แก่นของหนังสือเล่มนี้สั้น ๆ ง่าย ๆ Sam Harris ต้องการจะบอกว่า เราไม่ควรโกหก เพราะการโกหกทำลายความสัมพันธ์ ทำลายความไว้วางใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
Harris เริ่มเล่าถึง seminar หัวข้อ 'The Ethical Analysis' ของ Ronald Howard ตอนเรียนปริญญาตรีที่ Stanford จุดมุ่งหมายของ seminar เพื่อตอบคำถามว่า "ผิดรึเปล่าที่จะโกหก" และดูเหมือน Howard จะหาข้อโต้แย้งมาแย้งนักเรียนได้แทบทุกกรณีว่า พูดความจริงให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า พล็อตของ Lying ก็ทำนองเดียวกัน แน่นอนว่าการโกหกที่เห็นชัด ๆ ว่าชั่วร้าย คนทั่วไปคงไม่มีประเด็นอะไรเป็นพิเศษในการบอกว่าผิดหรือไม่ผิด แต่เขาว่าคนส่วนใหญ่เชื่อในประโยชน์ของ white lie หนังสือจึงพยายามโจมตี white lie เป็นพิเศษ เช่น ในกรณีที่เราโกหกแบบสีขาวกับเพื่อน เท่ากับเรากำลังปฏิเสธการเข้าถึงความจริงของเพื่อน และผลลัพธ์จากการเพิกเฉยความจริงนั้นมักจะทำร้ายเพื่อน

Overall กับ Story ให้ 4 ดาว เพราะข้อโต้แย้งโดยหลักการแล้วเห็นด้วยนะ หรือเราจะมีนิสัยติดโกหกโดยสันดาน รู้สึกว่า Harris ให้คุณค่ากับความหมายตามตัวอักษรหรือตามเสียงที่เปล่งมากเกินไป โดยไม่ได้เอาสิ่งที่สังคมให้คุณค่าไปร่วมคิดด้วย (หนังสือเสียงฉบับ audible ครึ่งชั่วโมงสุดท้าย มีช่วงตอบคำถามที่ส่งมาจากผู้อ่าน ebook และมีคำถามหนึ่งจากผู้อ่านชาวอเมริกันแต่เติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น 20 ปีที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ได้ดี เพราะในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ความเชื่อใจไม่ได้เชื่อมโยงกันผ่านทางการพูดความจริง) นอกจากนี้ สมมุติฐานที่ว่า สังคมสร้างความเชื่อใจกันผ่าน truthful statements เท่านั้นก็น่าสงสัย โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าการพูดเพื่อรักษาหน้าคนอื่น รักษาน้ำใจคนอื่น (อาจจะเป็น white lie ที่ทั้งคนพูดและคนฟังก็รู้ว่าไม่สะท้อนความจริง) ในยามที่เขาต้องการสิ่งนั้นมากกว่าความจริงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้นะ น่าจะเป็นสัญชาตญาณอยู่แล้วที่ทำให้คนเรารู้ว่า ตอนนี้คู่สนทนาอยากได้เครื่องจักรผลิตความจริงหรือผู้ปลอบโยน ในส่วนของ performance ให้ 5 ดาวเต็ม Sam Harris เป็นคนอ่านเอง จังหวะเป็นธรรมชาติ