
วันนี้ (20 เมษายน 2553) ไปทำงานสาย ตอนประตูลิฟต์เปิดเจอพี่ชิว ดร. บัญชา แอบสงสัยว่าพี่มาทำอะไรที่ตึกนี้ อาศัยช่วงเวลาก่อนประตูลิฟต์ปิดคุยกันครู่หนึ่ง ทราบว่า ดร. บัญชา หยิบหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ 10 ตำนานสะท้านโลก มาฝาก และวางไว้บนโต๊ะของผม ตอนค่ำเลิกงาน หยิบอ่าน รวดเดียวจบครับ เพลินจริง ๆ น่าทึ่งมาก เรื่องที่ยืดยาวน่าเบื่อหลายเรื่อง พี่แกเอามาเล่าด้วยสำนวนกัดแกมหยอกได้กระชับและสนุกสนาน กัดใครบ้าง? ลองอ่านแล้วเดากันเอาเองนะฮะ คอนเนลลีแห่งสยาม อิกเนเชียส คอนเนลลี เป็นคนที่ใส่สีตีไข่ Atlantis เสียอลังการปานอาณาจักรของพระเจ้า หรือจะเป็นยักษ์ที่ดอดหลุดจากโยทูนเฮม 'โฟนอิน' ปล่อยเชื้อใส่ลูกหลานมนุษย์ นี่ดอกหนึ่ง ดอกที่สองมาพร้อมอามูลิอุสผู้แย่งชิงบัลลังก์กษัตริย์นิวมิทอร์ด้วยราชสมบัติจากพระบิดา นั่น!
ตำนาน 10 เรื่องที่ ดร. บัญชา นำมาเล่าประกอบด้วย (1) ตำนานการเกิดคราสในวัฒนธรรมต่าง ๆ ชี้ให้เห็นตัวร่วมและตัวต่าง ตัวร่วมของบางวัฒนธรรมที่ดูเหมือน ๆ กันคือการส่งเสียงโหวกเหวกโวยวายและส่งอาวุธไล่ (2) ฉากอวตารของพระวิษณุเป็นเต่า (กูรมาวตาร) ในการกวนเกษียรสมุทร สไตล์การเล่าแทรกด้วยร้อยกรองจากลิลิตพระนารายน์สิบปาง บรรเจิดครับ น่าสงสารบรรดาอสูรซะเหลือเกินที่ไปอยู่ฝั่งหัวพญานาค (3) ตำนานการเกิดแผ่นดินไหวของแหล่งต่าง ๆ ตัวร่วมที่เราน่าจะเดาได้คือ ใครหรืออะไรกระทำกริยาดิ้น ฝั่งไทยเราก็ปลาอานนท์ ญี่ปุ่นก็ปลาดุกยักษ์ นอร์สก็เทพอสูรโลคีดิ้นเพราะพิษงู ไซบีเรีย หมาเกาเห็บ! เป็นต้น (4) เปรียบเทียบตำนานน้ำท่วมโลก ผู้เล่นหลักในบทนี้คือ อุตนาปิชทิมจากมหากาพย์กิลกาเมชของบาบิโลเนียน กับโนอาห์ในคัมภีร์พันธะสัญญาเก่า ร่วมด้วยนบีนูห์ของอิสลาม (สำหรับผู้ที่ศรัทธา คงไม่เรียกเรื่องเหล่านี้ว่าตำนาน) (5) มหากาพย์กิลกาเมชซึ่งเปิดฉากด้วยความหื่นและจบลงด้วยความหดหู่ ถ้ามองว่ามันเป็นนิยาย กิลกาเมช (มีเชื้อเทพ 2/3) เป็นตัวละครที่มีพัฒนาการหลากสีสันมากตัวหนึ่งฮะ ซึ่งบทนี้เชื่อมโยงกับบทก่อนหน้า เพราะช่วงบั้นปลายที่กิลกาเมชรู้จักความตายนั้น เขาก็ดั้นด้นเดินทางไปหาอุตนาปิชทิมผู้สร้างเรือคราวน้ำท่วงโลกครั้งที่ผ่านมา (6) ปริศนาแห่งแอตแลนติส ดินแดนอารยธรรมรุ่งโรจน์ที่กษัตริย์สืบเชื้อโพไซดอนแห่งนี้มีจริงหรือไม่ ถ้ามี อยู่แห่งหนตำบลใด ท้ายบทความ ดร. บัญชา แนะนำ The Atlas of Atlantis and Other Lost Civilizations ของ Joel Levy ถ้าคุณสนใจ ผมนึกถึงอีกเล่มที่เขียนเกี่ยวกับแอตแลนติสสนุกไม่แพ้กัน มีชื่อแปลไทยว่าไขปริศนาอารยธรรมโลก (จาก Hidden History) ของไบรอัน ฮอห์ตัน
