
เป็นภาคต่อของ Freakonomics มี 5 บทหลักประกอบด้วยคำถามเด็ด ๆ เช่นเคย 1. โสเภณีข้างถนนเหมือนซานต้าครอสตามห้างสรรพสินค้าตรงไหน? บทนี้วิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ของโสเภณีชิคาโก้ เพื่ออธิบายคำถามทำนองว่า ทำไมวันที่คุณเธอมีลูกค้ามากที่สุดกลับไม่ใช่วันที่ทำกำไรดีที่สุด ทำไมราคาคุณเธอที่ยืนอยู่ติด ๆ กันจึงมีราคาเท่ากันทั้ง ๆ ที่เธอมั่นใจว่าชั้นสวยกว่า เด็ดกว่า (คำตอบคือ perfect substitutes) ผลกระทบของการมีแมงดา (pimpact) เทียบกับผลกระทบของการมีนายหน้า เช่น นายหน้าค้าบ้าน (rimpact), 2. ทำไมมือระเบิดพลีชีพต้องซื้อประกันชีวิต? บทเกริ่นนำทำให้นึกถึงบทหนึ่งใน Outliers ของ Malcolm Gladwell ที่วิเคราะห์วันเกิดของนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ทำให้คิดว่าไม่ใครก็ต้องเอาไอเดียมากใครสักคน แต่สุดท้ายก็เฉลยไว้ในเชิงอรรถเล็ก ๆ ว่าจากบทความ A Star Is Made ซึ่งเป็นบทความใน NYT แรงบันดาลใจจากงานวิจัยของ Ericsson กระตุ้นให้ตลาดผลิต Outliers และพวกพ้องออกมา สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะนำ A Star Is Made มาขยายความจึงถูกขยายความในหนังสือเล่มอื่นแทนที่จะเป็น Superfreak, 3. เรื่องเหลือเชื่อของความเห็นแก่ตัวและความไม่เห็นแก่ตัว สืบค้นว่าคนเราเป็นแบบไหน สุดท้ายข้อสรุปก็ดังที่เรารู้ ๆ กัน คนก็คือคนนั่นแหละครับ ไม่ดี ไม่เลว แค่ตอบสนองและแสดงพฤติกรรมตามแรงจูงใจ ต้นเรื่องเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมที่ Times บอกว่ามีเพื่อนบ้านผู้เห็นเหตุการณ์ถึง 38 ราย แต่ไม่ทำอะไรเลย (apathy) ปล่อยให้ฆาตกรฆ่าเธอจนตาย จบด้วยฆาตกรคนนั้นถูกจับได้เพราะเพื่อนบ้านเห็นเขาเข้าไปขโมยทีวี (altruism), 4. ตัวแก้เข้ามา ทั้งง่ายและราคาถูก พูดถึงเหตุการณ์วิกฤตหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ตัวแก้ที่ดีคือตัวแก้ที่ง่ายและราคาถูก เช่น การแพทย์ในศตวรรษที่ 19 มีโรคที่ทำลายชีวิตแม่และเด็กเรียกว่า puerperal fever ซึ่งมีอัตราการตายของแม่สูงมาก เกือบ 10% สำหรับ wards หมอสมัยใหม่ แต่กลับมีอัตราการตายที่ต่ำมากสำหรับ wards หมอตำแย ทำไม? Semmelweis พบวิธีลดอัตราการตายง่าย ๆ ด้วยการให้หมอล้างมือ!!! ตอนนั้นหลุยส์ ปาสเตอร์ยังไม่ประกาศทฤษฎีเชื้อโรค และยังไม่มีใครยอมรับ แล้วแบบนี้ Semmelweis เป็นฮีโร่มั้ย?, 5. อัล กอร์ กับภูเขาพินาทูโบมีอะไรร่วมกัน? พินาทูโบเป็นภูเขาไฟ ปกติภูเขาไฟลูกใหญ่ ๆ (พินาทูโบใหญ่) ระเบิดแล้วจะปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไปยังบรรยากาศชั้นที่สอง เดาได้แล้วสิครับ มันทำอย่างเดียวกับที่อัล กอร์ทำ ... ลดโลกร้อน
บทส่งท้าย เรื่องของลิง The capuchin has a small brain, and it's pretty much focused on food and sex. คงไม่ใช่แค่ capuchin บทส่งท้ายสั้น แต่รายละเอียดหาอ่านได้จากบทความใน NYT เรื่อง Monkey Business และรายละเอียดสมบูรณ์ดูใน Endowment Effect in Capuchin Monkeys ของ Chen กับ Santos โดย Chen อยากค้าน Smith ว่ามีแค่คนหรือที่รู้จักค่าของเงิน เขาก็แนะนำ concept ของเงินให้เจ้า capuchin รู้จัก ให้มันเรียนรู้ที่จะเอาเงินมาแลกอาหาร และมันก็เรียนรู้ รวมถึงมันรู้จักที่จะใช้เงินแลกกับอาหารที่มันชอบเสียด้วย จากนั้นลองทำ price shock ค่าอาหารแพงขึ้น capuchin ก็ซื้ออาหารน้อยลง เป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน พอนานวันเข้า capuchin ตัวผู้เอาเงินให้ตัวเมียเพื่อขอมี sex!
