
มองว่าเป็นภาคต่อของ What if? ได้นะ คราวนี้มากับ how to แบบหลุดโลกสำหรับ 28 กิจกรรม ขอยกตัวอย่าง 2 กิจกรรม
(1) วิธีเล่นเปียโน เปียโนมาตรฐาน 88 คีย์ สามารถเล่นเสียงความถี่ในย่าน 27 Hz ถึง 4,186 Hz ซึ่งไม่ครอบคลุมย่านการได้ยินทั้งหมดของคนด้วยซ้ำ ฉะนั้นเขาไม่หยุดแค่เปียโน 88 คีย์ แต่ไปไกลถึงโน่น ดนตรีที่ครอบคลุมย่านการได้ยินของช้าง (สามารถได้ยินอินฟราซาวด์) สุนัข แมว หนูกับค้างคาว (สามารถได้ยินอัลตราซาวด์) สำหรับความถี่สูง หยุดที่ค้างคาวคือประมาณ 150 kHz (ความถี่สูงกว่านั้นถูกอากาศดูดกลืน จนเดินทางไม่พ้นเปียโน) สำหรับความถี่ต่ำ ไม่หยุดที่สัตว์ แต่หยุดที่ไมโครบารอมส์ ประมาณ 0.2 Hz เสียงแห่งท้องทะเล ไม่ใช่เสียงคลื่นกระทบฝั่งนะฮะ แต่เป็นเสียงที่ระดับน้ำทะเลขึ้นลงบีบอัดอากาศเป็นจังหวะ ฉะนั้นเปียโนที่เขาพูดถึงคือเปียโน 235 คีย์
(2) วิธีจ่ายไฟฟ้าให้บ้านบนดาวอังคาร อันนี้เขาเสนอให้ผูกเชือกกับโฟบอส (ดวงจันทร์ดวงหนึ่งของดาวอังคาร) ยาวจนมาถึงชั้นบรรยากาศอันบางเบาของดาวอังคาร เชือกสั้นกว่า 6 กม. นิดหน่อย แล้วติดกังหันลม เนื่องจากโฟบอสโคจรรอบดาวอังคารเร็ว (เร็วกว่าดาวอังคารหมุนรอบตัวเอง) ทำให้กังหันลมประหนึ่งได้รับลมที่มัค 2.3 แน่นอนว่าวงโคจรจะตกลงเรื่อย ๆ (แต่โฟบอสก็มีชะตากรรมให้ตกลงบนดาวอังคารอยู่แล้ว) กว่าโฟบอสจะถูกลากลงมาถึงชั้นบรรยากาศ ก็จับพลังงานลมไปได้ถึง 4x10^22 จูล ซึ่งเพียงพอจ่ายให้ชาวอเมริกันทั้งประเทศนาน 3000 ปี
ในหนังสือเล่มนี้ มีแขกรับเชิญมาร่วมสนุกเยอะ อย่างเช่น วิธีลงจอดแบบฉุกเฉินก็ได้ผู้พันคริส แฮดฟิลด์ มาช่วยตอบ แล้วคุณจะชอบคำตอบของเขาที่กลับไปอยู่บนพื้นฐานของแอโรไดนามิกส์เสมอ หรือวิธีสอยโดรนให้ร่วง ก็ขอให้เซเรนา วิลเลียมส์ ลองเสิร์ฟลูกยิงโดรนที่ลอยเหนือตาข่าย (มีคลิปในยูทูป ลองเสิร์ช Serena Williams Drone Shot) แน่นอนว่าวิธีการและสถานการณ์ต่าง ๆ ในหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างหลุดโลก ถึงขั้นบ้า ๆ บอ ๆ แต่จินตนาการกับสปิริตของการหาคำตอบผ่านกรอบวิทยาศาสตร์นั้นน่าชื่นชม