Tom Gilovich เพื่อนร่วมงานของ Frank ที่ Cornell ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ แสดงให้เห็นความโน้มเอียงประการหนึ่งของคนเราที่จะรับรู้สิ่งต่อต้านได้ดีกว่าสิ่งสนับสนุน เขายกตัวอย่างแบบนี้ฮะ เรารับรู้ถึงแรงลมทันทีที่ปั่นจักรยานต้านลม และภาวนาให้ถึงโค้งเพื่อเปลี่ยนให้ทิศการเดินทางไปในทิศตามลมสักที พอถึงจุดนั้นจริง ๆ เราจะรู้สึกโล่ง สบาย แล้วสักพัก เราก็จะลืมว่า เราปั่นได้สบายกว่าเดิมเพราะมีลมผลักอยู่ข้างหลังของเรา อันที่จริง ถ้าเราค้นหารูปด้วยคีย์เวิร์ด headwind ในกูเกิ้ล เราจะเจอรูปมากมาย ตรงกันข้ามกับคีย์เวิร์ด tailwind ซึ่งแสดงออกมาเป็นภาพได้ยากมาก นักเศรษฐศาสตร์คอร์แนล Robert H. Frank ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่า บทบาทของโชคดี (luck) ต่อการประสบความสำเร็จของคนเราก็เหมือนกับ tailwind นั่นแหละฮะ มักถูกมองข้ามและลดความสำคัญ แล้วคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่โยนเหตุปัจจัยสู่ความสำเร็จนั้นไปให้ความตรากตรำ ทำงานหนัก และความสามารถของตัวเองจนหมดสิ้น จริงอยู่ที่ปัจจัยด้านอิทธิบาท 4 เป็นปัจจัยที่จำเป็น (necessary condition) แต่ในหนังสือเล่มนี้ Frank พยายามชี้ว่า สิ่งเหล่านั้นยังไม่ใช่ปัจจัยที่พอเพียง (sufficient condition) โดยเฉพาะในตลาดแบบผู้ชนะกินเรียบ (winner-take-all market) ซึ่งอุบัติขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีพร้อม (โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ) ซึ่งทำให้ผู้ชนะสามารถเข้าถึงได้โดยลูกค้าวงกว้าง ลักษณะอย่างหนึ่งของตลาดแบบนี้คือ คุณภาพระหว่างสินค้าเบอร์หนึ่งกับเบอร์สองอาจไม่ต่างกันมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้ของเบอร์หนึ่งกับเบอร์สองนั้นแตกต่างกันลิบลับ ฉะนั้น ผลตอบแทนจำนวนมากจึงไปกระจุกอยู่ในมือของกลุ่มบน และผลตอบแทนเหล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพเชิงเปรียบเทียบมากกว่าคุณภาพสัมบูรณ์ในตัวของสินค้าหรือบริการเอง

การมองข้ามบทบาทของ luck สามารถอธิบายได้หลายแง่มุม เช่น ในทางจิตวิทยามีคำว่า hindsight bias ใช้เรียกแนวโน้มที่คนเชื่อว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ สามารถพยากรณ์ได้มากกว่าที่มันเป็น พอเราคิดว่าเรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ยากที่สร้างเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น และการอธิบายความสำเร็จด้วยการทำงานหนักและความสามารถนั้นก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์ใน competitive environment เสียเมื่อไหร่ พ่อแม่ที่สอนลูกว่า โชคไม่สำคัญเท่าความพยายามของเราหรอก มักจะเลี้ยงลูกที่ประสบความสำเร็จมากกว่าพ่อแม่ที่บอกความจริง ในแง่นี้ Frank ว่า มันก็คือ false belief (หรือ belief ที่ objectively false ... เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่อง free will) ที่เป็นความเชื่อแบบ adaptive นั่นคือ จำเป็นต่อการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน Nassim Taleb ก็ได้พูดถึงแนวโน้มการลดบทบาทของโชคในหมู่นักลงทุนเมื่อการลงทุนประสบผลสำเร็จ แต่โยนความผิดไปให้โชคร้าย เมื่อการลงทุนล้มเหลว ว่าเป็นแนวโน้มร่วมประจำกลุ่มเช่นกัน เราเข้าใจว่า สิ่งที่ Frank พูดมาทั้งหมดในหนังสือ ก็เพื่อโยนมาเข้าคำถามว่า พอเรายอมรับว่าโชคเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของเรานั้น (ถ้าเป็นตลาดแบบผู้ชนะกินเรียบ ผู้ชนะเบอร์หนึ่งคือผู้ที่โชคดีมากกว่าผู้ที่มีความสามารถสูงสุด ด้วยเหตุผลที่จะอธิบายในย่อหน้าสุดท้าย) มันมีข้อดียังไง คำตอบคือ พอเรายอมรับบทบาทของโชคดี