top of page

October 11 Sex Issue


รวม 31 บทความ อ่านจุใจ ว่าด้วย sex ยกเว้นช่วง october people กับ october around the world บทความมีความหลากหลายครับ ทั้งในเรื่องราวที่นำเสนอ และคุณภาพ บางบทความ ตอนอ่าน ก็อดเถียงหรืออดแซวไม่ได้ อย่างบทความชื่อวิถีแห่งเพศและวิถีแห่งการบำเพ็ญตบะ: มักซ์ เวเบอร์ ของอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา (ดู ล่ำ ใครชอบ? ด้านล่าง) บทความสำรวจปูมหลังเรื่องอย่างว่าในบทเพลงร่วมสมัย ของคุณเผ่าเจ้า กำลังใจดี (ดู เซ็กส์กับเสียงดนตรี มนุษย์รู้จักอันไหนก่อนกัน?) บทความโป๊มั้ยพี่?: เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสื่อลามก ของคุณอิสร์กุล อุณหเกตุ (ดู [ดูหนัง] โป๊ [แล้วเกิดอารมณ์] มั้ยพี่? ฉบับถามคนคุก) บทความคำถาม 13 ข้อเกี่ยวกับเซ็กซ์ที่ผมไม่รู้จะถามใคร ของคุณผาด พาสิกรณ์ (ดู ว่าด้วยเซ็กส์ไม่ได้ช่วยในการเลือกซื้อรองเท้า) คำถามของผาดมีอีกหลายคำถามที่น่าสนใจจริง ๆ แต่บางคำถามก็อะไรไม่รู้ คำถามที่ผมชอบที่สุดคือคนตาบอดแต่กำเนิดตอนเกิดอารมณ์ทางเพศมีภาพชนิดใดในหัว แน่นอนว่าไอ้ที่อยู่ในหัวไม่มีทางเป็นภาพหรอกครับ เพราะเขาไม่มีความคิดเรื่องภาพ แต่เขาย่อมต้องมีความคิดเรื่องความเซ็กซี่ ทีนี้คำถามมันจึงเป็นความเซ็กซี่ภายในสมองนั้นจะถูกสร้างขึ้นมาจากข้อมูลที่เก็บสะสมจากอายตนะภายนอกอะไรบ้างต่างหาก คำถามนี้ทำให้ผมต้องไปนั่งอ่านเว็บที่คนตาบอดเข้ามาบรรยายว่าความคิดเกี่ยวกับคนเซ็กซี่ที่เขารับรู้นั้นเป็นเช่นไร คำตอบคือเสียงและการแสดงตัวตนหรือบุคคลิก มีคำถามบางข้อเช่นข้อ 3 ที่คุณผาดพูดถึงคำต่อจากคำว่า 'เยซู' ในพจนานุกรม อันนี้ก็ไม่ได้ไปตามเปิดดู แต่เดาว่า 'เย็ด'

บทความเซ็กซ์กับพุทธของพระไพศาล วิสาโล อ่านแล้วไม่รู้แกจะเอาไงแน่ แกพูดว่าเซ็กส์ของคนต่างจากสัตว์ส่วนใหญ่โดยอ้างอิงหนังสือของจาเร็ด ไดมอนด์ (Why is Sex Fun?) ซึ่งประเด็นที่พูดแบบนี้ จาเร็ดเขาต้องการจะชี้ให้เห็นว่าอะไรที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมดังกล่าว พยายามอธิบายถึงพฤติกรรมที่ดูเหมือนสิ้นเปลือง แต่น้ำเสียงพระแกเอามาใช้สนับสนุนความเป็นของไม่ประณีต (หากจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับพูดว่า ไอน์สไตน์บอกมวลคือพลังงาน แล้วโยงกับมวลบนโลกที่ถูกดูดโดยโลก มวลก็ต้องดูดโลกด้วยตามกฎข้อ 3 ของนิวตัน คือความรู้ 2 เรื่องนี้มีส่วนที่ซ้อนทับกันก็จริง แต่มันไม่ได้เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลกันจนเอามาพูดต่อกันหรือใช้สนับสนุนกัน) อันที่จริงพุทธจะมองว่าความสุขจากกามคุณไม่ประณีตก็ไม่แปลกอะไร เพราะปรัชญาของพุทธเป็นแบบนั้น และไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการร่วมเพศของมนุษย์ด้วย ไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะมีคำอธิบายว่าอะไร บทความนี้จึงเหมือนมี 2 ส่วนที่พยายามเชื่อมโยงถึงกันแต่ไม่ถึงกัน อ่านแล้วลักลั่นชอบกล

