
Pentland ว่า เราจำเป็นต้องมองสังคมในฐานะโครงข่ายของอันตรกิริยาระหว่างปัจเจกแทนที่จะคิดถึงมันแบบเป็นตลาดหรือชนชั้น และการมองในลักษณะโครงข่ายแบบนี้นั้น แกได้เสนอเฟรมเวิร์กเรียกว่าฟิสิกส์เชิงสังคม (social physics) ซึ่งช่วยแสดงให้เห็นว่าการไหลของความคิดจากคนหนึ่งสู่อีกคนจะส่งผลกระทบต่อบรรทัดฐาน ปริมาณผลผลิต และความคิดสร้างสรรรค์อันเป็นผลลัพธ์ของบริษัท เมือง หรือสังคมได้อย่างไร Pentland เปรียบเทียบแบบนี้ครับ ทำนองเดียวกับความเข้าใจว่าการไหลของพลังงานสามารถเอาไปใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่ในทางฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงสังคมก็อาศัยความเข้าใจการไหลของความคิดและ information ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม โดยแก่นของมัน ฟิสิกส์เชิงสังคมเป็นโมเดลทางสถิติ ฉะนั้นมันเป็น quantitative social science หมายความว่า ผลลัพธ์จะโมเดลเหล่านี้จะต้องใช้ทำนายพฤติกรรมบางอย่างที่สนใจในเชิงปริมาณได้ โมเดลจะแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงคณิตศาสตร์ระหว่างการไหลของความคิดกับพฤติกรรมของคน คล้าย ๆ กับ Psychohistory ของ Asimov ในนิยายชุด Foundation นั่นแหละครับ จะว่าไป psychohistory ของกาแล็กติกเอ็มไพร์อาจจะเป็นยุคเบ่งบานของ social physics ก็เป็นได้
Pentland ได้ยกตัวอย่างการทดลองจำนวนมากว่าแค่รูปแบบโครงข่ายของการติดต่อสื่อสาร เช่น ใครคุยกับใคร ถี่แค่ไหน นานเท่าไร ในหน่วยงาน ก็เพียงพอที่จะใช้ทำนายปริมาณผลผลิตและความคิดสร้างสรรค์ของหน่วยงาน และเราสามารถปรับเปลี่ยนผลลัพธ์ได้ด้วยการให้แรงจูงใจ แต่ไม่ใช่การให้แรงจูงใจที่ปัจเจกอย่างในแนวคิดแบบเก่า แต่เป็นการให้ที่โครงข่าย ไอเดียคือ ถ้าเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่ม เราต้องสร้างแรงกดดันภายในกลุ่ม เช่น ถ้าคุณรู้ว่าเพื่อนบ้านประหยัดพลังงาน ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะประหยัดพลังงาน (คณิตศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่ได้ซับซ้อนไปกว่า HMM กับ Bayes ดูจากที่เห็นแกเอามาโชว์นิด ๆ หน่อย ๆ ในหนังสือนะ) ถ้าเราอยากให้คนกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมบางอย่าง เราก็ให้รางวัลกับเพื่อนของเขาถ้าคนกลุ่มนั้นทำกิจกรรมอย่างที่เราต้องการนั้นมากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ รูปแบบของข้อมูลการติดต่อในภาพรวมเมื่อเอามาแสดงบนพื้นที่ทางภูมิศาสตร์สามารถใช้ทำนายได้แม้กระทั่งโอกาสแพร่ระบาดของไข้หวัด ฉะนั้นการออกแบบระบบที่สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้มาใช้และขณะเดียวกันก็ปกป้องความเป็นส่วนตัวของปัจเจกด้วยจึงเป็นอีกประเด็นสำคัญที่หนังสืออภิปราย