top of page

Silence


นักบุญฟรันซิสโก คาเบียร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต เป็นผู้นำคริสตศาสนาเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น และราบรื่นดีอยู่ราว 60 ปีก่อนถูกกวาดล้างใหญ่ ช่วงต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด ว่ากันว่าชาวคริสต์ถูกฆ่าหกพันคน นักบวช และผู้เลื่อมใสถูกจับ ถูกทรมาน บังคับให้ประกาศถอนความเชื่อ หันหลังให้กับพระเจ้า Endo เขียนนิยายเรื่องนี้โดยอาศัยฉากช่วงกลางศตวรรษที่สิบเจ็ด อันเป็นช่วงที่คริสตชนสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวประมง หลบลงใต้ดิน อิงกับเหตุการณ์จริงสะท้านฟ้าสะเทือนดินเมื่อหนึ่งในนักบวชเยสุอิตรุ่นใหญ่ชาวโปรตุเกส Cristóvão Ferreira แสดงตนว่าละทิ้งศรัทธาภายใต้รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ คุณพ่อ Rodrigues พร้อมเพื่อนอีกสองคนซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ Ferreira จึงดั้นด้นเดินทางมาสืบหาความจริงและหวังคืนศรัทธาสู่คริสเตียนญี่ปุ่นที่ห่างร้างพระสงฆ์องค์เจ้าไปนาน ตอนใกล้จบเล่ม เราพูดกับเบียร์สิงห์ว่า นี่ถ้าเป็นสักสิบปีก่อนเราก็ไม่เชื่อว่าตัวเองจะอ่านและชื่นชอบเรื่องแบบนี้ นิยายที่สะท้อนการต่อสู้ภายในใจของพระหนุ่มผู้มีศรัทธาที่ค่อย ๆ จะแผ่วลงไปตามกาลเวลาเมื่อถูกบีบคั้นทางกายและจิตใจ คำถามว่าเหตุใดพระเจ้าจึงเงียบและนิ่งเฉยดังขึ้นทุกขณะที่เขาถูกบีบบังคับให้เหลือตัวเลือกไม่มากนัก คุณจะทำยังไงถ้ารัฐบาลบอกว่า ถ้าเธอยอมประกาศตนไม่เป็นคริสต์แล้ว ชาวบ้านคริสเตียนตาดำ ๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เหล่านั้นจะไม่ต้องถูกทำร้าย ไม่ต้องตาย รัฐบาลไม่สนใจหรอกว่าในใจจริงคุณจะคิดยังไง เขาแค่อยากให้ประกาศออกมาแบบทางการเท่านั้นเป็นพอ คุณจะยอมเอาความเชื่อ (หรืออันที่จริงก็แค่การแสดงออกว่าเอาแลกความเชื่อ) และความเพ้อฝันที่เกาะอยู่เป็นสรณะไปแลกกับชีวิตของคนอื่นไหม ถ้ายอม สิ่งนั้นคือความเมตตาหรือว่าความอ่อนแอ อันนี้เป็นแก่นหลัก ยังมีแก่นรองว่าด้วยการกลืนลูกแกะของพระเจ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าในแบบเดิมของญี่ปุ่น บทสนทนาช่วงที่ให้ Rodrigues พบคุณพ่อ Ferreira ผู้ถอนตัวและพูดถึงความหยั่งไม่ถึงของสังคมญี่ปุ่น และความหมายของพระเจ้าในคนละแบบเดียวกันนั้น เราถือว่าเด็ดขาด ในฐานะที่ Endo เองก็เป็นคริสเตียน การตั้งคำถามผ่านตัวละครของเขาถือว่าท้าทายความคิดแบบ orthodox อยู่ในที ประณีตสมคำร่ำลือฮะ

bottom of page