top of page

Everything Is Obvious*


เล่มนี้เป็นหนังสือแนว social science ที่เขียนได้ฉลาดมาก อยากซื้อแจกใครหลายคน โดยเฉพาะนักวิจารณ์ที่ชอบออกมาพูดวิเคราะห์ว่าทำไม ทำไมสังคมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมวัยรุ่นถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมเหตุบ้านการเมืองจึงเป็นอย่างที่มันเป็น ส่วนคนฟังก็ฟังไปพร้อมพยักหน้าว่าจริงแฮะ จริง จริง ... ดูเหมือนคำอธิบายมันก็เห็นอยู่และสอดคล้องกับสามัญสำนึก นี่แหละครับที่มาของชื่อหนังสือ "everything มันช่าง obvious ซะเหลือเกิน" ทำไมภาพโมนา ลิซา จึงเป็นไอคอนหลักตัวหนึ่งของงานศิลปะ คุณนักวิจารณ์ศิลป์ก็บอกว่า "แหม มัน obvious" ด้วยเทคนิคอย่างโน้น องค์ประกอบอย่างนี้ มีหลักคณิตศาสตร์ซ่อนเร้นตรงนั้น ก็ว่ากันไป ส่วนคนฟังก็เออออตาม พยักหน้าบอกตัวเองว่า "มัน obvious จริง ๆ แฮะ" (อีกทั้งสอดคล้องกับ common sense ในแง่ที่ว่าภาพมันดัง มันต้องเป็นภาพที่ครอบครองสมบัติบางอย่างที่ทำให้มันดัง ซึ่งเป็นสมบัติที่ภาพอื่นไม่มี) กรณีภาพเขียนโมนา ลิซาของดาวินชี ผู้เขียนหนังสือ ศาสตราจารย์ Duncan J. Watts ตั้งคำถามที่กระทุ้งความ obvious อย่างแรงว่ามัน obvious จริงเหรอ หรือมันเริ่ม obvious ตั้งแต่เมื่อไร พร้อมตั้งข้อสังเกต โมนา ลิซา เธอเพิ่งมาเริ่มสวยเอาตอนต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ทั้ง ๆ ที่ดาวินชีวาดไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ทั้งนี้ทั้งนั้นความสวยของเธอที่โดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษต้องขอบคุณ Vincenzo Peruggia ที่ขโมยภาพนี้จาก Louvre เพื่อขายให้อิตาลี (ภาพของชาวอิตาเลียนควรถูกแสดงที่อิตาลีสิ!) หลังจากขโมยพี่แกเก็บภาพไว้ 2 ปี ก่อนถูกจับตอนขายให้ Uffizi Gallery ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ โมนา ลิซา ถึงแม้เธอจะสวยเท่าเมื่อครั้งดาวินชีวาด แต่เธอก็มิได้ดังและถูกวิเคราะห์ให้เห็นซึ้งถึงความสวยงามเท่ากับที่เธอเป็นอยู่ในปัจจุบันเลย นักวิจารณ์ในศตวรรษก่อนหน้านั้นมองไม่เห็นความงามเลิศเลอเช่นนี้เหรอ เพราะองค์ประกอบของเทคนิคต่าง ๆ มันก็คงอยู่ของมันมาแบบนั้นตั้งแต่ต้น การขโมยจึงเป็นสิ่งที่ไม่ obvious แต่เป็นปัจจัยที่ผลักดันทำให้ที่เธอดัง หลังจากที่เธอดังความงามที่ควรจะ obvious มาตั้งแต่ 2-300 ปีก่อนก็ได้ obvious ขึ้นมา ทีนี้กูรูก็แห่กันอธิบายได้เป็นวรรคเป็นเวรเลยว่าทำไมภาพนี้สุดยอด แต่พอรวมคำอธิบายทั้งหมดแล้วเราจะพบว่ามันเป็น circular reasoning (เช่นเดียวกับการพยายามอธิบายหรือตอบคำถามว่าทำไมหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ถึงขายดี) ครึ่งแรกของหนังสือ Duncan J. Watts พยายามชี้ให้เราเห็นถึงความล้มเหลวในการอธิบายของ common sense ในเรื่องต่าง ๆ (เช่น คำอธิบายที่เกี่ยวเนื่องกับ Halo effect, Mathew effect ฯลฯ) รวมถึงการทำนาย การวางแผน และวางนโยบาย ครึ่งหลังของหนังสือประยุกต์เข้ามาสู่โลกของธุรกิจและสังคมศาสตร์ รายละเอียดเยอะมาก มีตัวอย่างประกอบชัดเจนในโลกธุรกิจจริง เช่น กรณี Betamax ของโซนี่ ไปทำอีท่าไหนพลาดพ่าย VHS ของ Matsushita (เป็นตัวอย่างของ strategy paradox ซึ่ง Raynor อธิบายว่า เหตุผลหลักของความล้มเหลวของกลยุทธ์ ไม่ใช่เพราะมันเป็นกลยุทธ์ที่แย่ แต่เป็นกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมที่ปรากฎว่าเป็นกลยุทธ์ที่ผิด) นอกจากมียังมีประเด็นการใช้ common sense อธิบายความยุติธรรม ตัวอย่างที่ยกเรื่องรถชนคนตายหลายศพเป็นตัวอย่างชัดเจนมากที่ผลลัพธ์ทำให้เราเขวจากเหตุผลและเมื่อผสมโรงกับ common sense แล้ว ผู้เขียนบอกว่านำไปสู่ logical conundrum ฯลฯ โดยภาพรวมหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้ วิธีที่เรารู้และวิธีที่อธิบายความรู้ได้อย่างยอดเยี่ยมครับ


*Once You Know The Answer

bottom of page