DICTATOR
ในบท Unbelievable Stories About Apathy and Altruism หนังสือ Superfreakonomics มีข้อมูลสถิติจากการทดลองของ List ที่น่าสนใจ การทดลองของ List ต้องการค้นหาว่า คนเราไม่เห็นแก่ตัว (altruism) โดยธรรมชาติรึเปล่า เขาใช้เกม dictator ซึ่งเป็นเกมที่ดัดแปลงมาจากเกม ultimatum อีกทีเป็นเครื่องมือในการทดลองครั้งนี้
เกม ultimatum ถือว่าเป็นเกมบุกเบิกเกมหนึ่งของ experimental economics อย่างที่เรารู้กันว่าทฤษฎีเกมตั้งสมมติฐานไว้ 2-3 ข้อเกี่ยวกับคน เช่น คนทุกคนเห็นแก่ตัว ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้มากที่สุด คนทุกคนฉลาด (หรือโง่) เท่าเทียมกัน คนทุกคนรู้ว่าคนทุกคนฉลาด (หรือโง่) เท่าเทียมกัน และคนทุกคนรู้ว่าคนทุกคนรู้ว่าคนทุกคนฉลาดหรือโง่อย่างเท่าเทียมกัน เราไม่พูดว่าสมมติฐานเหล่านี้ถูกหรือผิดนะครับ แต่สมมติฐานเหล่านี้นำไปสู่ผลเฉลยที่จำเพาะต่อปัญหาหรือเกมหนึ่ง ๆ ได้ เช่น ในเกม ultimatum มีผู้เล่น 2 คนที่ไม่รู้จักกัน ขอใช้ชื่อตาม superfreak ว่าอันนิก้ากับเซลด้า คุณมีเงิน 20 บาทที่จะให้อันนิก้ากับเซลด้าแบ่งกัน โดยกติการแบ่งคือ อันนิก้าเป็นผู้เสนอสัดส่วนที่จะแบ่ง เช่น ฉัน 15 บาท เธอ 5 บาท ส่วนเซลด้าเป็นผู้ตอบรับว่าสัดส่วนนั้นโอเคมั้ย ถ้าเซลด้าโอเค ก็แบ่งกันตามนั้น แต่ถ้าเซลด้าไม่โอเค ทั้งคู่อดได้เงิน ถ้าหน่วยย่อยของเงินคือ 1 บาท ทฤษฎีเกมจะให้คำตอบว่า อันนิกาเสนอฉัน 19 บาท เธอ 1 บาท และเซลด้าต้องตกลง เพราะ 1 บาทมีค่าสูงกว่า 0 บาท (ตามสมมติฐานของทฤษฎีเกมนะครับ) ผมเชื่อว่าคุณแย้งในใจทันที "ไม่จริง ถ้าชั้นเป็นอันนิกา ชั้นจะแบ่งให้เซลด้ามากกว่า 1 บาท" แน่นอนว่าทฤษฎีนี้บกพร่อง ไม่จริง เพราะสมมติฐานตั้งต้นมันไม่จริง คุณอาจนึกในใจว่า "ชั้นอาจเห็นแก่ตัวก็จริง แต่ก็ไม่ได้เห็นแก่ตัวขนาดนั้น" คำว่า 'ขนาดนั้น' นี่แหละครับเป็นปริมาณที่สร้างความลำบากใจให้อย่างมากแก่แวดวงวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมันชี้เจาะจงได้ยากว่าขนาดนั้นคือขนาดไหน? วิธีหนึ่งที่จะวัดคำว่า 'ขนาดนั้น' ได้ คือต้องเตะเกมดังกล่าวให้หลุดออกมาจากโลกของทฤษฎีสู่โลกของการทดลอง แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมคงต้องบอกคุณก่อนว่าโลกของการทดลองก็ยังไม่ใช่โลกแห่งความจริงอยู่ดี อย่างน้อยเราก็พอมีศรัทธาว่ามันน่าจะใกล้เคียงกว่าโลกทฤษฎี
ความเป็นจริงที่พบคือ เซลด้าปฏิเสธถ้าเงินที่อันนิก้าเสนอต่ำกว่า 3 บาท ไม่ใช่บาทเดียวก็เอาตามทฤษฎี ซึ่งอันนี้ make sense ของเรา ๆ ใช่มั้ยครับ และอันนิก้าโดยเฉลี่ยก็เสนอให้เซลด้ามากกว่า 6 บาท สิ่งนี้ใช่ความโอบอ้อมอารีมั้ย? พอมาถึงเกม dictator การตัดสินใจจะอยู่ที่อันนิก้าคนเดียวครับ อันนิก้าตัดสินใจมาเลยว่าจะแบ่งให้เซลด้าเท่าไร
