตัดสินใจว่าจะใส่อะไรดี มันคงเป็นการเริ่มต้นชีวิตหลังความตายที่ [...] เรานึกภาพออกเลยว่าเราจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอะไร และรู้สึกดีที่เราไม่ค่อยเสียเวลาไปกับการโกรธ เกลียดคนโน้นคนนี้เท่าไรนัก
(May 31, 2014) อ่านเรื่องใน sum ของ David Eagleman 2 เรื่อง ทำให้นึกถึงพล็อตเรื่องสั้นที่เราเคยคิดไว้เมื่อราวสิบปีก่อน 2 เรื่อง เรื่องแรกเราเขียนไม่จบ เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งพบผู้หญิงคนหนึ่งในบาร์ที่เล่นเพลง Stranger in Paradise จากเมโลดี้ของ Borodin อยู่เพลงเดียวตลอดทั้งคืน ผู้ชายพยายามทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้หญิง แต่ผู้หญิงดูท่าไม่สนใจอะไรเอาเสียเลย จนกระทั่งใกล้สว่าง ผู้หญิงจึงกระซิบบอกเขาว่า เขาเป็น background ตัวหนึ่งในความฝันของหล่อน และหล่อนกำลังจะตื่น ไอเดียของเรื่องนี้คล้ายกับ The Cast ของ Eagleman ที่ความมีตัวตนของเราผุดขึ้นมาจากความฝันของใครบางคน ปีที่แล้ว ตอนเราอ่าน The Dabba Dabba Tree ของ Yasutaka Ysutsui เราคิดว่า Tsutsui เล่นกับไอเดียนี้ได้เจ๋งกว่าใครเพื่อน
เรื่องที่สอง เราไม่แม้กระทั่งจะลงมือเขียน แต่ตัวละครยังอยู่มาโดยตลอด เป็นเรื่องของเด็กชายคนหนึ่งที่เชื่อว่าเขาจะตายหากไม่มีใครจำชื่อของเขาได้ สุดท้ายก่อนถึงวันที่ไม่เหลือใครอีกแล้ว เขาเจอเด็กอีกคนซึ่งกำลังจะตาย ต่างก็แนะนำตัวกันและกัน แล้วเขาเฉือนเนื้อจากร่างกายของตัวเองแบ่งให้เด็กคนนั้นกิน เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ร่างกายของเขาเหลือเนื้อชิ้นสุดท้าย เขาตาย และอีกไม่นานเด็กอีกคนก็ตาย เพราะว่าเขาเป็นคนสุดท้ายที่รู้ชื่อของเด็กคนนั้นเช่นกัน เรื่องนี้คล้ายกับความตายแบบที่สามใน Metamorphosis จาก Sum ของ Eagleman ความตายที่เกิดขึ้นชั่วขณะหลังจากชื่อของคุณถูกพูดถึงเป็นครั้งสุดท้าย
หมายเหตุ เราคิดว่าเรื่อง Metamorphosis นี้เป็นปัญหา Undecidable ใน Computational Theory เราสามารถรู้ว่าชื่อไหนจะถูกพูดถึงเป็นครั้งสุดท้ายได้จริงหรือ เราจะต้องรอนานแค่ไหน