top of page

พุทธปาฏิหาริย์ ตำนานหรือเรื่องจริง


หนังสือรวมเกร็ดเรื่องราวพุทธศาสนาที่น่าสนใจ เป็นเกร็ดสั้น ๆ เช่น ชาติภูมิของพระพุทธเจ้าคืออะไรกันแน่ พระอินทร์ดีดพิณสามสายจริงมั้ย บัวมี 3 หรือ 4 เหล่า นับว่าเขียนดีมาก อ่านสนุก มีเสียเล็กน้อย 1 จุด ตรงที่ชื่อหนังสือไม่ได้สะท้อนเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือ กับวิธีการให้เหตุผลที่อ่านแล้วรู้สึกทะแม่ง ๆ 2 แห่ง แห่งแรกตอนพยายามอธิบายว่าเจ้าชายประสูติแล้วเดินได้ 7 ก้าว ลอจิกของแกเป็นกระบวนแบบนี้ "ถ้าพระไตรปิฏกเชื่อถือได้ ความอัศจรรย์นี้ก็เกิดขึ้นได้สำหรับผู้ที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า" ประเด็นแรก ข้อความนี้ไม่ได้อยู่ในรูปการให้เหตุผล แต่มีลักษณะค่อนข้างเป็นนิยาม คือเราจะพูดว่าสิ่งไหนน่าเชื่อถือ ก็เพราะสิ่งนั้นสะท้อนความจริง แสดงว่าตอนนี้ ดร.บรรจบ กำลังจะแสดงว่าพระไตรปิฎกน่าเชื่อถือในแง่ที่มันสะท้อนความจริง พอย้อนกลับไปมองเหตุผล 3 ข้อที่แกให้ประกอบ ข้อแรก วิธีการรับรองว่าคำสอนดังกล่าวเป็นของพระพุทธเจ้าจริง ข้อนี้ไม่ได้สะท้อนว่าสิ่งที่บันทึกเป็นจริง แค่บอกว่าสิ่งที่บันทึกนั้นเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ แตกต่างกันนะครับ ข้อสอง อ้างเหตุคือการเกิดขึ้นของพระไตรปิฎก ข้อนี้ก็เหมือนกัน ใช้สนับสนุนได้แค่ สิ่งไหนเป็นคำสอน สิ่งไหนไม่เป็น และพระไตรปิฎกเกิดขึ้นมาเพื่อจะชำระ และเก็บรักษาไว้เฉพาะคำสอนที่เป็น แต่ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลที่จะใช้สรุปได้ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง ข้ออ้างสุดท้ายอ้างวิธีการเรียนรู้และจดจำพระไตรปิฎก ข้ออ้างนี้ก็ยืนยันได้แค่เพียงว่า การสืบทอดพระไตรปิฎกน่าเชื่อถือ (สมมุติแบบสุดโต่งให้เลยว่า method ในการถ่ายทอดนั้นประหนึ่ง copy & paste) แต่การสืบทอดที่น่าเชื่อถือก็แค่ยืนยันว่า copy ของรุ่นหลัง เหมือน copy ของรุ่นก่อนหน้า แต่ไม่ได้สะท้อนความจริง ทีนี้ทริกของวิธีการอ้างเหตุผลอยู่ตรงนี้ฮะ ด้วยเหตุผลทั้ง 3 ประการ พระไตรปิฎกน่าเชื่อถือในแง่ที่ (สมมุติว่า method ทั้งหมด work) บรรจุคำสอนของพระพุทธเจ้าจริง ๆ และถูกถ่ายทอดสืบต่ออย่างน่าเชื่อถือจริง ๆ แต่ไม่มีข้ออ้างข้อไหนที่พูดถึงความน่าเชื่อถือในแง่ที่ statement เหล่านั้นสะท้อนความจริง (เว้นแต่คุณจะใช้ศรัทธา เริ่มตั้งแต่ ตถาคตโพธิสัทธา นั่นแหละ) จึงทำให้ลอจิกในบทนี้ค่อนข้างเพี้ยน แห่งที่สอง เป็นตอนสาเหตุออกบวชของเจ้าชาย ทฤษฎีแบบคลาสสิกคือเห็นเทวทูต ทฤษฎีแบบเรียลิสติกคือแพ้มติสภา เพราะพระองค์ไม่สนับสนุนสงคราม ใครเชียร์ฝ่ายไหนไม่ใช่ประเด็นนะฮะ ประเด็นอยู่ที่ ดร.บรรจบ ยอมรับว่าเหตุการณ์ตามทฤษฎีสองน่าจะเกิดขึ้นได้จริง และคงจะเกิดขึ้น แต่มูลเหตุที่เจ้าชายตัดสินใจบวชเพราะทฤษฎีคลาสสิก เพราะถ้าเป็นแบบหลัง ก็เหมือนเจ้าชายแค่ถูกไล่ออกจากวัง อันนี้เป็นอาการรักพี่เสียดายน้อง ปัญหาคือมันจะเกิดการย้อนแย้งในลอจิก สมมุติเรายอมรับเรียลิสติกว่าพระองค์ต่อต้านสงคราม แล้วยังอ้างต่อว่าแค่นั้นไม่มากพอให้ออกบวชหรอก เหตุจริง ๆ เพราะเห็นคนแก่ เจ็บ ตาย และนักบวช คำถามคือทำไมพระองค์ต่อต้านสงคราม พระองค์เข้าใจ concept ที่เป็นผลสืบเนื่องจากสงครามใช่มั้ย ถ้าใช่ ก็แปลว่าพระองค์ต้องรู้จัก concept เจ็บ ตาย อยู่แล้วรึเปล่า มันเป็นผลลัพธ์โดยตรงของสงครามนี่ ฉะนั้นถ้าบอกว่าพระองค์เข้าสภาและชู้ป้ายสันติ แต่ไม่ออกบวช มาออกบวชตอนเห็นคนเจ็บ คนตาย กับนักบวช จึงฟังดูแปลก ๆ เนื้อหาส่วนที่เหลือดี บางบทดีมาก มีแง่มุมน่าสนใจ


bottom of page