
และแล้วแฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์ของ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ก็ได้ฤกษ์ resurrection สู่บรรณพิภพด้วยรูปลักษณ์ใหม่ไฉไลกว่าเก่าในชื่อ 'สัมพัทธภาพ สุดยอดมรดกทางความคิดของไอน์สไตน์' ผมเคยพูดถึงหนังสือเล่มนี้ไว้แล้วครับ ตอนพูดถึงแฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์ และได้รับเกียรติถูกนำไปพิมพ์ร่วมกับกลุ่มคำนิยมจากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ (นี่ผมว่าผมปลาบปลื้มกว่าเจ้าของหนังสือเสียอีกนะ) เดิมที ตอนที่พูดถึงหนังสือเล่มนี้แล้วส่ง link ไปให้พี่เขาอ่าน พี่เขาว่าดีเลยเดี๋ยวเอาไปพิมพ์เป็นคำนิยมในฉบับพิมพ์ใหม่ ผมก็ไม่คิดว่าจะเอาจริง ปกติที่เขียนใน blog ส่วนมากเป็นทีเล่นทีจริง ไม่เรียบเรียงความคิดให้ประติดประต่อ นึกอะไรได้ก็กระดิกนิ้วรัวใส่คีย์บอร์ดไม่ยั้ง ผมเคยบรรยายคุณสมบัติพิเศษของหนังสือเล่มนี้ไว้แล้วครับ (ดูย่อหน้าถัดไป) ฉบับพิมพ์ใหม่ ปกสวยสะดุดตาครับ การจัดภาพประกอบ อาร์ตเวิร์กเนี๊ยบ ใครอยากซึมซาบสัมผัสมรดกความคิดอันยิ่งใหญ่ของไอน์สไตน์แบบถูกต้องขณะเดียวกันก็บริโภคและย่อยง่าย ก็ลองหามาอ่านกัน สำหรับคนที่เคยอ่านแฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์แล้ว ฉบับใหม่นี้ผู้เขียนได้เพิ่มบทความและปรับปรุงเนื้อหาให้รัดกุมยิ่งขึ้น (2 กันยายน 2552)

แฟนพันธุ์แท้ไอน์สไตน์เป็นหนังสือที่เดี๋ยวนี้อาจจะหาในร้านหนังสือยากสักนิด ผมไม่ได้เห็นมาหลายปีแล้วครับนับแต่ที่ได้เห็นในช่วงปีแรก ๆ ของการพิมพ์ ผมได้หนังสือเล่มนี้โดยตรงจากผู้เขียน ดร.บัญชา ธนบุญสมมบัติ พี่แกบอกว่า "จับผิดให้หน่อย" โอ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ การอ่านงานที่ผู้เขียนเขียนจากความเข้าใจที่แท้จริง กับงานที่เขียนขึ้นมั่ว ๆ ตามอารมณ์ให้เห็นแพะแกะวิ่งวุ่นนั้นต่างกัน ในงานประเภทแรก ถ้าเราจะจับผิดต้องตั้งใจจับผิด ส่วนประเภทหลัง หลับตาสักข้าง หรืออ่านบรรทัดเว้นบรรทัดก็ยังมองเห็นที่ผิด ส่วนเนื้อหาวิชาการด้วยสติปัญญาที่ผมมี ขอสารภาพว่าจับผิดอะไรไม่ได้เลย แต่ในส่วนของงานพิมพ์ ตกสระ ลืมวงเล็บ อะไรพวกนี้ถ้าตั้งใจกันจริง ๆ ก็ต้องจับได้บ้าง (แทบทุกเล่ม) กับอีกส่วนซึ่งมันไม่ใช่จุดผิดอะไร แต่ถ้าเราจะยกขึ้นมาให้มี มันก็มี มีแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ แทบไม่ต้องใส่ใจ และมักพบบ่อยในงานวิชาการด้านนี้ที่เป็นภาษาไทย คือ การออกเสียงชื่อชาวต่างชาติครับ มีแอบทึ่งที่ ดร.บัญชา เรียกชื่อ David Hilbert ทั้งเสียงด้วยภาษาเยอรมัน คือ ดาฟิด ฮิลแบร์ท กับเรียกตามนิยมอังกฤษ-อเมริกัน เดวิด ฮิลเบิร์ต แต่ก็มีบางชื่อที่ออกเสียงยากจริง ๆ อย่าง Göttingen เมืองเกิตทิงเง่น หรือ Rügen (เกาะ) รือเก้น (เสียงสระที่มีอุมเล้าท์ในภาษาเยอรมันเป็นการห่อลิ้นดึงคางลงมาทำปากกลมแล้วเปร่งเสียงสระเดิม จาก โอ (o) กลายเป็น เออ (ö) หรือจาก อู (u) กลายเป็น อือ (ü) แม้แต่เออกับอือนี่ก็ไม่ถูก แต่เป็นสระที่ใกล้ที่สุดสำหรับภาษาไทยแล้วล่ะ) ซึ่งเข้าใจว่าสะกดตามอย่างเสียงภาษาอังกฤษหรือความนิยมในภาษาไทยไป (คนไทยหรือฝรั่งที่ไม่ใช้ภาษาเยอรมันเรียก เบอร์ลิน แต่คนเยอรมันเรียก แบร์ลีน) นี่แสดงให้เห็นว่าผมจับผิดอะไรไม่ได้เลยจนต้องมาตั้งแง่ทางภาษาแทน (ฮา :P)
