top of page

เที่ยวอินเดีย-เนปาลกับแม่ (2560)

วันที่ 2-13 มีนาคม 2560 เที่ยวอินเดีย-เนปาล ตามรอยพระพุทธเจ้ากับแม่

1. ตอนไปดูจุดที่เคยเป็นเมืองกบิลพัสดุ์ ตรงตำแหน่งที่เคยเป็นประตูควบกัณฐกะออกจากวัง นักศึกษาสาธารณสุขชาวเนปาลผู้ทำหน้าที่เป็นไกด์เล่าให้ฟังว่า สาเหตุออกบวชของเจ้าชายมี 2 เวอร์ชั่น เวอร์ชั่นแรก อย่างที่รู้ ๆ กัน เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พอเราแปลเวอร์ชั่นนี้ให้ลุง ๆ ป้า ๆ ฟัง พวกท่านก็ตีสีหน้าว่าฉันรู้อยู่แล้ว พอถึงเวอร์ชั่นที่สอง สงครามแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี ทางด้านเจ้าชายชูป้ายสันติ แต่แพ้มติสภา จนเป็นเหตุให้ต้องออกจากเมือง ลุง ๆ ป้า ๆ ตีสีหน้าว่า นิทานหลอกเด็กชัด ๆ เราถามนักศึกษาคนนั้น เวอร์ชั่นนี้จะหาอ่านต่อได้ที่ไหน เขาบอกให้กลับไปค้นชื่อ ดร.อามเพฑกร ไอ้ชื่อนี่เราออกเสียงตามไม่ได้ เขาบอกคนเขียนรัฐธรรมนูญคนแรก พอมาคิดอีกที เป็นไปได้จริงหรือที่ชายวัย 29 ไม่เคยเห็นคนแก่ เด็จพ่อ เด็จแม่เลี้ยงของท่าน ก็น่าจะมีหงอกแล้วรึเปล่า ทีนี้ สองสามวันก่อน ได้อ่าน ดร.บรรจบ แกว่า ไม่เห็นด้วยเลยสำหรับเวอร์ชั่นที่สอง เจ้าชายไม่ได้ถูกอัปเปหิเพราะแพ้เสียงในสภาหรอก แต่เห็นภัยในสังสารวัฏนั่นแหละ เพราะไม่งั้นจะทำให้เรื่องการบำเพ็ญบารมีไม่มีความหมายเลย โอเค จะเชื่อย่างไรเราไม่คาใจ เวอร์ชั่นโรแมนติกเราก็ชอบ แต่ตรรกะแบบนี้ เรางง


2. ระหว่างทางไปสถูปรามาภาร์ซึ่งเป็นที่ที่ป้ายแนะนำสถานที่ระบุว่าเป็น "site of cremation of lord buddha" รถบัสได้แล่นผ่านสถูปขนาดใหญ่อันหนึ่ง หัวหน้าทัวร์บอก เราจะไม่แวะที่นี่ เพราะไม่สำคัญอะไร เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าสอนพระสูตรหนึ่ง ในพระไตรปิฎกมีชื่อเรียกว่ากาลามสูตร ผ่านไปสักนาทีหลังจากสิ้นเสียงประกาศ รถจอดแวะเติมน้ำมัน เรารีบคว้ากล้องแล้ววิ่งย้อนกลับไป ด้วยเข้าใจว่า ถ้านี่เป็นที่ตั้งหมู่บ้านของชาวกาลามะจริง ก็สำคัญ วิ่งไปราวร้อยเมตร ได้แค่ภาพระยะไกล พอกลับมาค้นดู สถูปแห่งนี้คือมหาสถูปแห่งเกสเรีย และหาใช่สถานที่แสดงกาลามสูตรตามคำหัวหน้าทัวร์ไม่ เพราะสมัยโน้น เกสเรียอยู่ในเขตแควันวัชชี ขณะพระพุทธเจ้าสอนชาวกาลามะในแคว้นโกศล นับเป็นเรื่องที่หนึ่ง เรื่องที่สอง ในพระไตรปิฎกไม่มีพระสูตรที่ชื่อกาลามสูตร นี่เป็นเพียงชื่อเล่นติดปากของคนไทย คำสอนนี้อยู่ในเกสปุตตสูตร "สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของพวกกาลามะชื่อว่า เกสปุตตะ ..." เรื่องที่สาม มา ภพฺพรูปตา อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้ มา สมโณ โน ครูติ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา


bottom of page