บทความของคุณสฤณี ใต้สะดือ-ใต้สำนึก:เซ็กซ์แฝงในโฆษณา มีภาพคำว่า SEX ที่ซ่อนอยู่บนมงกุฏของนาตาลี พอร์ตแมนในหนังของดาเร็น อโรนอฟสกี้ ทำนองเดียวกับ SEX บนก้อนน้ำแข็งข้างขวดยิน Gilbey ในลักษณะของ subliminal message เรื่องนี้มีข้อกังขาทางวิทยาศาสตร์ครับ (ดู subliminal message) บทความที่อ่านแล้วโคตรงงคือ บทความเซ็กซ์แรกกับปฐมกาลอ่านใหม่ ของคุณโตมร สุขปรีชา ซึ่งดูเหมือนแกจะอ่านนอสติกมากกว่าแฮะ แกว่า "อีฟไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นภรรยาหรอกนะครับ แต่เธอถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น 'เพื่อน' (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Helpmate) ของอดัมเท่านั้น" ขอไม่เห็นด้วยหน่อยนะ helpmate ก็ไม่ได้แปลว่าเพื่อน อันที่จริงคำว่า helpmate เองนั่นแหละที่มีที่มาจากการอ่าน Gen 2-18 KJV "I will make him an help meet for him" เพี้ยนคำว่า helpmate มาจาก helpmeet ซึ่งตรงกับ ‘ê·zer นี่ก็คือ helper ผู้คอยช่วยเหลือ (และความหมายของ helpmate ในปัจจุบันคือคู่คิดที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลโดยเฉพาะหมายถึงภรรยา) อีฟถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็น ‘ê·zer ที่เหมาะสมกับอดัม (an help meet for him หรือในฉบับ NIV ว่า a helper suitable for him) และขณะเดียวกัน Gen 1-28 พระเจ้าก็อวยพรให้อดัมกับ ‘ê·zer ของเขา (wə·’iš·tōw = และ wife ของเขา) มีลูกมากมาย ขยายเผ่าพันธุ์ (pə·rū ū·rə·ḇū) เต็มโลก, การเป็นผัวเมียกัน ผมว่ามันก็เป็นทั้งเพื่อน ทั้งคู่สืบพันธุ์ ทั้งคนที่จะคอยสนับสนุนช่วยเหลือ รวมถึงป้อนแอปเปิ้ลให้กัน ฯลฯ ผัวเมียคงไม่ได้มีความหมายว่าจะเอากันอย่างเดียวหรอกครับ อีกแห่ง อ้างศัพท์ tohu va-vohu พอเปิดพจนานุกรมตรวจสอบกับคำแปลภาษาฮีบรูว์แล้ว ṯō·hū (was formless) กับ wā·ḇō·hū (and void) มันไม่ได้บ่งชี้ว่าโลกมีอยู่แล้วในภาวะนั้น แต่บอกว่านั่นเป็นภาวะแรกของโลกที่พระเจ้าสร้างไม่ใช่เหรอ

สำหรับคนที่บังเอิญเจอหนังสือเล่มนี้ในร้านกาแฟ และไม่มีเวลาอ่านทั้งหมด ผมขอแนะนำบทความที่ผมคิดว่าไม่ควรพลาด ควรเข้าไปฟัด บำบัดและบำรุงสมอง วันแห่งสีรุ้ง (กฤติกร), พูดเรื่อง "เพศ": จับสมองและหัวใจยัดใส่ปาก (ชลิดาภรณ์), วิถีแห่งเพศและวิถีแห่งการบำเพ็บตบะ: มักซ์ เวเบอร์ (ธเนศ), โสเภณี... มีอยู่จริง-รู้จัก แต่ไม่เข้าใจ (แบ๊งค์), โป๊มั้ยพี่?: เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสื่อลามก (อิสร์กุล), วันทองเลือกผัว (คำ ผกา), คลิตอริส เซ็กซ์แฟนตาซี นิ้วกุด กับเรื่องที่ไปไม่ถึง (อรพิณ), ที่ทางของ 'แอกเนส วาร์ดา' บนการเขียนประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ (ไกรวุฒิ) และ พิศาล อัครเศรณี: พิศวาสในอุ้งมือซาตาน (วิวัฒน์)