(7) เจสันกับขนแกะทองคำ เรื่องนี้ใครเคยดูอภินิหารขนแกะทองคำคงยังจดจำความสนุกสนานได้ ผมสะดุดนิดนึง เพราะพี่แกเน้นถึง 2 ที แต่กลับไม่พูดถึงเลย (อันที่จริง ก็ไม่แปลกอะไร เพราะมันไม่ใช่เนื้อหาหลักไง) "เด็กหนุ่มหน้าตาดีซึ่งเป็นทั้งผู้ติดตามและคู่ขาของเฮอร์คิวลิส" "เฮอร์คิวลิสก็ออกตามหาคู่ขาคนโปรดของตน" คำถาม คู่ขาคนนี้คือใคร ... Hylas (แหงล่ะ เพราะเรากำลังมองคู่ขาบนเรือ Argo) เฮอร์คิวลิส อย่างที่รู้กันว่ามีคู่ขามหาศาล ใช่แค่เพียงผู้หญิง (อย่างตอนคิง Thespius ชวนเฮอร์คิวลิสมาฆ่าสิงโต ก่อนฆ่า ก็ชวนมานอนคืนนึงเพื่อทำความรู้จักกับครอบครัว อันได้แก่ ลูกสาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง 50 คน ว่ากันว่าคืนนั้นเฮอร์คิวลิสฟันไป 49) แต่ของรักอีกสิ่งของเฮอร์คิวลิสคือเด็กผู้ชายครับ อย่าง Hylas นี่ก็เป็นหนึ่งในเด็กหนุ่มสองคนที่เฮอร์คิวลิสโปรดปรานที่สุด (อีกคนคือ Iolaus หลานชายของเขาเอง คนนี้แหละช่วยเฮอร์คิวลิสปราบไฮดร้า) ซึ่งบางแหล่งบอกว่า Hylas ผู้ได้ความหล่อมาจากแม่ คนนี้หาใช่ใครที่ไหนไม่ แต่เป็นลูกของเฮอร์คิวลิสที่ไปเล่นชู้กับเมียของคิง Theiodamas นั่นเอง และที่อ่านเจอบ่อยที่สุด ชอบยกมาพูดกันมากที่สุด เมื่ออ้างถึงความรักของคู่นี้คือข้อเขียนโดยกวี Theocritus ความว่า ...
"We are not the first mortals to see beauty in what is beautiful. No, even Amphitryon's bronze-hearted son (พ่อของเฮอร์คิวลิสคือ Amphitryon มีเฮอร์คิวลิสเป็นลูกแฝดกับ Iphicles พ่อของ Iolaus นะฮะ), who defeated the savage Nemean lion, loved a boy—charming Hylas, whose hair hung down in curls. And like a father with a dear son he taught him all the things which had made him a mighty man, and famous.
And they were inseparable, being together both day and night. That way the boy might grow the way he wanted him to, and being by his side attain the true measure of a man. When Jason sailed after the golden fleece, and all the nobles went with him invited from every city, to rich Iolkos he came too, the man of many labors, son of noble Alcmena. And brave Hylas in the flower of youth went with him aboard the Argo, the strong-thwarted ship, to bear his arrows and to guard his bow."
(8) เทพปกรณัมของนอร์ส อันนี้ดูรูปปกครับ ภาพที่เห็นเด่นกินพื้นที่ส่วนมากคือภาพในมหาสงครามแร็กนาร็อก เทพแห่งสายฟ้าทอร์กำลังสู้กับพญางูโยร์มุนกันด์ด้วยค้อนเมียลเนียร์ ซึ่งในแง่การเปรียบเทียบสงครามระหว่างคู่นี้ถูกนำไปขยายในบทที่ (9) เทพสายฟ้าปะทะพญางูยักษ์ ที่มีนักวิจัยมองว่าเป็นแก่นแกนของเทพปกรณัมวัฒนธรรมอินโด-ยูโรเปียนแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเทพเปรุนของสลาฟสู้กับพญางู ซูสต่อสู้กับไทฟอนของกรีก หรือพระอินทร์ต่อสู้กับอสูรวฤตระ (10) ตำนานอมตะแห่งโรม เล่าเรื่องราวสร้างกรุงโรมของสองพี่น้องโรมิวลุสและรีมุส (คนที่สร้างโรมจริง ๆ คือ โรมิวลุส)
นอกจากตำนาน ดร. บัญชา ยังแทรกเกร็ดคำศัพท์ที่มาพร้อมกับตำนานเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างน่าสนใจยิ่ง ขอบคุณพี่ชิวสำหรับหนังสือครับ เชียร์