
หลังจาก Physics of the Impossible ก็ไม่ได้ตามอ่านงานของ Kaku มาระยะหนึ่ง เว้นไป 2 เล่ม กลับมาอ่านงานของเขาอีกทีคือเล่มนี้ พออ่านแล้วให้ความรู้สึกเหมือนเอาบท Robots, Extraterrestrials and UFOs, กับ Starships จาก Physics of the Impossible มาขยายโดยเรียบเรียงบทอื่น ๆ แซม ประกอบกับยกตัวอย่างภาพยนต์ที่ใหม่ขึ้น อาทิ The Martian, Interstellar, Arrival (เราไม่แน่ใจว่า 2 เล่มที่ข้ามไปคือ The Future of the Mind กับ Physics of the Future นั้นจะอยู่ในลักษณะเดียวกันไหม) ทำให้ไม่ว้าว แต่ก็เชื่อว่า สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน Kaku มาก่อนหรือไม่เคยอ่านหนังสือแนว futuristic ... น่าจะว้าว Kaku เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ที่ทำให้มนุษย์เกือบถูกกวาดจากผิวโลกเมื่อประมาณ 75,000 ปีที่แล้ว ตอนภูเขาไฟ Toba ในอินโดนีเซียระเบิด เพื่อใช้เป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ถูกคุกคามให้สูญพันธุ์ในทุกสเกลเวลา ไม่ว่าจะเป็นสิบปี ร้อยปี หมื่นปี อาจจะด้วยสงคราม ภัยพิบัติ ไวรัส หรือถ้าเรารอดจากสิ่งเหล่านี้มาได้ ก็ไม่พ้นช่วงแตกดับของดวงอาทิตย์ขณะที่มันอยู่ใน red giant phase อยู่ดี (ฉะนั้น ไม่ว่าตอนนั้นจะมีหรือไม่มีมนุษย์ โลกของเราก็จบลงด้วยไฟ) ก่อนที่ดวงอาทิตย์เองจะใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมดและหดเย็นลงจนเป็นดาวแคระขาวขนาดเล็กก่อนจะตายเป็นก้อนกากนิวเคลียร์หรือดาวแคระดำ (ฉะนั้น ดวงอาทิตย์ของเรา จบด้วยความเย็น) คำถามหลักของหนังสือคือ เราจะหนีหายหะขั้นนั้นด้วยการออกจากโลกไปสร้าง multiplanet species ได้อย่างไร เทคโนโลยีอะไรบ้างที่เราจำเป็นต้องมีเพื่อหลีเลี่ยงความตายดังกล่าว ภายในเล่ม Kaku จึงพูดถึงเทคโนโลยีที่น่าจะใช่ โดยเริ่มจากข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีมักมาเป็นระลอกล้อกับการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ จากระลอกคลื่นลูกแรกในศตวรรษที่ 19 ว่าด้วยกลศาสตร์และอุณหพลศาสตร์ ตามด้วยลูกที่สอง ศตวรรษที่ 20 ไฟฟ้าและแม่เหล็ก สู่ลูกที่สามคือศตวรรษนี้ ซึ่งเป็นผลพวงจากควอนตัมฟิสิกส์ที่ได้เปิดประตูสู่ IT และ ICT แล้ว Kaku ก็คาดการณ์ไปยังลูกที่สี่และห้าในศตวรรษที่ 22 และหลังจากนั้น โดยกล่าวถึงโอกาสการตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์กับ terraforming Mars ซึ่งเขาเชื่อว่า สิ่งนี้คือเป้าหมายของศตวรรษที่ 22 ด้วยเทคโนโลยี AI, เทคโนโลยีนาโน, เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึง self-replicating robots ก่อนจะก้าวเข้าสู่การเดินทางระหว่างดวงดาว อาจจะด้วย nanoship, laser