 

ล่ำ ใครชอบ?

"คนอย่าง มหาตมา คานธี ก็ยังถูกระบุว่ามีสายสัมพันธ์ทางเพศกับสถาปนิกชาวเยอรมัน-ยิวที่เป็นนักเพาะกายอย่าง แฮร์มันน์ คาลเลนบัค ในช่วงที่นักสันติวิธีอยู่ในแอฟริกาใต้ กระทั่งเมื่อบิดาของประเทศอินเดียจากประเทศนี้ไปแล้ว เขาก็ยังโหยหาคู่รักคนนี้อยู่ ..." อีกตอนหนึ่ง "พฤติกรรมรักร่วมเพศของ ลุดวิก วิตต์เกนสไตน์ สมัยที่ยังอยู่กรุงเวียนนา โดยเขาชอบไล่ล่าผู้ชายกำยำ"จากบทความวิถีแห่งเพศและวิถีแห่งการบำเพ็ญตบะ: มักซ์ เวเบอร์ เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา

เราก็ไม่ได้ติดใจอะไรมากนะ แต่แอบสงสัยว่าทำไมสเปกต้องล่ำ ๆ หรือเพาะกาย? ความหมายคือ ทำไมเวลาบรรยายลักษณะของผู้ชายที่เกย์ชอบหรือไปพัวพันต้องบรรยายลักษณะอันนี้ ทั้ง ๆ ที่ลักษณะอันอื่นมันก็มีที่นอกเหนือไปจากความล่ำ เช่น (ตัวอย่างจากความคิดอันวิปริตส่วนตัวนะ) อลัน ทัวริ่ง ปิ๊งหนุ่มวัยขบเผาะ (ขออภัยที่ใช้กับเพศชาย ราชบัณฑิตฯ บอกว่าขบเผาะใช้ได้กับเด็กหญิงแตกเนื้อสาวเท่านั้น) โสกราตีสไล่ล่าหนุ่มบอบบางหน้าตาดี หรือจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ โหยหาแอนโดรสทาไดอีโนนจากกลิ่นเหงื่อเด็กผู้ชาย

 

เซ็กส์กับเสียงดนตรี มนุษย์รู้จักอันไหนก่อนกัน?

"ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามนุษย์รู้จักเซ็กซ์หรือเสียงดนตรีก่อนกัน บางทีเสียงร้องครวญครางกระเส่าสูงและต่ำขณะร่วมรักของมนุษย์คู่แรก ๆ ของโลกอาจเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาคิดค้นเสียงดนตรีในเวลาต่อมาก็เป็นได้"

ย่อหน้าแรกในบทความของคุณเผ่าเจ้า กำลังใจดี (October 11 Sex Issue) ผมอ่านแล้วก็อดสงสัยไม่ได้อีกล่ะ