การกำหนดนโยบายให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เกื้อหนุนต่อการมีโชคดี การมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี ก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเชิงตรรกะ และด้วย premises เพียงไม่กี่ข้อ รวมถึงการเสียสละที่ไม่มากเกินไป เขาเชื่อว่า progressive consumption tax คือคำตอบฮะ ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ David Brook อ้างว่าได้รับจากนักธุรกิจโอไฮโอ เขียนว่า "หลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจของผมประสบความสำเร็จ ผมทำงานหนัก และผมภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำลงไป แต่พอตอนนี้โอบามามาบอกว่า แรงผลักทางสังคมและการเมืองมีส่วนในความสำเร็จนั้น มิตต์ รอมนีย์ ก็พูดที่อิสราเอลว่าแรงผลักทางวัฒนธรรมคือสิ่งที่อธิบายความแตกต่างในความมั่งคั่งของชาติต่าง ๆ คำพูดเหล่านี้ทำให้ผมสับสนครับ ความสำเร็จแค่ไหนกันที่เป็นของผม แล้วส่วนไหนที่มาจากแรงผลักภายนอกเหล่านั้น" Brook ตอบว่า "การเริ่มต้นด้วยภาพมายาว่าคุณควบคุมสิ่งที่คุณกระทำได้ทั้งหมดนะเป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนจบอย่าลืมว่า สุดท้ายแล้ว คุณได้รับมากกว่าที่ควรได้รับ ในฐานะผู้บริหารที่มีความมุ่งมั่น ความเชื่อว่าคุณสมควรได้รับเครดิตจากความสำเร็จทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในฐานะมนุษย์ คุณควรจะรู้นะว่า ความเชื่อแบบนั้นมันตลก" ... ในหนังสือ Frank ตบจบด้วยโควตจาก F. Scott Fitzgerald ว่า "บททดสอบทางปัญญาชั้นดีคือ ความสามารถยึดถือความคิดขั้วตรงข้ามกันสองอันเป็นสรณะในเวลาเดียวกัน แล้วทำอย่างอื่นได้" เราอดไม่ได้ที่จะพูดถึงข้อโต้แย้งหลักของ Frank ที่ว่า คนโชคดีคือคนชนะในตลาดแบบผู้ชนะกินเรียบ และโดยส่วนใหญ่แล้ว นั่นไม่ใช่คนที่มีความสามารถสูงสุด สมมุติว่าปัจจัยที่จะทำให้ชนะมีแค่อย่างเดียว คือ ระดับความสามารถ และสมมุติว่าระดับความสามารถของผู้ท้าชิงกระจายแบบ uniform จาก 0 ถึง 100 ฉะนั้น โดยเฉลี่ยแล้ว ถ้ามีผู้ท้าชิง 2 คน ค่าคาดหมายของระดับความสามารถของคนชนะคือ 67 (ถ้า 3 คน 75, 10 คน 90, หรือ 1000 คน 99.9) ทีนี้ถ้าเอาปัจจัยเรื่องความโชคดีมาคิดร่วมด้วย ภายใต้สมมุติฐานว่าระดับความสามารถกับระดับความโชคดีเป็นอิสระจากกัน และระดับความโชคดีของผู้ท้าชิงกระจายแบบ uniform จาก 0 ถึง 100 เช่นกัน โดยให้น้ำหนักกับความโชคดีแค่ 5% ส่วนอีก 95% คือระดับความสามารถ (ฉะนั้น คนที่มีความสามารถ 90 โชคดี 60 จะมีระดับผลงานอยู่ที่ 88.5) ในเมื่อความสามารถกับโชคเป็นอิสระจากกัน คนที่มีความสามารถสูงสุด ในกลุ่มผู้ท้าชิง 1000 คน จะมีค่าคาดหวังของความสามารถอยู่ที่ 99.9 แต่ค่าคาดหวังของโชคดีอยู่ที่ 50 แปลว่าจะมีค่าคาดหวังของระดับผลงานอยู่ที่ 97.4 ... คำถามคือ 97.4 เป็นระดับที่สูงพอที่จะชนะหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะ ใน 1000 คน เราคาดหวังได้ว่ามี 10 คนที่มีระดับความสามารถไม่ต่ำกว่า 99 และใน 10 คนนั้น ค่าคาดหวังของระดับโชคสูงสุดคือ 90.9 ทำให้ค่าคาดหวังสูงสุดของระดับผลงานขั้นต่ำอยู่ที่ 98.6 (มาจาก 0.95*99 + 0.05*90.9) ซึ่งสูงกว่าค่าคาดหวังของระดับผลงานของคนที่มีระดับความสามารถสูงสุด ฉะนั้น ในผู้ท้าชิง 1000 คน จะมีคนมีความสามารถต่ำกว่าคนที่มีความสามารถสูงสุดนิดหน่อยแต่ดวงดีกว่า (เกือบ) เสมอ ถึงแม้น้ำหนักของโชคจะน้อยนิด แต่ผู้ชนะมักจะเป็นคนที่ดวงดีที่สุดมากกว่าคนที่มีความสามารถสูงสุด ในการจำลองของ Frank ที่มีผู้ท้าชิง 100,000 คน 68% ของผู้ชนะ ไม่ใช่คนที่มีความสามารถสูงสุด เมื่อคิดว่า luck มีน้ำหนักแค่ 1% (แต่ถ้า luck มีน้ำหนัก 5% ตัวเลขจะขยับไปเป็น 87.1%)