
หนังสือเล่าข้อสรุปเชิงสถิติจากงานวิจัย 165 ชิ้น สรุปสั้น ๆ เพียงไม่กี่ประโยค อาจจะสั้นกว่า abstract ด้วยซ้ำ ข้อดีคืออ่านเพลิน อ่านสนุก เป็นข้อมูลเบา ๆ ที่บางเรื่องก็มีประเด็นชวนคิด เหมือนนิทานอีสปที่คัดเอาแต่ส่วนนิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่ามาร้อยเรียงต่อกัน ข้อเสียคือข้อมูลเชิงสถิติไม่ใช่อาหารสำเร็จรูป แต่เป็นคำตอบของคำถามเฉพาะที่มีวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบอย่างมีขอบเขตจำกัด ทำให้การใช้ข้อสรุปเชิงสถิติเพื่ออ้างเหตุผลเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่างที่ Mark Twain อ้างว่า Disraeli นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรจำแนกคำโกหกออกเป็น 3 ระดับคือ lies, damned lies, and statistics อันโด่งดังนั่นแหละ
เราเดาว่าผู้เขียนอยากเล่าแบบสนุก ๆ ไม่จริงจัง จึงตัดบริบทในแง่กรอบของการทดลองทิ้ง เมื่อดูเฉพาะแค่ตัวบทที่เขาเขียนในหนังสือ จึงพบว่ามีหลายบทที่ logically inconclusive เช่น ในบทที่ 12. กระแสต่อต้านคนไร้ศาสนาเกิดจากความระแวง อ้างการสำรวจที่พบว่าคนส่วนใหญ่เชื่อใจคนไร้ศาสนาน้อยกว่ากลุ่มคนอื่น ๆ เช่น ชาวมุสลิม ชาวรักร่วมเพศ และระดับของความเชื่อใจกลุ่มคนไร้ศาสนาเท่า ๆ กับความเชื่อใจกลุ่มอาชญากรข่มขืนเลยทีเดียว พออ่านจบ คำถามแรกที่เกิดขึ้นคือ ในการสำรวจนี้ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนตอบแบบสอบถามไว้รึเปล่าว่าคนตอบแบบสอบถามเป็นคนมีศาสนากี่คน ศาสนาอะไร มีความศรัทธาในศาสนามากน้อยแค่ไหน และเป็นคนไร้ศาสนากี่คน เพราะข้อสรุปที่ได้จากการสอบถามแบบนี้จะเกิดจาก selective bias เพราะถ้ากำจัดเจ้า selective bias เราอาจจะพบว่าข้อสรุปที่เป็นกรณีทั่วไปคือ คนส่วนใหญ่เชื่อใจคนที่มีความเชื่อแตกต่างจากตัวเองน้อยลงตามดีกรีความแตกต่างที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้
ในบทที่ 16. การมองเวลาเป็นเงินเป็นทองจะขัดขวางความสุข เขาบอกว่า ระหว่างฟังเพลงจากอุปรากรเรื่องหนึ่ง ขอให้ผุ้ฟังกลุ่มหนึ่งคำนวณค่าจ้างรายชั่วโมงของตนเองไปด้วย คนนี้จะกลุ่มนี้จะมีความสุขน้อยกว่าคนที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องดังกล่าว ปัญหาตรงนี้คือหนังสือไม่ได้พูดว่าคนอีกกลุ่มที่ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินได้รับโจทย์ให้คิดถึงเรื่องอื่นรึเปล่า เช่น ให้คำนวณโอกาสเจออิเล็กตรอนที่ระดับพลังงาน E แบบนี้ใครมีความสุขมากกว่ากัน เพราะเป็นไปได้ว่าสุดท้ายแล้วข้อสรุปของงานนี้อาจเป็นกรณีทั่วไปของข้อสรุปที่กว้างกว่าคือ ผู้ฟังที่ถูกรบกวนการฟังมีความสุขน้อยกว่าผู้ฟังที่ไม่ถูกรบกวนการฟัง (หมายเหตุ งานวิจัยที่ถูกอ้างถึงอาจให้ผู้ฟังกลุ่มอื่นคิดเรื่องอื่นก็ได้ แต่ส่วนนี้ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในหนังสือ)
นอกจากนี้ ก็มีหลายบทที่ไม่ชัดเจนในการอ้าง % ว่ากำลังพูดถึง % ของอะไร เช่น ในบทที่ 165. ถ้าอยากมีความสุขอย่างแท้จริง จงเป็นหัวหน้าในบริษัทขนาดเล็ก เขาบอกว่า คนที่ทำงานในบริษัทขนาดเล็ก ๆ มีแนวโน้มจะมีความสุขกว่าคนที่ทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คนถึง 25% เวลาอ่านข้อมูลแบบนี้คำถามที่ควรถามตัวเองคือ % ของอะไร เพราะประโยคนี้สามารถแปลได้อย่างน้อย 2 แบบคือ % ของคน กับ % ของความสุข ในกรณีหลัง ยังมีคำถามตามมาอีกว่าวัดความสุขแบบ quantitative ยังไง นอกจากนี้ ยังมีคำถามที่ควรถามอีกด้วยว่า ในกลุ่มคนที่สำรวจนั้น มีคนที่เคยทำงานทั้งในบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดใหญ่กี่คน สัดส่วนของคนตอบแบบสอบถามที่เคยทำงานเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เป็นต้น เป็นเท่าไร และจุดที่สำคัญสำหรับใช้วิเคราะห์ข้อมูลคือ คนตอบคำถามที่เคยทำงานบริษัทขนาดเล็กแต่ปัจจุบันทำงานบริษัทขนาดใหญ่เป็นเท่าไรเมื่อเทียบกับคนตอบคำถามที่เคยทำงานบริษัทขนาดใหญ่แต่ปัจจุบันทำงานบริษัทขนาดเล็ก
บทที่อ่านแล้วไม่เข้าใจเลยก็มี เช่น บทที่ 51. ผู้บริหารบางคนทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้ดี แต่บางคนก็ไม่ เขาบอกว่า ผู้บริหารจำนวน 1 ใน 3 ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ในขณะที่ครึ่งหนึ่งชอบทำงานทีละอย่าง แล้วก็จบดื้อ ๆ แค่นี้ ทำให้งงว่าอีก 1/6 ล่ะเป็นยังไง
สุดท้าย ขอยกตัวอย่างบทที่น่าสนใจบ้าง ในบทที่ 38. การคิดถึงอาหารปลอดสารพิษ อาจทำให้คุณกลายเป็นคนแล้งน้ำใจโดยไม่รู้ตัว เพราะความมีศีลธรรมและอาหารที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมยึดครองพื้นที่ส่วนเดียวกันในสมอง บทที่ 44. การอยู่ใกล้คนที่มีความสุข ทำให้คนเราอยากฆ่าตัวตายมากขึ้น บทที่ 141. สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการบอกเป็นตัวเลขหน่วยที่เล็กลง