sail, ยานที่ใช้ ramjet fusion เป็นต้น และเพื่อให้การเดินทางระหว่างดวงดาวเป็นไปได้ เนื่องจากระยะห่างยาวไกลขนาดแสงยังต้องใช้เวลาหลายปี มนุษย์จึงต้องมีการดัดแปลงร่างกาย จุดนี้ทำให้เรานึกถึงหนังสือเล่มใหม่ของ Max Tegmark ที่กำลังอ่านค้างอยู่ เพราะมันหมายถึง Life 3.0 ตามคำของ Max นั่นล่ะฮะ ... อันที่จริง พอถึงจุดหนึ่ง เราอาจต้องหนีไปอยู่กาแล็กซี่อื่น เพราะสุดท้ายแล้วทางช้างเผือกจะชนกับ Andromeda ในอีก 4 พันล้านปีข้างหน้า หลุมดำที่อยู่ใจกลางกาแล็กซี่ทั้งสองจะโคจรรอบกันและกัน แล้วรวมร่างกันเป็นหลุมดำขนาดใหญ่ ผลจากการชนครั้งนั้นจะให้กำเนิดกาแล็กซี่ใหม่ขึ้นมา ทีนี้เอกภพมีจุดจบที่เป็นไปได้ 3 แบบคือ Big Crunch จบด้วยไฟเพราะเอกภพหดตัวกลับ, Big Freeze เพราะเอกภพขยายไปเรื่อย ๆ (ความหนาแน่นวิกฤตที่แบ่งระหว่าง 2 จุดจบดังกล่าวอยู่ที่ ไฮโดรเจน 6 อะตอมต่อหนึ่งลูกบาศก์เมตร) และสุดท้าย Big Rip เพราะเอกภพขยายแบบเร่งขึ้นแบบ exponential จนกาแล็กซี่ที่อยู่ไกล หนีห่างจากเราเร็วกว่าอัตราเร็วแสง (ไม่ขัดกับสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ เพราะเป็น space expansion) เช่นนี้แล้ว เราจะหนีจากจุดจบของเอกภพได้อย่างไร นี่เป็นคำถามในบทสุดท้าย ก่อนหน้านั้น Kaku พูดถึงสเกลของอารยธรรมของ Nikolai Kardashev ซึ่งได้แบ่งเป็น 3 สเกล และบอกว่าอารยธรรมในสเกลใหญ่สุด คือ galactic civilization (หรือ Type 3) ก็ไม่สามารถหนีจากจุดจบของเอกภพได้ แต่อารยธรรมในสเกลชนิดที่ 4 ซึ่งเป็นสเกลที่ Kaku เพิ่มเข้ามา จากคำบอกเล่าว่า มีเด็กวัยสิบขวบเสนอความคิดนี้แก่เขาในการบรรยายครั้งหนึ่ง อารยธรรมชนิดนี้สามารถควบคุม dark engergy ซึ่งเป็นอีกแหล่งพลังงานหนึ่งที่นอกเหนือจาก spacetime curvature ซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนวิวัฒนาการของเอกภพ และเป็นตัวการทำให้เอกภพขยายแบบเร่ง Kaku บอกว่า ความสามารถในการใช้พลังงานมืดจึงอาจจะช่วยให้เราอยู่รอดจาก Big Rip หรือไม่อีกทางออกหนึ่ง คือหนีไปอยู่เอกภพอื่น (ดีที่ประเด็นนี้ Kaku ไม่เอางานเก่ามาเรียบเรียงใหม่ นอกจากมันจะเป็นบทหนึ่งใน Physics of the Impossible แล้ว ยังมีหนังสือของแกอีกสองเล่มที่อุทิศให้กับเอกภพอื่น นั่นคือ Hyperspace กับ Parallel Worlds) มีหัวข้อสั้น ๆ ในบทสุดท้ายที่พยายามพูดว่า นิพพานคือ Hyperspace ... ไม่เข้าใจว่าจะพูดทำไม เพราะสั้นเกินกว่าจะโน้มน้าวอะไรใครได้ อีกทั้ง คำว่านิพพานที่ใช้ก็ดูจะไม่ well-defined พูดโดยรวมนะฮะ The Future of Humanity เป็นหนังสืออ่านเพลิน เหมือนอ่านเกร็ดนิยายวิทยาศาสตร์ หรืออาจจะมองว่ากำลังอ่านพล็อตของนิยายวิทยาศาสตร์หลาย ๆ เรื่องก็ได้