
บทความชื่อ Thai Ideas about Hinayana/Mahayana: Correspondence between King Chulalongkorn and Prince Narisranuvattiwong ของ Arthid Sheravanichkul นำเสนอความคิดและความพยายามหาจุดกำเนิดและความแตกต่างระหว่างหินยานและมหายานทั้งในภาพโดยรวมของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาและในประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในจดหมายโต้ตอบสามฉบับ ระหว่าง ร. 5 กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โดยผู้เขียนบทความบอกว่า ร. 5 ทรงตอบอธิบายกรมพระยานริศฯ ผ่านกรอบของตำราตะวันตกและนักวิชาการชาวญี่ปุ่น (คาดเดาว่า มาจากหนังสือ A Short History of the Twelve Japanese Buddhist Sects ของ Bunyiu Nanjio ซึ่งเคยมาของแบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่ได้จากเมืองปิปราหะวะจาก ร. 5)
ที่มาของจดหมายนั้นเริ่มจากตอนที่ ร. 5 ทรงได้รับภาพพระสุนทรีวาณี (ว่ากันว่า เป็นเทวีแห่งความรู้แจ้ง) จากกรมพระยานริศฯ และมีพระดำริว่า ดูจากทรงแล้ว พระสุนทรีวาณีมีลักษณะออกไปแนวมหายาน ขณะเดียวกันก็ทรงรับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ หาที่มา ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (แพ ติสฺสเทโว) บอกว่าเป็นของสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) แห่งวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ผู้เขียนบทความคาดเดาว่า ร. 5 ทรงเชื่อมโยงความคล้ายของรูปพระสุนทรีวาณีกับภาพปักพระโพธิสัตว์ตาราบนผ้าพระบฏ (Thangka) ของศาสนาพุทธฝ่ายธิเบต จึงมีดำริเช่นนั้น ภายหลัง กรมพระยานริศฯ ทรงบอก ร. 5 ว่าพระองค์ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมหายานเลย ด้วยเหตุนี้ ร. 5 จึงตอบกลับด้วยจดหมายสามฉบับ ข้อมูลที่ทรงค้นคว้าประกอบการตอบกลับนอกจากตำราแปลอังกฤษของนักวิชาการญี่ปุ่นแล้ว ยังทรงอ้างอิง Report on the Excavation at Pataliputra (Patna): the Paliborthra of the Greeks โดย Waddell เพราะอยากได้หลักฐานทางโบราณคดีสมัยใหม่สนับสนุน นอกจากนี้ ยังทรงอ้างชินกาลมาลีปกรณ์ และถกปัญหาดังกล่าวกับกรมพระสมมตอมรพันธุ์และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตามคำบอกเล่าของหลวงจีนฟาเหียน (法顯) ตอนไปเยือนอโศการามกับกุกกุฏารามที่ปาตลีบุตร (หรือปัฏนา) พระสงฆ์หินยานกับมหายานยังอยู่ในอารามเดียวกัน (อันที่จริง คำว่า หินยาน เป็นคำที่นิกายฝ่ายเหนือใช้เรียกนิกายฝ่ายใต้ และคำว่านิกายฝ่ายเหนือ/ใต้ อุตรนิกายหรือทักษิณนิกาย ก็เป็นคำที่นักวิชาการยุโรปใช้เรียกกลุ่มของพระสงฆ์ ส่วนคำว่า เถรวาท ในความหมายที่ใช้แทน หินยาน นั้นเป็นคำที่เพิ่งสร้างโดยนักวิชาการชาวศรีลังกา Gunapala Piyasena Malalasekera เมื่อราว 60 ปีก่อน แต่คำว่า เถรวาท ในความหมายตรงตามตัวอักษร คือ words of the elders นั้นมีมานานแล้ว เช่น ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระพนรัตน (แก้ว) สมัย ร. 1) ตามตำราฝ่ายญี่ปุ่นนั้น มหายาน แยกออกมาในช่วงระหว่างสังคายนาครั้งที่ 3 และ 4 และเชื่อว่า ในไทยเรา เดิมนั้นเป็นมหายาน และเปลี่ยนมาเป็นหินยาน (ลังกาวงศ์) หลังจากการสังคายนาครั้งที่ 8 ที่เชียงใหม่ เหตุผลที่ ร. 5 ทรงเชื่อเช่นนี้มีหลายปัจจัย อาทิ การใช้ภาษาสันสกฤตในพุทธไทยและการค้นพบทางโบราณคดีต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร รวมถึงบทสวดที่อ้างนามพระพุทธเจ้าจำนวนมหาศาลเริ่มจากอมิตาภะในมหายานที่คล้ายกับบทสวดสัมพุทเธที่มีมาช้านานในไทย ร. 5 ทรงเชื่อว่าสัมพุทเธมีรากมาจากมหายาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เห็นตาม ร. 5 จากคำตอบต่อคำถามของ M. R. Sumanachat Svastikula ที่ว่าพุทธในไทยเป็นหินยานหรือมหายาน กรมพระยาดำรงราชานุภาพตอบว่า เดิมเป็นมหายาน รับมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นหินยานในสมัยสุโขทัย แต่กระนั้น ก็มีหลายบทที่เราก็ยังสวดแบบมหายาน
[จากหนังสือ How Theravada is Theravada? Exploring Buddhist Identities? บรรณาธิการโดย Peter Skilling, Jason A. Carbine, Claudio Cicuzza, Santi Pakdeecham]