
ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนเริ่มด้วยคำถามว่าเหตุใดอารยธรรมล่มสลาย (เหมือนคำถามใน Collapse ของ Jared Diamond) คำตอบที่ David ระบุไว้ในบทนำว่าเป็นตัวร่วมของความล่มสลายนั้น ก็อาทิ การระบาดของเชื้อโรค ภัยธรรมชาติ การไหลของข้อมูลข่าวสารที่ไร้ประสิทธิภาพ ความฉ้อฉลทางการเมือง ความพังทลายเชิงเศรษฐกิจ และการหมดไปของทรัพยากร แต่เราโชคดีฮะ เราอยู่ในยุคที่ปัจจัยของความล่มสลายดังกล่าวอาจถูกยับยั้งได้ด้วยเทคโนโลยีตัวหนึ่งซึ่งเป็นพระเอกของเรื่อง คือ อินเทอร์เน็ต ฉะนั้น ความพยายามของ David Eagleman ในหนังสือเล่มนี้คือการโน้มน้าวเราว่า เน็ตสามารถช่วยขจัดภัยคุกคามที่คนรุ่นก่อน ๆ หน้าเคยเจอมาจนนำไปสู่ความล่มสลายของอารยธรรมได้อย่างไร โดยชี้ให้เห็นคุณงามความดีของมันใน 6 มิติ 1. เน็ตช่วยแก้ปัญหาอะไรหลาย ๆ อย่างในเรื่องที่เกี่ยวกับโรคระบาด เชื้อโรคฆ่าคนมากกว่าสงครามทั้งหมดและความอดอยากทั้งมวลรวมกันเสียอีก เพื่อปูพื้นให้เรื่องราวสนุกสนานน่าอ่าน David เริ่มด้วยความสงสัยของนักประวัติศาสตร์ว่า อะไรเป็นปัจจัยให้ Hernando Cortez นำกำลังพลไม่ถึง 600 พิชิต Aztecs ได้สำเร็จ ปืนกับม้า ใช่ แต่ก็แค่ส่วนหนึ่ง สุดท้ายพบว่าเป็นเพราะพาหะไข้ทรพิษ กรณี Francisco Pizarro พิชิต Inca ก็เช่นกัน ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ เราจะเห็นทั้งกาฬโรค ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย เป็นต้น แล้วเน็ตมาช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างไร David ให้คำตอบไว้ 3 ด้าน หนึ่ง ในแง่ของการลด human-to-human contact จากการทำงานทางไกล หรือ telepresence, สอง การวินิจฉัยโรคทางไกล ซึ่งลด density ของ host ที่มากระจุกกันที่โรงพยาบาล ในแง่นี้ การวินิจฉัยโรคทางไกล ไม่จำเป็นต้องใช้กับชนบท แกเสนอว่าต้องใช้กับในเมืองที่มีคนหนาแน่นด้วย และ สาม ในแง่ของ tracking เช่น Google สังเกตพบว่า พอคนป่วย ก็จะเสิร์ชหาคำที่สัมพันธ์กับอาการป่วย พอเรา map ระหว่างตำแหน่งกับคำที่ใช้เสิร์ช มันก็บอกอะไรหลาย ๆ อย่าง และช่วยในการจัดสรรทรัพยากร กระจายยา เป็นต้น 2. เน็ตช่วยปกป้องไม่ให้ความรู้ถูกกวาดล้างได้ง่าย ผู้เขียนก็เล่าตั้งแต่ การเผาห้องสมุดอเล็กซานเดรียของซีซาร์, หนังสือของมายันที่ถูก Hernandez de Cordoba สั่งทำลาย, ภูเขาไฟบนเกาะซันโตรินีระเบิดทำให้เกิดสึนามิถล่มพวกมิโนอัน กวาดล้างความรู้ไปสิ้น แกว่า "Knowledge is hard won but easily lost." แล้วโยงเข้าประเด็น การรักษาความรู้นี่สำคัญนะ ยกตัวอย่างแรก ซึ่งดูสุดโต่งไปสักหน่อย คือ ร่างกายที่มีความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคบางอย่าง