
เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้เสนอว่าปัจจัยใดบ้างที่ทำให้คนเราโกง และเราโกงในระดับไหน เราทุกคนโกงครับ โกงในระดับที่มีการถ่วงอำนาจกันระหว่างความอยากได้ผลประโยชน์บางอย่างจากการโกงกับการมองเห็นภาพของตัวเองว่าฉันไม่โกง (รูปหน้าปกฉบับนี้ สื่อความได้แบบนี้ด้วย) ผู้เขียนเล่าการทดลองสนุก ๆ และน่าสนใจจำนวนมาก ประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเอง และของคนอื่นที่ได้ยินได้ฟังมาอีกที เพื่อประกอบและสนับสนุนเรื่องที่กำลังพูดถึง หนังสือปฏิเสธโมเดลที่ว่าคนเราโกงเพราะคำนวณตามการวิเคราะห์ต้นทุน-กำไร แล้วคุ้มต่อการโกง การทดลองหลายอันแสดงให้เห็นว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นหรือโอกาสถูกจับได้ที่ลดลง แทบไม่มีผลกระทบสักเท่าไรเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น อาทิ การนึกถึงศีลธรรมขณะก่อนกระทำ ความห่างจากตัวเงิน (ถ้าเปลี่ยนเงินเป็นสิ่งอื่น เราจะโกงมากขึ้น) ความสามารถในการอ้างเหตุผลหรือเล่าเรื่องประกอบการโกง ความคิดสร้างสรรค์ การเห็นตัวอย่างคนในสังคม เป็นต้น หนังสืออ่านเพลินและชวนคิด
ตัวอย่างบางส่วนจากหนังสือ

ข้อความนี้ถือว่าเป็นเสาหลักต้นหนึ่งของหนังสือได้เลยครับ "พวกเราทุกคนนะ โกงในระดับที่ยอมให้เรามองตัวเองว่าเป็นคนที่ไม่โกงสักเท่าไหร่หรอก"

การทดลองที่ MIT แดนประกาศรับสมัครนักเรียนเข้าร่วม โดยบอกว่า คุณมีโอกาสได้เงิน $10 ใน 10 นาที วิธีทดลองง่าย ๆ นักเรียนแก้โจทย์เลข 20 ข้อให้ได้ภายใน 10 นาที ตอบถูกจะได้ข้อละ $0.5 แต่ละข้อจะมีตารางตัวเลข 12 ตัว ให้หา 2 ตัวที่รวมกันแล้วเท่ากับ 10 โดยในนักเรียนกลุ่มควบคุม พอหมดเวลา ก็ให้นักเรียนเอากระดาษคำตอบมายื่นที่กรรมการเพื่อตรวจคำตอบ แล้วรับเงินตามคะแนนที่ทำได้ ค่าเฉลี่ยของคำตอบที่ถูกต้องสำหรับกลุ่มควบคุมคือ 4 ข้อ ($2) ทีนี้ อีกกลุ่มหนึ่ง พอหมดเวลาแล้ว กรรมการจะให้นักเรียนตรวจคำตอบของตัวเอง แล้วเอากระดาษคำตอบไปทำลายหลังห้องก่อนเดินมาบอกว่าตัวเองถูกกี่ข้อ คิดว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนข้อที่ตอบถูกของกลุ่มหลังเท่ากับเท่าไรฮะ ... เฉลย 6 ข้อ หรือ $3
แดนเขียนประโยคแรก ในบทแรกว่า Let me come right out and say it. They cheat. You cheat. And yes, I also cheat from time to time.
