top of page

It's Not the How or the What but the Who


ขอพูดตั้งแต่ต้นว่า impression ของเราหลังจากอ่านหนังสือจบค่อนข้างกลาง ๆ ค่อนไปทางลบ เหตุผลแรก business ไม่ใช่แนวถนัด อ่านเพราะรับปากเพื่อนคนหนึ่ง อีกเหตุผล คนเขียนหลงตัวเองมากเหลือเกิน ทั้งอิจฉาและหมั่นไส้ ถึงแม้หลายตอนแกจะออกตัวว่าพูดแบบถ่อมตน แต่ข้อความนี่สวนทางกับสิ่งที่พูด โอเคนะฮะถ้าคนเก่งจะหลงและชูหางตัวเอง เรารับได้ ขอให้โชว์อะไรที่อ่านแล้วสะกดให้ยอมรับว่า เข้าท่าว่ะ โชคร้ายที่เรามองไม่เห็นจุดนั้น ไอเดียของหนังสือคือ ความสำเร็จขั้นสุดยอดไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไรหรือทำอะไร แต่อยู่ที่ให้ใครทำ ผู้เขียนบอกว่าในฐานะนายจ้าง คุณต้องเลือกจ้างแต่คนเก่ง ๆ มาอยู่รอบตัว เอาเขามาใช้งาน และพัฒนาให้เขาเก่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป เอามาสร้างทีมที่มีแต่คนเก่ง ๆ แล้วคุณก็จะเป็นผู้ชนะ คุณจะตัดสินใจเลือกคนได้ยังไง ขอพูดด้วยสไตล์เดียวกับผู้เขียนคือดึงทุกอย่างเข้าหาตัว เพราะเขาและเราเป็นศูนย์กลางจักรวาล สมัยประถม เด็กบ้านนอกอย่างเราหลังเลิกเรียนก็ไม่มีอะไรให้ทำมากนอกจากจับกลุ่มเล่นสนุก และเกมที่พวกลูกตำรวจแถวบ้านพักชอบเล่นคือ rounders (จริง ๆ ต้องพูดว่าคล้าย rounders) แบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่าย มีเจ๊คนหนึ่ง สมมุติเรียกว่าเจ๊อ้อย นางเป็นใหญ่เพราะอยู่ ป.6 ทีมของนางชนะตลอด ใคร ๆ ก็อยากไปอยู่ทีมนี้ และก่อนเล่น นางจะเลือกว่าใครได้เข้าร่วมทีมบ้าง (พูดอีกอย่างหนึ่ง เลือกว่าใครจะเป็นคนชนะนั่นแหละ) พวกเราก็อยากถูกเลือกใช่มั้ยครับ ทีนี้ถ้ามีใครไปถามเจ๊ว่าเลือกยังไง ก็ต้องเลือกคนเก่งที่สุดสิ ตัวไหนอ่อน วันพรุ่งนี้แกก็ไม่เลือก เจ๊ไม่โง่พอจะเลือกคนร่วมทีมเพราะคล้ายกันหรือทำให้สบายใจตามที่ผู้เขียนเชื่อว่าคนจะตกหลุมวิวัฒนาการของสมองที่พัฒนาเชื่องช้ามาตั้งแต่ทุ่งสะวันนาหรอก ถ้าเจ๊อ้อยอยากให้ทีมราวเดอร์ของแกชนะ แกก็เลือกคนเก่งที่สุดเข้าร่วมทีม เราว่าเด็ก ป.6 ทุกคนเข้าใจดีนะไอ้แก่นที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้เนี่ย พูดถึงสไตล์การเขียน แต่ละบทจะยกเรื่องเล่า (ที่สุดท้ายโยงเข้าหาตัวได้เสมอ) หรืองานวิจัยเพื่อมาสนับสนุนความคิดบางอย่างที่ต้องการจะพูด ดูเหมือนน่าเชื่อถือนะครับ แต่หลายอย่างเราว่าเป็น cherry picking และเลือกมาแบบไม่ค่อยประณีต ขอยกตัวอย่างชวนเชื่อสัก 2 ตัวอย่าง ตัวอย่างแรกจากบท The Odds Are Against You กับบท The Problem with Democracy ข้อความหลักที่ผู้เขียนอยากบอกคือ คุณไม่ได้ตัดสินคนได้เก่งกาจอย่างที่คุณคิดหรอกนะ ฉะนั้นทางออกของปัญหานี้ (ถ้าไม่จ้างบริษัทภายนอกอย่างบริษัทของผู้เขียนซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลก) ก็ต้องมีกรรมการสัมภาษณ์สามคน ตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมาประกอบคือคำถามนี้ครับ สมมุติว่าคุณตัดสินคนได้อย่างแม่นยำ 90% (พูดด้วยภาษาคณิตศาสตร์ที่หนังสือไม่ได้ใช้คือกำหนดให้ทั้ง sensitivity และ specificity เท่ากันเท่ากับ 90%) และมีผู้สมัคร 100 คน ซึ่งคุณต้องการจ้างคนเก่ง ซึ่งหมายถึงคนที่อยู่ใน 10% แรก แล้วถามว่า % ของคนที่คุณคิดว่าเป็น 10% แรกนั้นจริง ๆ แล้วเป็นคนเก่งเท่าไร ผู้เขียนบอกว่าคนส่วนใหญ่ตอบผิด ไม่แปลกใจนะ มุกหลอกเด็กเริ่มเรียนความน่าจะเป็นที่สนุกอันหนึ่งคือปัญหา