ไม่มีใครรู้จริงเหรอว่าเซ็กส์กับเสียงดนตรี มนุษย์รู้จักอันไหนก่อนกัน ทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนบอกว่าไม่รู้ เธอตั้งสมมติฐานว่าเสียงดนตรีอาจเกิดจากเสียงครางขณะมีเซ็กส์! ก่อนหน้าที่จะมีสายพันธุ์มนุษย์ ก่อนหน้ามนุษย์ โบโนโบ ชิมแปนซี จะแยกสายออกจากกันเมื่อ 5-7 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษร่วมของพวกเรามันก็สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ย้อนไปไกลกว่านั้น ฟอสซิลของยูแคริโอตจากยุคเมโสโปรเทโรโซอิคก็บอกว่ามันสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มนุษย์เป็นผลผลิตของธรรมชาติที่ให้สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ฉะนั้นมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาและอยู่รอดจนถึงวัยสืบพันธุ์ได้ รู้จักเซ็กส์แน่นอน เป็นสัญชาตญาณ (ความรู้ที่มีมาแต่กำเนิด) ขณะที่ดนตรีไม่ใช่ ดนตรีเป็นผลผลิตของมนุษย์นี่ครับ Charles Darwin เคยพยายามอธิบายว่าดนตรีถูกพัฒนาขึ้นมาในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับดึงดูดคู่รัก และมีการทดลองทาง neuroscience ที่บอกว่าเซ็กส์กับดนตรีกระตุ้นสมองส่วนเดียวกัน (ส่วนเดียวกับการเล่นยา เล่นพนัน กินของอร่อย) โดยการยับยั้ง opioid substances ที่ถูกสร้างขึ้นมาตอนเรากำลังฟินจากกิจกรรมดังกล่าว แล้วให้คนที่ร่วมทดลองฟังเพลง ทุกคนจะบอกเหมือนกันว่า รู้สึกแปลก ๆ เพราะเพลงพวกนั้นที่เขาชอบ ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกอะไรเลย ฉะนั้นพออ่านข้อความหรือคำถาม "ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามนุษย์รู้จักเซ็กซ์หรือเสียงดนตรีก่อนกัน" จึงรู้สึกว่าเป็นเพียงวาทศิลป์ที่มีไว้ประดับเสริมความเก๋แก่บทความ

 

[ดูหนัง] โป๊ [แล้วเกิดอารมณ์] มั้ยพี่? ฉบับถามคนคุก

"xxxx yyyy (2545) ทำการศึกษาทัศนะของผู้ต้องขังคดีความผิดทางเพศ 270 คน โดยใช้แบบสอบถาม พบว่า การกระทำผิดทางเพศกับสื่อลามกมีความสัมพันธ์กัน โดยผู้ต้องหามีความเห็นว่า การเห็นสื่อลามกจะทำให้มีอารมณ์ทางเพศ งานศึกษาดังกล่าวเสนอแนะให้มีการศึกษาเพิ่มเติมว่า เหตุใดบุคคลทั่วไปที่มีการบริโภคสื่อลามกจึงมิได้มีการกระทำความผิดทางเพศเช่นเดียวกับผู้ต้องขังในงานศึกษานี้" จากบทความของคุณอิสร์กุล อุณหเกตุ "โป๊มั้ยพี่?: เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยสื่อลามก" (October 11 Sex Issue) เนื้อหาโดยภาพรวมของบทความนี้ ผมชอบนะครับ แต่การอ้าง thesis ในข้อความที่ยกมานี้และการใช้ตรรกะตามเนื้อความ ชวนให้รู้สึกตลกแฮะ

ในเมื่อสื่อลามกมันเป็นสื่อที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของคนส่วนใหญ่ คุณจะไปถามความเห็นของผู้ต้องขังว่าสื่อลามกทำให้มีอารมณ์ทางเพศมั้ยทำไมเนี่ย คุณลองถามว่าหนังโป๊ทำให้มีอารมณ์ทางเพศมั้ยกับนักเรียน ม.4 ทั่วประเทศสิ รับรองได้เลย ใครทำวิจัยเรื่องนี้จะได้ข้อสรุป "โดยนักเรียนมีความเห็นว่า การเห็นสื่อลามกจะทำให้มีอารมณ์ทางเพศ" แล้วก็สรุปว่า "พบว่า การเป็นนักเรียน ม.4 กับสื่อลามกมีความสัมพันธ์กัน" พอมองเห็นความวิบัติของตรรกะมั้ยครับ การที่ตัวแปรสองตัวมีความสัมพันธ์กัน ไม่จำเป็นว่าตัวแปรตัวหนึ่งจะต้องเป็นเหตุและตัวแปรอีกตัวหนึ่งเป็นผล การยกงานวิจัยชิ้นนี้ของคุณอิสร์กุลมาเพื่อสนับสนุนให้เห็นผลเชิงลบของการเสพสื่อลามกผมว่าไม่ผ่านนะ เพราะจากข้อความที่ยกมานั้น ไม่ได้ชี้ให้เห็นผลเชิงลบของสื่อลามกเลย (ยกเว้นผู้อ่านจะใช้ตรรกะวิบัติในการสรุป) มันบอกแค่ว่า ผู้ต้องขังคดีทางเพศทุกคนเสพสื่อลามก แล้วไงล่ะ นอกจากสื่อลามก พวกเขาทุกคนยังทำกิจกรรมอื่นที่เหมือนกันอีก หายใจ กินข้าว ฯลฯ บางทีอาจรวมถึงการดูทอมกับเจอรี่ที่เหมือนกันอีกด้วยนะครับ