ปีเตอร์ ลูกศิษย์ของแดน แอไรลี่ ลืมกุญแจ เข้าบ้านไม่ได้ ก็ไปตามช่างทำกุญแจมาไขประตูให้ ช่างใช้เวลาอึดใจเดียวเสร็จ ปีเตอร์ทึ่ง อะไรมันจะง่ายขนาดนั้น ช่างบอก ล็อคประตูนะ มีหน้าที่แค่ทำให้คนที่ไม่ใช่ขโมยไม่เปิดเข้ามาขโมยของแค่นั้นแหละ "คน 1% เป็นคนดีจริง ยังไงซะคนพวกนี้ก็ไม่ขโมย อีก 1% ขี้ขโมย ยังไงมันก็ขโมย แค่ล็อคประตูจะไปทำอะไรมันได้ ส่วนคนที่เหลือ 98% นะครับ จะเป็นคนดี ไม่ขโมยตราบเท่าที่อยู่ภายใต้เงื่อนที่เหมาะสม แต่ถ้าถูกยั่วหรือถูกกระตุ้นมาก ๆ ก็เอาเหมือนกัน ล็อคประตูช่วยป้องกันคนกลุ่มนี้แหละ คนสัตย์ซื่อที่อาจลองบิดประตูห้องของคุณดูว่ามันล็อคหรือไม่ล็อค"

การทดลองตอนนี้ทำที่ Baylor College of Medicine นำทีมโดย Ann Harvey ศึกษาว่าสุนทรียะของคน (การตัดสินว่าอันไหนงาม อันไหนไม่งาม) ถูกสั่นคลอนโดยอามิสได้หรือไม่
ผู้เข้าร่วมทดลองต้องประเมินให้คะแนนด้วยสเกลชอบถึงไม่ชอบ สำหรับภาพ 60 ภาพ จากหอศิลป์สองหอ มีโลโก้ของหอศิลป์ให้เห็นคู่กับภาพ และเป็นการประเมินภายใต้การสแกนสมองด้วย fMRI ผู้เข้าร่วมจะได้รับแจ้งว่า เพื่อเป็นการตอบแทนเวลาที่อุตสาห์สละมาช่วยการทดลอง ทางหอศิลป์มีน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ มอบให้ บางคนก็ได้รับแจ้งว่าน้ำใจดังกล่าวมาจากหอศิลป์ที่หนึ่ง บางคนก็รับแจ้งว่าหอศิลป์ที่สอง บางคนก็ได้น้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ 30 เหรียญ บางคนก็ได้ 100 เหรียญ บางคนได้ 300 เหรียญ เป็นต้น
ผลเป็นไง? ใครก็คงเดาได้มั้งครับ ภาพจากหอศิลป์ที่เป็นสปอนเซอร์จะถูกประเมินด้วยคะแนนที่ชอบมากกว่าอีกหอศิลป์หนึ่ง และยิ่งน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ มากเท่าไร ก็ยิ่งชอบมากเท่านั้น ครั้นถามว่า การเป็นสปอนเซอร์มีผลต่อการตัดสินความงามของผู้เข้าร่วมการทดลองไหม ทั้งหมดรู้ดีว่า ถึงจะให้คะแนนสปอนเซอร์น้อย ตนก็ได้รับน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ครบถ้วนอยู่ดี และไม่มีพันธะอะไรสืบเนื่องเลย ทุกคนตอบตรงกันว่า "ไม่ ใครเป็นสปอนเซอร์ก็ไม่เกี่ยวกับการตัดสินความงามของฉันหรอก" ผลการสแกนสมองฟ้องอย่างเดียวกันกับคะแนนที่บอกว่า "น้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวอย่างเห็นได้ชัด" ถ้ามีภาพโลโก้ของสปอนเซอร์ กิจกรรมในส่วน ventromedial prefrontal cortex (ซึ่งสัมพันธ์กับความพึงพอใจ) ของผู้เข้าร่วมทดลองจะทำงานมากกว่า
แดนเล่าการทดลองหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ เป็นการทดลองของ Daylian Cain (โปรเฟสเซอร์ที่ Yale) George Loewenstein (โปรเฟสเซอร์ที่ Carnegie Mellon) กับ Don Moore (โปรเฟสเซอร์ที่ UC Berkeley) ให้ผู้ร่วมทดลองเล่นเกมเดาจำนวนเงินในขวดโหล โดยผู้เข้าร่วมทดลองจะได้รับบทบาทใดบทบาทหนึ่งในสองบทบาทนี้ 1. คนทาย 2. คนให้คำปรึกษา
คนทายเป็นผู้มีสิทธิทายว่าเงินทั้งหมดในขวดโหลคือกี่เหรียญ ยิ่งทายได้ใกล้เคียงเท่าไร (ไม่ว่าจะขาดหรือเกิน) ก็ยิ่งได้เงินรางวัลมากขึ้นเท่านั้น แต่ผู้ทายเห็นขวดไกล ๆ แค่แวบเดียว
คนให้คำปรึกษาจะได้เห็นขวดนานกว่าและได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่าเงินในขวดมีค่าอยู่ระหว่าง $10 กับ $30 ซึ่งก็พูดได้ว่า ในเกม ผู้ให้คำปรึกษาเป็น expert เพราะรู้ข้อมูลมากกว่า ส่วนคนทายเป็น novice
การทดลองนี้ดำเนินการโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ภายใต้เงื่อนไขคนละอย่างกัน กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม ยิ่งผู้ให้คำปรึกษาช่วยให้คนทายทายได้ใกล้เท่าไร ก็จะยิ่งได้รับผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น, กลุ่มที่สอง มีการสร้างเงื่อนไขให้ผลประโยชน์ขัดแย้งกัน ยิ่งผู้ให้คำปรึกษาให้คำปรึกษาเพื่อคนทายทายเกินจำนวนเงินจริงมากเท่าไร ก็จะยิ่งได้รับผลประโยชน์มากเท่านั้น (เช่น ถ้าเงินจริง 10 บอกให้คนทายทาย 15 ก็จะได้เงินตอบแทนมากกว่าบอกให้คนทายทาย 11) กลุ่มนี้คนทายไม่รู้นะครับว่าผู้ให้คำปรึกษาจะได้ผลประโยชน์ที่สวนทางกับตน
ผลการทดลอง กลุ่มแรกคนให้คำปรึกษาแนะนำเฉลี่ยที่ $16.5 ในขณะที่กลุ่มที่สอง เฉลี่ยที่ $20 เกินจากค่าจริงไป $4 ซึ่งก็สอดคล้องกับ common sense ของคนทั่วไป
แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงกลุ่มที่ 3 เงื่อนไขของกลุ่มนี้เหมือนกลุ่ม 2 และเพิ่มว่า ผู้ให้คำแนะนำจะต้องเปิดเผยความจริงแก่คนทายว่า ยิ่งคนทายทายเกินจริงมากเท่าไร ตนก็จะได้ผลประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น แน่นอน คนทายพอรู้แบบนี้ ก็ต้องมีการหักลบค่าที่ได้รับคำแนะนำมา แล้วฝั่งคนให้คำปรึกษาล่ะ พอถูกบังคับให้ต้องเปิดเผย เขาจะทำยังไง บวกเพิ่มจากเดิมไปอีก (เพราะคิดว่า เดี๋ยวอีกฝ่ายจะต้องหักลบ) หรือแสดงพฤติกรรมไม่ต่างจากกลุ่ม 2 คือ +$4 คุณคิดว่าไงครับ
ผลการทดลอง คนให้คำแนะนำกลุ่มนี้ +$8 ครับ ขณะที่คนทายหักลบแค่ $2, หมายความว่าไง? แดนเขียนว่า มันหมายถึงคนทายไม่ตระหนักถึงความน่ากลัวที่แท้จริงของผลประโยชน์ขัดแย้งเมื่อรู้ว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้ง และการเปิดเผยข้อมูลผลประโยชน์ของผู้ให้คำแนะนำ (อย่างน้อยก็ในกรณีนี้) ก่อให้เกิดคำแนะนำที่ไบอัสมากกว่าเดิม (กลุ่ม 2) เสียอีก
ยอมจำนนต่อความอยากซะตั้งแต่เนิ่น ๆ เถอะครับ

Dan เล่าการทดลองหนึ่ง น่าสนใจ ทีมวิจัยประกอบด้วย Nicole Mead (โปรเฟสเซอร์ที่ Católica-Lisbon), Roy Baumeister, Francesca Gino, Maurice Schweitzer (โปรเฟสเซอร์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย) และ Dan Ariely
การทดลองเป็นแบบนี้ครับ แบ่งผู้เข้าร่วมเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เขียนเรียงความสั้น ๆ โดยมีเงื่อนไขว่า ห้ามใช้คำที่มีตัวอักษร x กับ z อันนี้ไม่ยากเท่าไร ชื่อเรียกของกลุ่มนี้คือ กลุ่ม nondepleting condition เพราะภารกิจนั้นแสนง่าย (ถึงแม้คุณอยากจะเขียนเรื่อง sex ของ zombie มันก็ยังไม่ยาก เพราะหาคำอื่นมาแทน sex กับ zombie ได้สบาย ๆ) กลุ่มที่ 2 ก็คล้าย ๆ กัน แต่เปลี่ยนเป็นห้ามใช้ตัวอักษร a กับ n อันนี้ค่อนข้างหนักหนาสาหัส เป็นกลุ่ม depleting condition (ไม่เชื่อลองเขียนดู, ในหนังสือ Dan เว้นพื้นที่ว่างให้เราลองเขียนด้วยนะ) หลังจากทั้งสองกลุ่มเขียนเสร็จและส่งผลงาน ทีมวิจัยก็ขอให้ผู้เข้าร่วมทำภารกิจอื่นต่อ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรียงความล่ะ ภารกิจนี้ก็คือ matrix test (รายละเอียด matrix test ดูข้างบน) พบว่า ไม่ว่าจะเป็นคนจากกลุ่มไหน กลุ่มที่หมดแรงไปกับการเขียนเรียงความ หรือไม่หมดแรง ก็ไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อความสามารถทางคณิตศาสตร์ ทั้งสองกลุ่มทำได้เท่า ๆ กัน
ทีนี้ พอเป็น matrix test แบบมีเครื่องทำลายเอกสาร เขากลับพบว่า กลุ่ม nondepleting condition จะโกงประมาณ 1 ข้อ (เช่น ทำได้ 4 แต่บอกว่า 5) ขณะที่กลุ่ม depleting condition โกงถึง 3 ข้อ (เช่น ทำได้ 4 บอก 7)
the bottom line ที่การทดลองนี้อาจใช้ชี้เป็นนัยคือ เวลาเราหมดแรง หรือเหนื่อย ๆ นี่นะครับ เราควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้หรอก การควบคุมตัวเอง ต้องใช้พลังงาน
เบสิกไอเดียเบื้องหลัง self-signaling คือ ไม่ว่าเราจะคิดยังไงก็ตาม จริง ๆ แล้วเราไม่มีภาพความคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวเราหรอกนะว่าเราเป็นใคร เรามักจะมองว่าตัวเองพิเศษ แต่จริง ๆ เราก็ไม่ได้รู้จักตัวเองดีขนาดนั้นหรอก แล้วก็ไม่ได้ดีเลิศอย่างที่มองด้วย เพราะเราสังเกตตัวเราเองในแบบเดียวกับที่เราสังเกตและตัดสินการกระทำของคนอื่น นั่นคือ เราอนุมานว่าเราเป็นใครหรือเราชอบอะไรจากการกระทำของเรา ตัวอย่างที่แดนยกมาคืออันนี้ครับ ขอแปลจากหนังสือเลยนะ
"ตัวอย่าง ลองนึกถึงเหตุการณ์คุณเจอขอทานคนหนึ่งข้างทาง แทนที่จะทำเป็นมองไม่เห็นหรือให้เศษตังค์ คุณกลับตัดสินใจซื้อแซนด์วิชให้เขากิน การกระทำดังกล่าวโดยตัวของมันเองนะครับ ไม่ได้บอกว่าคุณเป็นใคร ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับศีลธรรม หรือกระทั่งคุณลักษณะของคุณ แต่คุณตีความการกระทำนั้นว่า นี่ไงหลักฐานที่แสดงถึงความกรุณาและใจบุญสุนทานของฉัน เอาล่ะ พอมีข้อมูลใหม่อันนี้ คุณก็เริ่มเชื่อมากขึ้นในความเมตตากรุณาของตัวเอง นี่แหละครับ การทำงานของ self-signaling"
คำถาม การใช้ของมียี่ห้อดัง ๆ ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคนเราอย่างไร แล้วการใช้ของปลอมล่ะ ส่งผลอย่างไร?
การทดลองนี้ดำเนินการโดย Francesco Gino, Mike Norton (โปรเฟสเซอร์ที่ Harvard) และ แดน เขาแบ่งนักศึกษาเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก บอกว่าจะได้ทดสอบแว่นกันแดด Chloé ของแท้, กลุ่มที่สอง บอกว่าจะได้ทดสอบแว่นกันแดด Chloé ของปลอมที่เหมือนของจริงทุกประการ, กลุ่มที่สาม ไม่บอกอะไรเกี่ยวกับแว่นเลย
ภารกิจคือให้นักศึกษาไปเดินดูโปสเตอร์ต่าง ๆ บ้าง มองนอกหน้าต่างบ้าง เพื่อประเมินคุณภาพของแว่น เสร็จแล้ว ก็ขอให้ทำแบบทดสอบ matrix test โดยที่ยังสวมแว่นอยู่นะครับ แน่นอน ผลเดิม ๆ คือ โดยเฉลี่ยแล้วทุกคนโกง แต่จะโกงกันในระดับเท่าไร? พบว่า กลุ่มแรกโกงประมาณ 30% กลุ่มที่สองโกงประมาณ 74% ตรงนี้อาจตีความได้ 2 แบบ ถ้าเราถือว่าปัจจัยอื่น ๆ เป็นปัจจัยสุ่มทั้งหมด ยกเว้น การรู้ว่าตัวเองใส่แว่นจริงหรือใส่แว่นปลอม คือ 1. การรู้ว่าใส่ของแท้ทำให้โกงน้อยลง หรือ 2. การรู้ว่าใส่ของปลอมทำให้โกงเพิ่มขึ้น จะเป็น 1. หรือ 2. นั้น เราดูได้จากผลลัพธ์ของกลุ่มที่สามครับ คือ โกง 42% นั่นเท่ากับ 2. มีน้ำหนักกว่า 1.
แดนสรุปว่า การรู้ว่าใช้ของปลอมจะทำให้กรอบทางศีลธรรมของเราหลอมว่าเดิมในบางระดับ ทำให้เราเลือกเดินทางเส้นทางโกงง่ายขึ้น น่าสนใจนะ แต่ผมคิดว่า ยังสรุปเป็นกรณีทั่วไปไม่ได้จนกว่าทดลองข้ามวัฒนธรรม และชนิดของผลิตภัณฑ์เองอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญ

เป็นธรรมชาติของพวกเราแหละครับ พวกฉันรู้อยู่แล้ว รู้ตั้งนานแล้วเนี่ย
"เราอาจไม่รู้เหตุผลว่าทำไมเราถึงทำอย่างที่เราทำ เลือกสิ่งที่เราเลือก หรือรู้สึกแบบที่เรารู้สึกทุกครั้งไป แต่ก็ใช่ว่าความไม่รู้ชัดเกี่ยวกับแรงจูงใจที่แท้จริงดังกล่าวจะยับยั้งมิให้เราสร้างเหตุผลที่ฟังสมเหตุสมผล และเหมาะเจาะลงตัวมาอธิบายการกระทำ การตัดสินใจ และความรู้สึกของเรา"

แดนเล่าการทดลองหนึ่ง ในบทที่ 8 การทดลองนี้ทำที่มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เพื่อศึกษาธรรมชาติการติดเชื้อโกง คณะผู้วิจัยประกอบด้วย Francesca Gino, Shahar Ayal กับแดน
รูปแบบ ใช้ matrix test เหมือนตอนเก่า ๆ ที่เคยเล่า แต่คราวนี้เวลาจ่ายตังค์ จะใช้วิธีวางซองใส่เงินไว้พร้อมกับข้อสอบนะ ทำเสร็จแล้ว ตรวจ หลังจากรู้คะแนนก็หยิบเงินออกจากซอง และเอาเงินที่เหลือในซองมาคืน พบว่า
⊕ ในกลุ่มควบคุม (คือกลุ่มที่ไม่เปิดโอกาสให้โกง) จะแก้ปัญหาได้ประมาณ 7 ข้อจาก 20 ข้อ
⊕ ในกลุ่มที่มีเครื่องทำลายเอกสาร (เปิดโอกาสให้โกงได้) จะอ้างว่า แก้ปัญหาได้ 12 ข้อ
ซึ่งผลดังกล่าวก็เหมือนกับการทดลองก่อนหน้านั่นแหละครับ
ทีนี้ ในกลุ่มที่ 3 ซึ่งแดนเรียกว่ากลุ่มเงื่อนไขแบบ Madoff (ตามชื่อ Bernard Madoff อดีตประธาน NASDAQ คนดัง ผู้ต้องโทษจำคุก 150 ปี) นอกจากเป็นกลุ่มที่เปิดโอกาสให้โกงได้แล้ว เขายังมีคนหนึ่งเป็นหน้าม้าซึ่งปลอมเป็นผู้เข้าร่วมการทดลองด้วย พอกรรมการให้สัญญาณเริ่มทำข้อสอบ ผ่านไปแป๊ปเดียว หน้าม้าคนนี้ก็ยกมือบอกว่า "ฉันทำเสร็จแล้ว" แน่นอน ทุกคนรู้ว่ามันโกหกและโกงล่ะ เพราะแป๊ปเดียวจริง ๆ ยังไม่มีใครทำเสร็จข้อแรกกันเลย กรรมการตอบ "งั้นก็เอากระดาษคำตอบไปที่เครื่องทำลายเอกสารหลังห้องสิ หักเงินส่วนที่เธอทำถูกออกไป แล้วเอาซองใส่เงินที่เหลือมาคืน" หน้าม้าถามอีกว่า "ฉันทำได้ทุกข้อ ไม่มีเงินส่วนที่เหลือ ให้ทำไง" กรรมการตอบ "งั้นก็เอาซองเปล่ามาคืน" คุณคิดว่าผลลัพธ์ของกลุ่มนี้เป็นอย่างไรครับ
⊕ ในกลุ่ม Madoff จะอ้างว่าแก้ปัญหาได้ 15 ข้อ
โอเค ถึงตอนนี้ เรารู้ว่ากลุ่มที่สามโกงมากขึ้น คำถาม โกงมากขึ้นเพราะอะไร? แดนคิดว่าคำตอบเป็นไปได้ 2 แนว คือ 1. แนววิเคราะห์ต้นทุน-กำไร (ซึ่งหนังสือปฏิเสธแนวนี้มาโดยตลอดว่าพฤติกรรมโกง-ไม่โกงของคนไม่ได้มาจากการวิเคราะห์ต้นทุน-กำไร) นั่นคือ หน้าม้าเป็นตัวส่งข้อมูลบอกคนอื่น ๆ ว่า โกงได้ ไม่มีบทลงโทษ พอคนอื่น ๆ วิเคราะห์ต้นทุน-กำไรจากการกระทำแล้ว จึงตัดสินใจโกง เพราะโกงได้ ไม่มีผลสืบเนื่อง, 2. แนวการส่งสัญญาณให้กับเพื่อนร่วมสังคมเดียวกันว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนในสังคมนี้เขาทำกัน มันยอมรับได้
เพื่อจะตอบคำถามว่า คำอธิบาย 1. หรือ 2. อันไหนเป็นไปได้มากกว่ากัน จึงมีกลุ่มทดลองอีก 2 กลุ่มครับ กลุ่มแรก พอกรรมการบอกเริ่มทำข้อสอบได้ หน้าม้าจะแค่ยกมือขึ้นถาม (กลุ่มนี้จึงเรียกชื่อว่า กลุ่มมีเงื่อนไขคือการตั้งคำถาม) "ขอถามหน่อยสิ" กรรมการเงยหน้าขึ้นมอง "อะไรหรือ" หน้าม้าถาม "แบบนี้ถ้าผมจะบอกว่าทำได้ทุกข้อแล้วเอาเงินไปหมดเลย จะเป็นไรมั้ย" กรรมการนิ่งไปพักหนึ่งก่อนตอบ "แล้วแต่สิ จะทำไรก็เรื่องของเธอ" คุณคิดว่าผลเป็นไง?
⊕ ในกลุ่มมีเงื่อนไขคือการตั้งคำถาม จะอ้างว่าแก้ปัญหาได้ 10 ข้อ
เอาล่ะ ตอนนี้แดนตัด 1. แนววิเคราะห์ต้นทุน-กำไรทิ้งได้ พร้อมกับได้หลักฐานสนับสนุนข้อสรุปเก่าเพิ่มขึ้นอีก ถ้าคุณกระตุ้นให้คนคิดถึงเรื่องศีลธรรมก่อนที่จะมีการกระทำ การกระทำที่ผิดศีลธรรม (หรือการโกงในที่นี้) จะลดลง (10 < 12) แต่ก็ยังมีปัญหาที่การทดลองกับกลุ่มนี้ตอบไม่ได้ คือ ความเป็นเพื่อนร่วมสังคม ฉะนั้นจึงมีกลุ่มที่ห้า เรียกว่าเป็นกลุ่ม Madoff ที่เป็นคนนอก
เมืองพิตซ์เบิร์กมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอยู่ 2 มหาวิทยาลัย แน่นอน ย่อมหมายถึงการเป็นคู่แข่งกันอยู่แล้วล่ะ คือ คาร์เนกีเมลลอน กับ ม.พิตซ์เบิร์ก ดังนั้น ในกลุ่ม Madoff ที่เป็นคนนอก หน้าม้าของแดนจะแต่งชุดนักศึกษา ม.พิตซ์เบิร์ก นอกนั้นรูปแบบการทดลองเหมือนกลุ่ม Madoff กรณีแรก, ผล?
⊕ ในกลุ่ม Madoff ที่เป็นคนนอก จะอ้างว่าแก้ปัญหาได้ 9 ข้อ
ผลอันนี้ปิด 1. ได้เลยจริง ๆ และดูเหมือนความเป็นคนจากกลุ่มสังคมเดียวกันจะเป็นปัจจัยสำคัญ
อ่านจบการทดลองทั้งชุด ผมนึกถึงมงคลสูตรข้อแรกแฮะ อเสวนา จ พาลานํ เพราะการทดลองของแดนบอกเราว่า การประเมินศีลธรรมของเราได้รับอิทธิพลจากเพื่อนร่วมสังคมของเรา และมันติดต่อกันได้ด้วยล่ะ

ชอบคำ "altruistic cheating" โกงนี้เพื่อเธอ ไม่ว่าเธอจะเป็นใครนะครับ และแดนเขียนในบทที่ 9 collaborative cheating ว่า มนุษย์เรามีจุดอ่อนเรื่องนี้แหละ เราโกงมากขึ้น เมื่อเรารู้ว่าคนอื่นได้รับผลประโยชน์จากการโกงนั้น
แดนใช้ matrix test เหมือนเดิม ภายใต้เงื่อนไขแบบมีเครื่องทำลายเอกสาร แต่คราวนี้ ก่อนที่จะเดินมาบอกคะแนนกับกรรมการและรับเงิน นักศึกษาจะได้รับแจ้งว่า แต่ละคนมีคู่นะ และเงินที่จะได้ จะเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินรวมของตัวเองกับของคู่ สมมติคุณเป็นนักศึกษาที่ร่วมทดลอง พอหมดเวลาทำแบบทดสอบ กรรมการก็ประกาศว่าคู่ของคุณคือ x (คุณไม่รู้จัก x มาก่อน) และเงินที่คุณจะได้จะเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินรวมระหว่างคุณกับ x
แดนพบว่าภายใต้เงื่อนไขนี้ ทุกคนจะโกงมากขึ้น อันนี้คือผลลัพธ์ที่ได้ แต่แดนโยนความผิดไปให้ altruism แล้วบอกว่าเป็นด้านมืดของ altruism ทันทีนี่ อ่านเจอทีแรกผมแอบคาใจนิด ๆ นะ