false positive คุณจะบอกว่า 9 จาก 10 คนเก่งเป็นคนเก่ง (เพราะ true positive หรือ sensitivity) และว่า 9 จาก 90 คนไม่เก่งเป็นคนเก่ง (เพราะโจทย์กำหนด specificity มาให้ ซึ่งแปลงไปเป็น false positive) ทำให้มี 9 จาก 18 คนที่คุณชี้เป้าได้ถูกต้อง หรือ 50% ผู้เขียนก็บอกว่า เห็นมั้ยล่ะ ขนาดแม่นยำตั้ง 90% คุณยังชี้เป้าถูกแค่ 50% เอง อันที่จริงตัวเลข 50% นี้ไม่ได้ขึ้ออยู่กับความแม่นยำ 90% เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการกำหนดว่ามีคนเก่งอยู่ 10% ด้วย (ถ้ากำหนดให้ความแม่นยำ b% และมีคนเก่ง a% เมื่อ a+b = 100 คำตอบจะได้ 50% เสมอ ... ผมให้คุณพิสูจน์เป็นการบ้าน และไม่ควรเกิน 2 บรรทัด) และ a เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ครับ การใช้ตัวอย่างที่กำหนด a = 10% ในรอบแรกแล้วบอกให้คัดเลือกสามรอบ เพราะในรอบที่สองเราจะได้ a ใหม่จะเท่ากับ 50 ขณะที่ b เท่าเดิม ทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดจาก false positive ลดลง และรอบที่สาม a ยิ่งเพิ่ม ผลลัพธ์จาก false positive ก็ยิ่งลดลงไปอีกเหลือแค่ 1% ฉะนั้น 3 รอบจึงเหมาะสม ปัญหาของลอจิกอันนี้ของผู้เขียนคือการคำนวณเพื่อบอกว่า 3 รอบดังกล่าวขึ้นอยู่กับค่า a ซึ่งควบคุมไม่ได้และ b ซึ่งถือว่าเท่ากับ 100 - a ถ้าคุณลองเริ่มให้ a = 1, b = 90 คุณจะพบว่าหลังจาก 3 รอบผ่านไปผลลัพธ์จาก false positive ก็ยังสูงกว่า 10% แต่เนื่องจากผู้เขียนตั้งเป้าไว้แล้วคือเลข 3 เขาก็เลือก a = 10, b = 90 ตัวอย่างที่สองจากบท The Magic Number บทนี้พยายามตอบคำถามว่าเราควรพิจารณาตัวเลือกกี่ตัวดีถึงจะเหมาะสม อ้างงานวิจัย (คุณน่าจะเคยได้ยินมากกว่าหนึ่งครั้ง) ว่าร้านค้าที่มีแยมน้อยรสกว่าขายแยมได้ดีกว่าร้านค้าที่มีแยมให้เลือกหลากรสกว่า และพูดถึงตัวอย่าง "37 percent rule" ว่านักสถิติคงแนะนำให้คุณสำรวจคน 37% แรกก่อนแล้วค่อยเลือกคนที่ดีกว่าคนที่ดีที่สุดในกลุ่ม 37% นั้น ซึ่งตัวอย่างนี้อยู่คนละบริบทกับประเด็นที่พูดเขียนเขียน แค่ยกมาใส่กินพื้นที่กระดาษเท่านั้นนะครับ เพราะตัวเลข 37% เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ครับ ถ้ามีตัวเลือกต่อแถวกันเข้ามาทีละคนทั้งหมด 100 คน และคุณต้องการคนที่ดีที่สุด โดยที่ถ้าคุณไม่เลือกคนที่ x แล้วเริ่มพิจารณาคนที่ x+1 เป็นต้นไป คุณจะเปลี่ยนใจกลับไปเลือกคนที่ x ไม่ได้อีกแล้ว และถ้าคุณเลือกคนที่ y แล้ว คุณก็จะไม่พิจารณาคนที่ y+1 เป็นต้นไป จบที่ y เลย กลยุทธ์ที่คณิตศาสตร์แนะนำเพื่อให้มีโอกาสได้คนที่ดีที่สุดมีค่าสูงสุดคือให้สำรวจ (ไม่เลือก) 37 คนแรกก่อน แล้วตั้งแต่คนที่ 38 เป็นต้นไปให้เลือกคนแรกที่ดีกว่าคนที่ดีที่สุดในกลุ่มสำรวจ (เป็นโจทย์แคลคูลัสง่าย ๆ ถ้ายังไม่เคยทำ ลองทำเป็นการบ้าน) นี่มันเหมือนกับเหตุการณ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่าควรจะมีผู้สัมภาษณ์งานเท่าไหร่ตรงไหนเหรอ ข้อดีของหนังสือก็มีนะ สรุปหลักที่คุณรู้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้วออกมาเป็นข้อ ๆ การมองเป็นข้อ ๆ แยกส่วนอาจมีประโยชน์ในการวิเคราะห์ ถามว่าใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของหนังสือ ผู้เขียนคงบอกเจ้าของกิจการ แต่กิจการทั่ว ๆ ไปมีคนเก่งแห่กันไปสมัครงานรึเปล่า ฉะนั้นกลุ่มเป้าหมายตัวจริงคือกิจการที่มีสิทธิเลือกคนเก่งเท่านั้นแหละ


bottom of page