ที่สำคัญ ผมคิดว่าการคิดหรือวิเคราะห์อาชญากรรมทางเพศ ไม่ควรเริ่มต้นที่การเกิดอารมณ์ทางเพศครับ หมายความว่า การเกิดอารมณ์ทางเพศเป็น necessary condition จริงนั่นแหละ แต่มันไม่ใช่ sufficient condition

ขอยกตัวอย่าง logical fallacy ที่ใกล้เคียงกันประกอบ ... ต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์สมมุติ "นี่เธอ เมื่อไหร่เค้าจะกวาดล้างหนังโป๊ให้หมดประเทศไปซะที" "ทำไมฮะ" "ดูข่าวนี่ เด็ก 14 ดูหนังโป๊แล้วข่มขืนเด็ก 5 ขวบยับ"

เป็นได้ครับ ที่สำหรับเด็กคนนี้ การดูหนังโป๊ เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งกระตุ้นให้เขาก่ออาชญากรรม แต่การที่คนคนหนึ่งหรือคนจำนวนหนึ่งก่ออาชญากรรมทางเพศหลังจากดูหนังโป๊ ไม่ได้แปลว่าการดูหนังโป๊จะทำให้คนก่ออาชญากรรม นอกจากจะเป็น logical fallacy เพราะความคิดที่ว่าสิ่งที่เกิดก่อน จำเป็นต้องเป็นเหตุของสิ่งที่เกิดทีหลัง ยังบอกถึงการประเมิน conditional probability ที่ผิดด้วยครับ ถ้าหากมีคนบอกว่า "เพราะเด็กที่ก่ออาชญากรรมทางเพศที่เราจับได้เกือบทุกคน ดูหนังโป๊ก่อนก่ออาชญากรรมทั้งนั้นเลย" โอเค สมมติว่าอันนี้คือข้อเท็จจริง แล้วทีนี้มาสรุป "นั่นแหละ หลักฐานยืนยันอย่างดีว่าหนังโป๊ก่อให้เกิดอาชญากรรม" ในส่วนแรก เรากำลังบอกว่า P(เป็นคนดูหนังโป๊|เป็นคนก่ออาชญากรรมทางเพศ) มีค่าสูง ในส่วนสรุปหรือส่วนหลัง เรากำลังจะสรุปว่า P(เป็นคนก่ออาชญากรรมทางเพศ|เป็นคนดูหนังโป๊) ก็สูงด้วย เราจะสรุปแบบนี้ได้เมื่อไหร่ทราบมั้ยครับ จากสมการ P(B)P(A|B) = P(A)P(B|A) เราสามารถสรุปแบบนั้นได้เมื่อ P(เป็นคนดูหนังโป๊) ใกล้เคียงกับ P(เป็นคนก่ออาชญากรรมทางเพศ) แต่ผมไม่เชื่อว่าโลกในความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้น (หวังว่าคุณคงเห็นด้วย เราคงเห็นพ้องกันว่าคนส่วนใหญ่ที่ดูหนังโป๊ไม่ได้ก่ออาชญากรรมทางเพศ) นั่นคือ ถ้าเราสุ่มเลือกคนขึ้นมาคนหนึ่ง P(คนคนนั้นจะเป็นคนดูหนังโป๊) มากกว่า P(คนคนนั้นจะเป็นคนก่ออาชญากรรมทางเพศ) มาก ซึ่งยิ่งมากขึ้นเท่าไร P(เป็นคนก่ออาชญากรรมทางเพศ|เป็นคนดูหนังโป๊) ก็ยิ่งน้อยลงครับ

 

ว่าด้วยเซ็กส์ไม่ได้ช่วยในการเลือกซื้อรองเท้า

"ถ้าการไม่มีเซ็กซ์ก่อนแต่งงานนั้นเป็นการกระทำอันถูกต้องดีงาม แล้วทำไมการซื้อรองเท้าโดยไม่ลองใส่ดูก่อน กลับกลายเป็นการลงทุนอันสุ่มเสี่ยงและสะเพร่า?"