การทดลองของ List ชุดที่หนึ่งเป็นเกม dictator ธรรมดา คุณให้เงิน 20 บาทแก่อันนิก้า และให้อันนิก้าตัดสินใจเองว่าจะให้เงินแก่เซลด้ากี่บาทตั้งแต่ 0 ถึง 20 List พบว่า 70% ของอันนิก้าให้เงินบางส่วนแก่เซลด้า โดยมีค่าเฉลี่ยคือ 25% ของเงินที่อันนิก้าได้รับ (5 บาท) ผลการทดลองนี้สอดคล้องกับผลที่เคยทำ ๆ มาในอดีต และดูเหมือนจะลงตัวกับ altruism ทีนี้ List ดัดแปลง dictator แบบเดิมเล็กน้อย สู่การทดลองชุดที่สอง ถ้าเราพูดว่าการทดลองชุดแรกอันนิก้ามี 21 ตัวเลือกคือ ก. ให้ 0 บาท ข. ให้ 1 บาท ไปจนถึง ต. ให้ 20 บาท การทดลองชุดที่สองนี้ก็เพิ่มอีกแค่หนึ่งตัวเลือก ถ. ให้ -1 บาท หรือ ถ. ยึดเงินของเซลด้ามาเป็นของเรา 1 บาท ถ้าให้เดา เราก็เดาว่าผลลัพธ์ไม่น่าจะต่างอะไรกันมากกับชุดแรกใช่มั้ยครับ ยกเว้นคนที่ขี้เหนียวจริง ๆ ที่ชุดแรกให้ 0 บาท ชุดนี้อาจจะเปลี่ยนใจมาฉกเงินชาวบ้านอีก 1 บาท ผลที่ List พบคือ อันนิก้า 35% เท่านั้นเองที่แบ่งเงินให้เซลด้า (ลดลงครึ่งหนึ่ง) ส่วนอีก 45% ไม่แบ่งอะไรให้เซลด้าแม้แต่สตางค์เดียว ที่เหลือ 20% ฉกเงินของเซลด้า!
การทดลองชุดที่ 3 คุณให้เงิน 20 บาทแก่อันนิก้าเหมือนเดิม แต่ขณะเดียวกันคุณก็บอกอันนิก้าว่าเซลด้าก็ได้เงิน 20 บาทด้วย ทีนี้ก็ปล่อยให้อันนิก้าตัดสินใจว่าจะแบ่งเงินของตัวเองให้แก่เซลด้ามั้ย แบ่งเท่าไร หรืออันนิก้าจะขโมยเงินของเซลด้าก็ทำได้ จะขโมยเท่าไรก็ได้ (ยังเป็นเกม dictator นะครับ เพราะการตัดสินเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยังอยู่ที่อันนิก้าคนเดียว) การทดลองชุดนี้มีอันนิก้าแค่ 10% เท่านั้นที่มอบเงินของตัวเองให้เซลด้า ขณะที่มากกว่า 60% ของอันนิก้าเอาเงินของเซลด้า และมากกว่า 40% ของอันนิก้าเอาเงินทั้งหมดของเซลด้า น่าสนใจดีมั้ยครับ ขึ้นต้นเป็นคนใจบุญ พอลงท้ายชักจะเป็นโจร
มาดูการทดลองชุดสุดท้าย คล้ายการทดลองชุดที่ 3 ต่างกันที่ ไม่ใช่จู่ ๆ คุณโยนเงิน 20 บาทสำหรับเซลด้า และ 20 บาทสำหรับอันนิก้าพร้อมให้เธอตัดสินใจ แต่ทั้งคู่จะต้องทำงานบางอย่างเพื่อให้ได้เงินก้อนนั้น หลังจากทั้งคู่ทำงานเสร็จแล้ว ได้รับค่าจ้างแล้ว ทีนี้อันนิก้าเลือกว่าจะให้เงินของเธอแก่เซลด้ามั้ย ให้เท่าไร หรือจะฉกจากเซลด้ามั้ย ฉกเท่าไร List พบว่ามีแค่ 28% เท่านั้นที่ฉกเงินจากเซลด้าครับ ที่เหลือ 2 ใน 3 ไม่ให้และก็ไม่เอาจากเซลด้า
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอะไรครับ?