top of page

Winter 2020

Nozawaonsen

เดิมทีตั้งใจว่าจะเขียนถึงทริปสกีฤดูกาลนี้หลังจากตัดต่อคลิปเสร็จ แต่อารมณ์กับเวลายังไม่ให้ ดูทรงแล้วคงจะอีกสักพักใหญ่ ๆ จึงเปลี่ยนใจมาเขียนก่อนจะลืมดีกว่า อย่างที่รู้นะฮะว่าฤดูหนาวปีนี้หิมะตกช้าและตกน้อย ที่ญี่ปุ่นนี่น้อยสุดในรอบครึ่งศตวรรษ ตอนวางแผนก็เช็คพวก moutainwatch มีคนเอาโมเดลทำนายว่าหิมะจะตกครึ่งฤดูหลังมาตอกย้ำอยู่เรื่อย ๆ บอกให้ตั้งความหวัง ยังไง Japow ก็ต้องมา ประกอบกับจังหวะที่กลุ่มพวกเราว่าง กำหนดการจึงเป็นแผนเล่นสกีต่อเนื่อง 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 จนถึง 21 ก.พ. เอาให้หายอยากกันไป โชคดีมากฮะ ทุกลานที่เล่นหิมะยังถือว่าเลิศในระดับที่พื้นที่ต่ำหน่อยบางแห่งยังเป็นสนามหญ้า วันที่ 11-13 เล่นที่ Nozawaonsen พักที่โยเอมุ พอป้าและลุงเจ้าของโรงแรมรู้ว่าปีที่แล้วเราก็มาพักที่นี่ เธอแสดงความดีใจและดูแลกลุ่มพวกเราดีเชียวล่ะ วันแรกหิมะตกเอาจริงเอาจัง เฟิร์น ป่าน หนูนา เมฆ แยกไปเรียนกับครูสกีคนหนึ่ง ส่วนเราแยกไปเล่นกับท็อป วันที่สองจึงกลับมาเล่นด้วยกันและพาเด็ก ๆ ไปจนถึงจุดสูงสุด พอวันที่สาม เกิดเรื่อง สำหรับวันนี้ สองสาว เฟิร์นกับหนูนาขอหยุดพักขา ในการเล่นรอบสุดท้ายก่อนกลับโรงแรมเพื่อเดินทางต่อไปจังหวัดยะมะงะตะ เราเลือกเส้น skyline เพราะสามารถลงยาวได้ไปจนถึงโรงแรม ป่านบอกว่าพยายามหลบสโนบอร์ดที่ล้มข้างหน้า ทำให้เสียหลักและล้ม กระดูกสะบ้าเข่าเคลื่อน ต้องเรียก patrol ให้ช่วยพาลง และนำส่งโรงพยาบาล (ขอบคุณคุณลุงโรงแรมโยเอมุที่ช่วยขับรถไปรับจาก patrol office แล้วส่งสถานีอนามัย) จุดที่ป่านล้มเป็นจุดชันที่สุดและแคบของ skyline สายสีแดง ดังนั้น snow scooter ของ patrol จึงขึ้นมารับไม่ได้ ต้องส่งเจ้าหน้าที่สองคนขึ้นมาหามลงไปยังจุดที่ไม่ชันมากนัก ซึ่งรถสกู๊ตเตอร์จอดรออยู่พร้อมกับเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคน หลังจากพวกเราช่วยเจ้าหน้าที่สองคนนำตัวป่านลงแคร่หรือเลื่อน (ไม่รู้เค้าเรียกว่าอะไร ... sled?) มองดูเจ้าหน้าที่ไถสกีพร้อมแคร่ไปจนถึงสกู๊ตเตอร์ ก็ยืนทำใจ จิตตก สักพักป่านโทรมา บอกให้สกีตามเจ้าหน้าที่ patrol ไปหนึ่งคน เรารีบตามลงไป ท็อปกับเมฆก็ตามมา พอถึงจุดที่สกู๊ตเตอร์พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทั้งสามรออยู่ เขาก็บอกให้เราตามเจ้าหน้าที่ 2 คนที่สกีพร้อมแคร่ไป ป่านนั่งไปกับสกู๊ตเตอร์ เจ้าหน้าที่สองคนก็ออกนำ เราตาม เส้น skyline จะมีทางแยกอยู่หลายเส้น เดาว่ารถวิ่งอ้อมแยกไปทางเส้นเขียว ส่วนคุณน้อง patrol สองคนที่สกีนำเราอยู่ข้างหน้า คงไม่รู้ว่าคนที่อยู่ใต้หมวกกันน็อคสีฟ้าและใช้สกีสั้นสีเขียวที่กำลังไล่ตามหลังอยู่นั้น แท้จริงแล้วเป็นลุงคนหนึ่ง จึงเลือกเส้นสีดำที่มีป้ายอันใหญ่เขียนเตือนไว้ดัวยตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า 'MOST DIFFICULT' พอเข้าทางดำ เราก็มองไม่เห็นท็อปกับเมฆที่ตามมาข้างหลังแล้ว ไม่รู้จะบอกน้อง ๆ อย่างไรว่าอย่าตามมาทางนี้ ได้แต่หวังว่าทั้งสองจะรู้และเลี้ยวไปออกเขียว แล้วรอเจอกันที่โรงแรม พอเราไปถึง patrol office ถึงก่อนป่านกับสกู๊ตเตอร์พักใหญ่ ๆ เลยล่ะ ก็หมดแรง ขาสั่น (อยากเปร่งเสียงออกไปว่า พาชั้นส่ง ร.พ. อีกคนด้วยเลยนะ) กรอกเอกสาร 1 ชุด แล้วคุณลุงโยเอมุก็มารับไปส่งสถานีอนามัย ก่อนหน้านี้ คุณลุงพาเฟิร์นกับหนูนาไปรอที่นั่นแล้ว ป่านมีกำลังใจดีมาก พูดกับเฟิร์นทั้ง ๆ ที่ยังยืนด้วยตัวเองไม่ได้ว่า ถ้าหมอโอเค พรุ่งนี้เขาจะเล่นต่อ! กลัวน้องจะเสียขวัญ เราเปิดคินเดิ้ล แล้วจับภาพหน้าจอจากหนังสือ Ultimate Skiing ของ Ron LeMaster ในกรอบที่เป็นประวัติของ Hermann Maier ส่งไปให้อ่าน ... คืนนั้น พวกเราเดินทางไปจังหวัดยะมะงะตะ ตามแผน