คำถามแรกของนักเขียนที่ผมชื่นชอบและเป็นแฟนผลงานคนหนึ่ง คุณผาด พาสิกรณ์ ใน "คำถาม 13 ข้อเกี่ยวกับเซ็กซ์ที่ผมไม่รู้จะถามใคร" (October 11 Sex Issue) ถึงแม้คุณผาดจะเรียบเรียงทั้ง 13 ข้อในรูปแบบคำถาม แต่ใครอ่านก็คงรู้ว่าจุดประสงค์ของแกไม่ใช่การถามตามอักษรที่ปรากฎอยู่ในคำถาม คำถามชุดนี้เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันและเสียดสี แต่เดี๋ยวผมจะลองตอบโดยตีหน้าซื่อ แสร้งเป็นไม่ขำด้วย ขอให้เข้าใจว่าเรา "เก็ต" ประเด็นที่ซ่อนอยู่หลังคำถามนี้เหมือน ๆ กัน และยอมรับตรรกะของการเปรียบเทียบที่ไม่สมน้ำสมเนื้อว่าเป็นสิ่งที่มองข้ามได้ (กระนั้น ก็อย่าลืมว่าผมกำลังจะตีหน้าซื่อ จึงทำเป็นไม่มองข้าม)

ตอบ

1. เวลาคุณซื้อรองเท้าคุณจำเป็นต้องลอง เพราะว่าหลังจากซื้อไปแล้ว รองเท้ามันปรับตัวเข้าหาคุณไม่ได้ รวมถึงคุณคงไม่ปรับตัว (ตีน) ให้เข้ากับรองเท้า แต่เซ็กส์ปรับได้ คงไม่ใช่เอากันแล้วไม่มันแล้วฉันไม่แต่ง เซ็กส์ก่อนแต่งจึงไม่บอกอะไรเกี่ยวกับเซ็กส์หลังแต่ง ยกเว้นเรื่องขนาด

2. รองเท้ามีฟังก์ชั่นเดียว คุณจึงทดสอบมันได้ และถ้ามันผ่านการทดสอบ (เช่น ใส่เดินดูความสะดวกสบาย และให้เพื่อน ๆ ช่วยกันมอง) มันก็เป็นรองเท้าที่เหมาะกับคุณ แต่การเป็นผัวเป็นเมียกันมันมีหลายฟังก์ชั่น คุณจะทดสอบว่าที่เมียโดยบอกว่าก่อนแต่งงานกันนะ เธอต้องผ่านด่านการให้นมลูกด้วยคะแนนเพอเฟ็ก หรือทดสอบผัวด้วยโจทย์เปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก คงไม่ได้ การทดสอบเซ็กส์ก่อน (ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดี) จึงเป็นเพียงการทดสอบเล็ก ๆ ที่แทบไม่ได้ช่วยให้ได้คู่ที่เหมาะสม

3. เวลาเลือกรองเท้าเบอร์ 7 ซึ่งฟิตไปนิด ขอขยับไป 7.5 หลวมไปหน่อย กลับมาลอง 7 ใหม่อีกที แล้วลอง 7.5 อีกรอบ ไม่มีปัญหาอะไร ทีนี้ลองนึกถึงแฟนเก่า ถ้าคุณเข้าไปสะกิด "ขอเค้าลองเอาอีกทีสิ" คุณคิดว่าจะเกิดอะไร?