เนื้อหาที่ ดร.บัญชา ลำดับผ่านการสนทนาใฝ่รู้ของเด็ก ๆ อย่างน้องนิดกับน้องหน่อย (ที่ทำให้ผู้ใหญ่บางคนซึ่งอ้างเป็นผู้รู้ต้องหันกลับไปพิจารณาความรู้ของตัวเองกันใหม่) โดยมีพี่คนเก่งแสนดีคือพี่เอกคอยชี้นำ พาผู้อ่านสำรวจความคิดที่ยิ่งใหญ่ความคิดหนึ่ง เป็นความคิดพลิกโลกของไอน์สไตน์ ผมมั่นใจว่าเด็กไทยสมัยนี้ทุกคนรู้จักชื่อไอน์สไตน์ แต่มีที่รู้จริง ๆ ว่าไอน์สไตน์ทำอะไร คิดอะไร คิดอย่างไรนั้นน้อย ส่วนหนึ่งอาจเพราะเราไม่มีหนังสือดี ๆ ที่ถูกต้อง หนังสือเกี่ยวกับไอน์สไตน์ที่ว่าดีของคนไทยเขียนในสไตล์ popular science นี่ผมนับได้ 3 คน ดร.บัญชา (เล่มนี้แหละ) ดร.ไพรัช (หลุมดำ) กับ ดร.ชัยวัฒน์ (ไอน์สไตน์ ผู้พลิกจักรวาล) น่าเสียดายว่ากลายเป็นหนังสือหายากทั้งหมดเลยนะ เล่มที่โดดเด่นที่สุดในแง่การนำเสนอคือ แฟนพันธุ์แท้ ไอน์สไตน์ ไม่ใช่เพียงการเล่าเรื่องนะครับ แต่ผมกล้าพูดว่าเป็นเล่มเดียวที่นำเสนอโดยยึดแก่นของสมการ

แทบไม่มีหนังสือป๊อปไซน์เล่มไหนในบ้านเรา (แม้แต่ที่เลือกแปล ๆ ขาย ๆ กัน) พูดถึงไอน์สไตน์แล้วเอาสมการสนามของไอน์สไตน์มาแสดง เอาผลเฉลยของชวาร์ทส์ชิลด์มาแสดง แล้ววิเคราะห์ผลเฉลย แค่ฟังชื่อก็ดูเหมือนสยอง แต่การอธิบายที่จับเฉพาะจุดใจความสำคัญและความหมายของสมการ นำไปสู่การตีความนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้ นิดกับหน่อยยังเข้าใจเลย โดยไม่ต้องอาศัยพื้นฐานคณิตศาสตร์มากนัก (เราไม่ได้มานั่งพิสูจน์กัน) จุดเด่นซึ่งถือเป็นข้อดีอย่างยิ่งคือ สมการ หรือ ภาษาคณิตศาสตร์ เป็นการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่รัดกุม ความรัดกุมนี้เองจะขจัดความคลุมเครือและผิดเพี้ยนที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้อ่าน ในขณะเดียวกัน สมการก็จะบอกข้อจำกัดต่าง ๆ ของตัวมันเองว่าสามารถอธิบายตีความได้มากน้อยแค่ไหน จุดนี้ผมชอบมากครับ และเชื่อว่าถ้ามีเด็ก ๆ คนไหนอ่าน และพยายามเป็นมิตรกับมัน จะพบความงามและความเข้าใจที่ไม่หลงทาง
จริง ๆ จะหยุดที่ย่อหน้าตะกี้แล้ว แต่ไหน ๆ ก็ขออีกนิด อันนี้เป็นเหตุการณ์วันแรกที่ได้รับหนังสือ ผมพลิกไปหน้าที่อธิบายมวลทันที ตั้งใจจับผิดเต็มที่ เพราะการตีความสัมพัทธภาพของมวลเป็นอะไรที่ชวนไขว้เขวที่สุด ใครที่เคยอ่านบทความ The Concept of Mass ของ Lev B. Okun ในฟิสิกส์ทูเดย์ มิถุนายน 1989 จะเห็นข้อโต้แย้งเผ็ดร้อนซึ่งเชียร์ให้นักฟิสิกส์เลิกใช้คำว่า "rest mass" แต่ให้ใช้ "mass" แทน เพราะ "relativistic mass" เป็น other mass concept ที่ไอน์สไตน์เองก็ออกมาบอกว่าไม่รู้มันคืออะไรกันแน่ (แต่ถ้าว่ากันจริง ๆ mass คืออะไรกันแน่ก็ยังไม่มีใครรู้ครับ เรารู้แค่สมบัติกับฤทธิ์ของมัน) บทความนั้นอ้างอิงจดหมายจาก Einstein ถึง Lincoln Barnett ปี 1948 พอได้อ่านตัวดำ ๆ เน้น ๆ ที่ ดร.บัญชา บอกว่า มวลก็คือมวล เป็นปริมาณที่ไม่แปรเปลี่ยน (ไม่เพิ่มไม่ลดตามอัตราเร็ว) ก็เชื่อมั่นแล้วว่าเล่มนี้ของพี่แกแน่จริง
เชียร์ให้พิมพ์ซ้ำ หนังสือดี ๆ แบบนี้ไม่ควรสูญหายไปจากร้านหนังสือครับ (18 สิงหาคม 2551)