จะรับมือกับเชื้อโรคนั้นในภายภาคหน้าได้ดี ก็จริงแฮะ แล้วถอยห่างออกจากมุมมองเชิงชีววิทยา มาสู่ความรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ซึ่งถูกค้นพบซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความรู้เหล่านั้นก็ไม่เคยเดินทางไปไหนได้ไกล และปัญหานี้หมดไปเมื่อมีเน็ต ในแง่ที่เน็ตช่วยเก็บรักษาความรู้นี่คงเข้าใจได้ไม่ยาก ตัวอย่าง ก็พวก digital archive หรือ Google books ในบทนี้ มีข้อความท่อนหนึ่งที่อยากแซวขำ ๆ "News spreads globally at the speed of electrons, and the redundancy makes it difficult to erase." จริง ๆ แล้ว เราว่าอิเล็กตรอนเคลื่อนที่ช้านะ อัตราเร็วของมันขึ้นอยู่กับกระแสไฟฟ้า พื้นที่หน้าตัดของวัสดุตัวกลาง แล้วก็ชนิดของวัสดุ เช่น สายทองแดงรัศมี 0.1 เซ็นติเมตร กระแส 1 แอมแปร์ อิเล็กตรอนตัวหนึ่งเคลื่อนที่ได้ไม่ถึง 9 เซ็นติเมตร ใน 1 ชั่วโมง :P 3. เน็ตช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติเคลื่อนที่เร็วกว่าตัวภัยพิบัติเอง ตัวอย่าง การระเบิดของภูเขาไฟมี 2 เฟส เฟสหลังสร้างความเสียหายมากกว่าเฟสแรก แกให้จินตนาการว่าถ้าปอมเปอีตรวจจับการระเบิดได้ทันทีที่เกิดเฟสแรก แล้วกระจายข่าว ก็สามารถพาคนเดินหนีจากความตายได้ภายใน 2 ชั่วโมง อันที่จริง กรณีน่าเศร้าของปอมเปอีไม่ได้อยู่แค่ที่ความตายเท่านั้น แต่อยู่ที่ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่ามีปอมเปอีอยู่ถ้าไม่ถูกพบโดยบังเอิญ อย่างในปี 1599 สถาปนิกชื่อ Domenico Fontana ก็ไปพบโดยบังเอิญ แต่คนนี้เงียบ แล้วเรารู้เรื่องเกี่ยวกับปอมเปอีอีกครั้งหลังการพบปี 1739 4. เน็ตโดยธรรมชาติของมันเองเป็นสิ่งต่อต้านการรวบอำนาจ เพราะข้อมูลไหลอย่างอิสระ การกระทำทำนองสตาลินลบรูปของทรอตสกี้จะไร้ความหมายในยุคที่เราเสิร์ชรูปผ่านกูเกิ้ลได้ นี่คือความไร้สามารถในการลบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ปรากฏการณ์สไตรแซนด์ ตามชื่อนักร้องบาร์บรา สไตรแซนด์ที่เคยฟ้องร้อง 50 ล้านเหรียญเอากับ Kenneth Adelman ที่เปิดเผยภาพถ่ายทางอากาศบ้านของเธอลงเน็ต Adelman ไม่ยอมลบรูปทิ้ง และข่าวนี้ก็ทำให้จากที่ไม่มีใครรู้ คนก็แห่กันเข้าไปดูไซต์ของ Adelman ความพยายามที่จะกดทับข้อมูลบนเว็บจึงยิ่งเท่ากับเป็นการขยายมัน ตัวอย่างที่ต่อต้านการรวบอำนาจหรือต่อต้านการปกปิด ก็ดูได้ชัด ๆ ได้จาก WikiLeaks การเซ็นเซอร์ของรัฐบาลในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ loyal family ของประเทศเรา ก็ถูกพูดถึงในเล่มนี้ด้วย ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของการไหลของข้อมูลต่อประสิทธิภาพในด้านอื่น ๆ มีพูดถึงแบบเต็มไม้เต็มมือในหนังสือ Social Physics ของ Pentland 5. เน็ตช่วยประหยัดพลังงาน ในอเมริกาช่วงยุคก่อนมีเน็ต เช่นต้นทศวรรษ 1990 การเพิ่มขึ้นของ GDP จะมีความสัมพันธ์ตรงแบบเข้มข้นกับการเพิ่มขึ้นของการบริโภคพลังงาน แต่หลังจากมีเน็ต การบริโภคพลังงานก็เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง คติสอนใจของบทนี้คือ เปลี่ยนอะตอมเป็นบิตช่วยประหยัดพลังงาน และรักษาทรัพยากรไม่ให้หมดเร็วเกินไป ตัวอย่าง เปรียบเทียบ email กับจดหมายกระดาษ, ผลศึกษาของ CEA บอกว่า การซื้อหนังสือ online ใช้พลังงานเพียงแค่ 6% ของการไปซื้อหนังสือที่ร้าน, การโหลดเพลงประหยัดพลังงานกว่าไปซื้อแผ่น CD ถึง 80% ทั้งหมดนี้ได้รวมพลังงานที่บริษัทที่ใช้ส่งของต่าง ๆ จนถึงมือผู้บริโภคแล้วนะ 6. เน็ตช่วยในแง่ของทุนมนุษย์ (ในนิยามของอดัม สมิธ ทุนมนุษย์คือทักษะของแรงงาน) แล้วทุนมนุษย์เกี่ยวข้องกับการล่มสลายของอารยธรรมยังไง David อ้างคำพูดในหนังสือสองเล่ม เล่มแรกของ Joseph Tainter ชื่อ The Collapse of Complex Societies ข้อความตอนหนึ่งว่า "สังคมล่มเพราะพวกมันไม่ปรับเปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาที่ถูกออกแบบไว้ตายตัว" อีกเล่มของ Arnold Toynbee ชื่อ A Study of History ว่า "พวกเขาเจอปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้" ตัวอย่างที่เน็ตช่วยแก้ปัญหาคือในแง่ของ crowdsourcing เช่นเว็บ Fold.it ที่เปลี่ยนปัญหา folding ของโปรตีนเป็นเกมแล้วให้คนเข้ามาเล่น นอกจากการประสิทธิภาพของการแก้ปัญหาตรง ๆ แบบนี้ เน็ตยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ให้นึกถึง MIT's open courseware, Khan Academy, WolframAlpha เป็นต้น บทสุดท้าย David พูดถึงภัยคุกคามต่อเน็ต มี 4 เรื่อง 1. สงครามไซเบอร์ ไวรัส หนอน เป็นต้น, 2. การตัดสายเคเบิ้ลใต้ทะเล ซึ่งเป็นเป้าหมายทางกายภาพที่น่าเกรงกลัวตอนเกิดสงคราม, 3. ภัยจากการเมือง เช่น หลังผลการเลือกตั้งปี 2010 ในอิหร่าน รัฐบาลสั่งตัดเน็ตเป็นเวลา 45 นาที คาดกันว่าติดตั้งตัวกรองพวกยูทูป ทวิตเตอร์ หรือในอียิปต์ปี 2011 ก็คล้าย ๆ กัน แม้แต่ในอเมริกาก็มีการเสนอร่างกฎหมายให้อำนาจประธานาธิบดีมีสิทธิตัดเน็ตได้เพื่อความมั่นคงของชาติ (ตอนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ ร่างดังกล่าวยังไม่ผ่าน), และ 4. solar flares ซึ่งถ้ามันรุนแรงจะทำให้เกิด geomagnetic storms อันเป็นภัยใหญ่หลวงต่อระบบสื่อสาร โดยรวม หนังสืออ่านสนุก มีข้อมูลประกอบข้อโต้แย้งเยอะ ดูแวบแรกเหมือนเป็นหนังสือที่เชิดชูคุณงามความดีของเน็ตธรรมดา ๆ แต่ประเด็นที่ David Eagleman ชวนเราขบคิดนั้นลึกซึ้ง ทำให้เรื่องที่ดูเหมือนธรรมดา ๆ น่าสนใจขึ้นมา