 

Subliminal Message

คุณเชื่อเรื่อง subliminal message มั้ยครับ รูปโฆษณายินของ Gilbey ที่น้ำแข็งซ่อนอักษรคำว่า "SEX" คุณ Wilson Bryan Key (เจ้าของผลงาน Subliminal Seduction) แสดงภาพนี้กับนักศึกษากว่าพันคน โดย 62% บอกว่ารู้สึกราวถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์ตื่นเต้น ซู่ซ่า โรแมนติก อะไรแบบนั้น หรือการทดลองปี 1957 ที่นิวเจอร์ซีย์ แทรกข้อความ "Hungry? Eat Popcorn" กับ "Drink Coca-Cola" ลงไปในหนังซึ่งข้อความแสดงในระยะเวลา 3/1000 วินาที ทุก ๆ 5 วินาที แน่นอนว่าจิตสำนึกรับรู้ไม่ได้ แต่ปรากฎว่ายอดขายป๊อปคอร์นเพิ่มขึ้น 58% และโค้กเพิ่มขึ้น 18%

  1. คุณเชื่อว่าคนเราสามารถถูกโน้มด้วย subliminal message ได้มั้ย

  2. คุณเชื่อ Mozart Effect มั้ย, การฟังเพลงของ Mozart ทำให้ฉลาดขึ้น, เปิดกรอกหูเด็กซะ

  3. คุณเชื่อว่าการสะกดจิตจะช่วยให้พยานที่เห็นเหตุการณ์ในคดีอาชญากรรมระลึกถึงเหตุการณ์ได้ดีขึ้นหรือไม่

  4. คุณเชื่อว่าคนทั่วไปใช้ความสามารถของสมองแค่ 10% มั้ย

  5. คุณเชื่อว่าถ้ามีคนจ้องมองคุณข้างหลัง คุณสามารถรับรู้ได้ รึเปล่า

ถ้ามีคำตอบของอย่างน้อยหนึ่งคำถามคือ "ใช่ ฉันเชื่อ" Christopher Chabris กับ Daniel Simons บอกว่าคุณตกอยู่ใน illusion of potential แล้วครับ ทั้ง 5 ข้อ ไม่มีข้อไหนเป็นข้อสรุปจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่จริงจังเลย

  1. การทดลองป๊อปคอร์นกับโค้กปี 57 ผู้อยู่เบื้องหลังคือ James Vicary ซึ่งสารภาพแล้วว่าเป็นการหลอกลวง เพราะช่วงนั้นธุรกิจโฆษณาตกต่ำ และมีกลุ่มนักวิจัยหลายกลุ่มพยายามทำซ้ำแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

  2. ผลงานแรกที่ตีพิมพ์เรื่องนี้ในนิตยสาร Nature ชื่อ Music and Spatial Task Performance อ้างว่าการฟัง K448 ของ Mozart ทำให้ผู้ทดลองทำเทสได้คะแนน IQ สูงขึ้นถึง 9 คะแนน แต่นักวิจัยอีกหลายทีมทั้วโลก ไม่มีใครทำซ้ำแล้วได้ผลเช่นนั้นเลย (เรื่องตลกคือ ซีดีที่หลายค่ายทำออกมาขายเพลงของ Mozart ที่อ้างอิงกับงานแรกนั้น ส่วนใหญ่ไม่มี K448)

  3. คนที่ถูกสะกดจิตจะ "สร้าง" ความทรงจำได้มากกว่าในสภาวะไม่ถูกสะกดจิต แต่ไม่เคยมีการศึกษาได้บอกได้ว่าความทรงจำดังกล่าวจริงหรือเท็จ

  4. คำอ้างนี้มีมาก่อนเราจะมีเทคโนโลยีสแกนสมองอย่าง MRI หรือ PET ซะอีกครับ ที่สำคัญ ในทางวิทยาศาสตร์ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะวัดความสามารถของสมองด้วยหน่วยอะไร แล้วจะบอกได้ไงว่าใช้ความสามารถมันแค่ 10%

  5. การทดลองของ Edward Titchener เกี่ยวกับเรื่องนี้ตีพิมพ์ใน Science ให้ negative result

ที่มา: เก็บความมาเล่าจากบทที่ 6 Get Smart Quick! หนังสือ The Invisible Gorilla


bottom of page