"เค้าไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรจากการเชื่อ x เลย ทำไมเขายังเชื่อ x ไม่เข้าใจเลย" บทสนทนากับน้องคนหนึ่งพามาถึงประโยคนี้ "คนเราไม่ทำสิ่งที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยหรอก" เราแสดงความเห็นและพูดต่อว่า ในกรณีนี้ สิ่งที่เขาได้ทันทีทันใดคือการที่ไม่ต้องเสียต้นทุนในการเปลี่ยนความเชื่อจาก x เป็นความเชื่ออื่น รวมถึงไม่ต้องค้นหาหรือยืนยันความเชื่อ y แล้วบทสนทนาก็เปลี่ยนไปเป็นเรื่องอื่น โดยไม่ได้พูดอีกเรื่องหนึ่งที่คิดไว้ คือ ต้นทุนของเด็ก ๆ ในการเปลี่ยนความเชื่อนั้นน้อยเมื่อเทียบกับคนแก่ (และเป็นคนละเรื่องกับ คนแก่ที่ไม่ได้เชื่อ x อยู่แล้ว จะหาหลักฐานหลายอย่างมาสนับสนุนว่า x ไม่ควรเชื่อ)
ทำให้นึกถึงบทความชุดหนึ่งที่เคยให้เป็นการบ้านกับนักเรียนเศรษฐศาสตร์อ่านวิเคราะห์เพื่อนำเสนอและอภิปรายกันในชั้นเรียน (บทความหลักคือ Behavioral Economics, Internet Search, and Antitrust ของ Adam Candeub กับบทความรอง The Role of Switching Costs in Antitrust Analysis: A Comparison of Microsoft and Google ของ Robert G. Harris) เป็นกรณีที่วิเคราะห์ว่า Google กำลัง monopolize ตลาด search engine โดยที่ข้ออ้างว่า just one click away ยังฟังขึ้นอยู่มั้ย การวิเคราะห์จากบทความช่วยให้มองเห็นภาพของ switching costs ว่า ค่าใช้จ่ายที่คนคนหนึ่งจะต้องเสียไปจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความเชื่อนั้นมีอะไรบ้าง อาทิ searching cost, learning cost, หรือ uncertainty cost และในบทความหลักจะพูดถึง cognitive cost (ที่ Google อาจจะทำให้คน adopt นิสัยที่ยากจะเปลี่ยนแปลง (hard-to-change habitual behaviours) ระหว่างการใช้งาน Internet) และเมื่อมองร่วมกับข้อเท็จจริงเชิงชีววิทยาที่แตกต่างกันระหว่างเด็กกับคนแก่ และปัจจัยทางสังคมในด้านสิ่งแวดล้อมที่เติบโตแตกต่างกันมา โดยส่วนตัว เราคิดว่ามองเห็นค่อนข้างชัดเจนถึงความแตกต่างของ searching cost, learning cost, uncertainty cost และ cognitive cost ระหว่างเด็กกับคนแก่นะ
นี่ไม่ใช่ข้อแก้ต่างให้คนแก่หัวรั้นแต่ประการใด 😛 แค่ไม่อยากเห็นความขุ่นข้องหมองใจระหว่างคนในครอบครัวเพราะ ideology ที่แตกต่างกัน (บางบ้าน x อาจจะเป็นเรื่องการเมือง บางบ้านอาจจะเป็นเรื่องจริยธรรมคุณธรรม ใครดี ใครเลว) ... บางครั้ง บางเวลา วางมันลงบ้างก็ได้นะ