No pains, no gains. If little labor, little are our gains: Man's fate is according to his pains. (Hesperides 752)


Zao Onsen

เดินทางถึงโรงแรมที่ยะมะงะตะเกือบเที่ยงคืน ขอบคุณคุณน้องผู้ชายที่โยเมอุผู้ช่วยเป็นธุระแจ้งทางโรงแรมที่ยะมะงะตะให้ เฟิร์นกับป่านอยากนอน ร.พ. แต่คุยกับกลุ่มเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่โรงแรมโทรตามมาไม่ค่อยรู้เรื่อง ขอบคุณน้องปันที่ยอมถูกปลุกและช่วยเป็นล่ามให้ วันที่ 14-16 เล่นที่ Zao onsen เรา ท็อป หนูนา เมฆ ออกจากโรงแรมตั้งแต่เช้า ส่วนเฟิร์นกับป่านตามมาทีหลัง คุณลุงเจ้าของโรงแรมมารับที่สถานีรถบัส วันที่ 14 เล่นกัน 3 คน ท็อปและเมฆ วันที่ 15 เฟิร์นกับหนูนามาเล่นด้วย วันนี้พาเด็ก ๆ ขึ้นไปถึงลิฟต์สถานี Zao Sancho ที่นักท่องเที่ยวชอบมาดู snow monsters และถ่ายรูปคู่ Zao Jizoson แต่ไม่มีแนวร่วมเดินขึ้นไปยอด Mt. Jizo (1,736 เมตร) ปีนี้หิมะน้อย ทำให้ monsters ตัวแคระแกร็นผอมเห็นกระดูก ไม่น่าเกรงขาม ลองพาลงคอร์สยาว น้อง ๆ ทุกคนโดยเฉพาะเฟิร์นกับหนูนา ใจสู้มาก ชื่นชม วันที่ 16 แยก 2 กลุ่ม ท็อป-เรา กับ เมฆ-หนูนา สำหรับเฟิร์น-ป่านเตรียมตัวเข้าโตเกียวเพื่อกลับมาหาหมอที่ไทย ยกเลิกแผนการเดินทางช่วงท้ายที่ Hakuba วันนี้ฝนตก ชุดสกีของเราเป็นชุดไม่มียี่ห้อ ซื้อจาก SuperSport ตอนลดราคาตั้งแต่ปี 2013 สูญสิ้นความสามารถในการกันน้ำไปนานแล้ว แต่ยังบ้าจี้ ด้วยจุดหมายแรกที่ตั้งใจว่าจะต้องไปคือยอดเขา Jizo ก็พากันเดินตากฝน ฝ่าลมแรง เปียกสะท้านไปทั้งตัวตั้งแต่ยังไม่ผ่านพวกมอนสเตอร์แกร็นสองแถวแรก ตอนเรากำลังเดินขึ้น มีฝรั่งสวนลงมาด้วยการนั่งไถก้นสไลด์ ดูแล้วสนุก ขาลงเราเอาบ้าง สนุก กว่าจะถึงยอด เล่นซะหมดแรง ถามตัวเองหลายครั้งว่า ชั้นจะขึ้นไปทำไม จุดราบสุดท้ายก่อนถึงยอด มีเด็กหนุ่มญี่ปุ่นคนหนึ่งกำลังนั่งกินขนมอยู่ เขาส่งยิ้มทัก ไม่ส่งขนม (นึกเสียดาย ถ้าถือขนมขึ้นมาด้วย เราก็มีคำตอบล่ะ) พอถึงยอด นอกจากฝนตกลมแรงแล้วหมอกยังเยอะ ไม่ต้องคิดมองวิว ถ่ายรูปสี่ห้ารูปก็เริ่มนั่งแล้วสไลด์ลง ครึ่งบ่ายหมอกจัด หาทางแยกไม่เจอ ท็อปจึงได้เล่นเส้นที่มี moguls ระยะสั้น ๆ เป็นครั้งแรก เขาว่าสนุกดี ตอนเย็น หนูนากับเมฆแยกเข้าโตเกียว เหลือเรากับท็อปแค่สองคนย้อนกลับไปจังหวัดนะงะโนะ วันที่เหลือพวกเราจะเล่นที่ฮาคุบะ ม้าสีขาว ที่นั่นมีรอยแค้นของท็อปอยู่

Know your limits, then ski beyond them. (เครดิตโควตจากเพจกระทิงแดงประกอบคลิป Victor De Le Rue สกีที่ Chamonix)

Hakuba - Goryu, 47, Happo-one

วันที่ 17-19 เล่นที่ Goryu กับ 47 พักโรงแรมอะรุมุ ห้องพักใหญ่และอยู่ใกล้ลิฟต์ ห้องอาบน้ำเปิด 24 ชั่วโมง ชอบมาก วันที่ 20-21 เล่นที่ Happo-one พักโรงแรมอะตะระชิยะ ห้องพักดูใหม่ ไม่ไกลจากสถานีรถบัส ไกลจากลิฟต์พอสมควร แต่ยังอยู่ในระยะเดินแบกสกีไหว โดยรวมโอเค แต่ไม่มีอะไรให้ประทับใจเป็นพิเศษ ทั้งสามลานนี้มองเห็นกัน วันที่ 17 ตอนไปถึง Goryu คนเยอะฮะ ลานต่ำหลายลานเป็นสนามหญ้า พยากรณ์อากาศบอกว่าวันนี้หิมะจะตกหนักโดยเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่าย เป็นไปตามนั้น และตกต่อเนื่องสองวัน วันที่ 18 จึงฟิน สองวันนี้ท็อปสามารถลงเส้น Champion Expert Course (ดำที่มี Moguls) ได้ วันที่ 19 ส่วนใหญ่เล่นอยู่ในโซน Hakuba 47 เส้นทางของ Goryu กับ 47 เราจึงเก็บครบ ตอนบ่ายแก่ ๆ ก่อนกลับโรงแรมเพื่อเดินทางต่อไป Happo-one ท็อปอยากเล่นหลุมของ Champion Expert Course อีกสักรอบ แต่ทันทีที่สกีเข้า course นั้น ในใจก็ร้องว่าซวยล่ะ และก็เพิ่งสังเกตว่าแทบไม่มีคนเล่นเส้นนี้ หิมะตลอดทั้งเส้นเป็นแบบ icy compacted แทบจะเป็นลานน้ำแข็ง และเป็นลานน้ำแข็งที่ชันและหลุมน้ำแข็ง ก็บอกท็อปว่าจะเล่นเหมือนเมื่อวานไม่ได้นะ แข็ง ลื่น ขอบสกีจิกหิมะไม่อยู่ ไม่ทันขาดคำ ท็อปถูกดีดออกจากหลุม สกีหลุด แล้วตัวไถล่แบบเอาหัวลงไปจนลับสายตา ตกใจ ตะโกนไปไม่มีเสียงตอบกลับ มองไม่เห็นจริง ๆ ว่าท็อปไปหยุดอยู่ตรงไหน สำหรับหน้าที่ตามเก็บสกีให้น้อง ๆ พี่ ๆ นี่เราทำบ่อยนะ แล้วก็ทำอย่างสนุกสนานด้วย แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องคิดเยอะเป็นพิเศษและแอบกลัว คิดว่าจะลงท่าไหนเพื่อไปเก็บ คิดว่าจุดที่เก็บจะจิกหิมะอยู่มั้ย แล้วถ้ามันไหล จะปล่อยให้ไหลต่อยังไง ทางไหนเพื่อให้เอาอยู่ สกีสั้นด้วย จิกพื้นไม่อยู่จริง ๆ หลังจากเก็บสกีเสร็จ และลงแบบ side slipping ด้วยการไหลไปตามขอบหลุม (ถ้าลงหลุมที่เป็นน้ำแข็ง แล้วเสียการควบคุมความเร็ว ตอนถูกดีดออกมา มั่นใจว่าสกีสองอันในมือต้องกระจายและเจ็บแน่ ๆ) ลงไปสักพักก็เห็นท็อปพยายามจะเดินขึ้นมา อยู่ห่างไปสัก 100 เมตร ก็ตะโกนบอกให้เขารอตรงจุดที่คิดว่าสามารถใส่สกีได้ เราเอาลงไปให้จะง่ายกว่า เบ็ดเสร็จแล้วใช้เวลานานมากกับเส้นนี้ และตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่บนเส้นนั้น ก็มีเพียงแค่ 2 คนที่สกีตามลงมาแบบต้องหยุดคิดเพื่อเลือกเส้นทางเหมือนกัน เป็นการจบทริป Goryu แบบดูไม่จืดสักเท่าไร หลังจากนั้น นั่ง Taxi จากอะรุมุไปถึงอะตะระชิยะ ค่า Taxi ประมาณ 4,000 เยน สองวันสุดท้ายของทริปคือที่ลานฮัปโปโอเนะ ท็อปเล่นที่นี่เป็นครั้งที่ 2 ส่วนเราครั้งที่ 4 ครั้งแรกที่ท็อปเล่น (คือครั้งแรกที่ท็อปหัดเล่นสกีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว) มาพร้อมกลุ่ม ดร. โกโก้และเพื่อน ๆ ของเขาจาก UEC ปีนั้นท็อปปิดทริปก่อนเวลาอันควรด้วยการสกีเข้าไปปักรั้วตะแกรงโลหะ แล้วถูกดีดจนตัวหลุดออกจากสกี เอาหัวเข้าไปโหม่งรั้ว ปีนี้เขาก็ตั้งใจจะไปล้างตา น่าเสียดาย จุดนั้นปิดเพราะหิมะน้อย แต่ก็น่าจะถือว่าท็อปแก้แค้นได้สำเร็จล่ะนะ เพราะขึ้นไปจนถึง Happo-ike Sanso แล้วลง double black diamond ได้อย่างสนุกสนานนี่นา จำได้ว่า ครั้งแรกที่เรามา Happo-one เรามาพร้อมกับสมาชิก Lab ของอาจารย์ Akagi และ Lab ของอาจารย์ Unoki ตอนออกจาก Gondola Adam แล้วมองดูคนเล่นบน double black diamond ครั้งนั้น เป็นการมองด้วยสายตาเปรียบเทียบกับความสามารถของตัวเองแล้วตั้งคำถามว่า อย่างเรานี่อีกกี่ปีถึงจะทำได้วะ มันช่างห่างไกลซะเหลือเกิน เหตุผลหนึ่งที่เราชอบสกีก็ตรงนี้แหละ อะไรที่มองเห็นว่ายากเกินความสามารถ พอได้เจ็บตัว ล้ม ๆ ลุก ๆ ไปสักพัก เดี๋ยวมันทำได้เองซะงั้น จบทริปสกี 11 วันวันที่ 21 ตอนค่ำ ๆ เข้าโตเกียว วันที่ 22 เช้าเดินทางกลับไทย ทริปปีนี้สนุกมาก ขอบคุณน้อง ๆ ร่วมทริปทุกคน เฟิร์น ป่าน หนูนา เมฆ และท็อป

“Skis are not just pieces of wood, steel and fiberglass. They are tools for escape, a medium for personal expression, a way to challenge fears, push limits and share incredible experiences with your friends.” – Unknown


bottom of page