ข้อโต้แย้งถึงตัวการอื่นของผมเป็นแบบนี้ครับ เราไม่อยากให้เงินสุทธิของตัวเองลดลง ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่คู่ของเราทำข้อสอบได้น้อยกว่าเรา ฉะนั้นเราจึงโกงมากขึ้น ถ้าเหตุผลนี้มีน้ำหนัก มันก็ไม่ใช่ความไม่เห็นแก่ตัวเพียงอย่างเดียวล่ะ ความเห็นแก่ตัวด้วย ทั้งสองอย่างร่วมมือกัน คุณเห็นด้วยมั้ย?
กลับมาต่อที่แดน, ยังมีกลุ่มเงื่อนไขอีกแบบ คือ มีคู่เหมือนเดิม และไม่รู้จักคู่เหมือนเดิม แต่คราวนี้ตอนที่เราทำข้อสอบ คู่จะจับตาดูเรา และตอนที่เราหมดเวลาแล้ว คู่ของเราเป็นฝ่ายทำข้อสอบบ้าง เราก็จะจับตาดูคู่ของเรา ผลลัพธ์คือ ไม่มีการโกงเกิดขึ้น!
ทีนี้ แดนอยากรู้ว่าในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงของการทำงานร่วมเป็นทีม ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์แบบกลุ่มทดลองที่แล้ว จะเป็นยังไง เพราะเราไม่ได้จับตาดูสมาชิกในทีมอย่างคนที่ไม่รู้จักกันใช่มั้ยครับ ดังนั้น ในกลุ่มใหม่ เขาก็ยังให้ผลัดกันทำผลัดกันจับตาดูเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่เพิ่มบทพูด บทสนทนา คำถามคำตอบให้ทั้งคู่คุยกันด้วย ซึ่งก็เป็นบทที่มีจุดประสงค์ให้เกิดความเป็นมิตรต่อกัน ผลลัพธ์? พบว่า โกงมากกว่ากรณีแรกที่ไม่มีการจับตาดูและไม่รู้จักกันเสียอีก
เอาล่ะ มาถึงกลุ่มสุดท้าย ซึ่งการทดลองกับกลุ่มนี้จะตอบคำถามที่ผมบอกว่าคาใจได้ และชี้ให้เห็นว่า altruism เป็นตัวการที่มีอำนาจมากกว่า ความเห็นแก่ตัว คือ กลุ่มที่คู่ของเราเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากการโกงของเรา เราไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากการโกงเลย ในกลุ่มนี้ แดนพบว่า จะมีการโกงเพิ่มมากขึ้นกว่าทุกกรณี คำอธิบายที่เสนอคือ ในกรณีที่เราได้ผลประโยชน์จากการโกง ความเห็นแก่ตัวจะเป็นปัจจัยหนึ่ง และมันช่วยยับยั้งให้เราโกงในระดับที่ไม่ทำให้เราดูเป็นคนโกง (ฟังแล้วงงมั้ยครับ พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ความเห็นแก่ตัวทำให้เราขาดเหตุผลดี ๆ ที่จะใช้อ้างกับตัวเองเวลาโกง) ส่วนในกรณีที่โกงเพื่อเธอ และเราไม่ได้ผลประโยชน์ ความเห็นแก่ตัวมิใช่ปัจจัย เราจะโกงมากขึ้น ทำไมล่ะ? ก็ตอนนี้เรามีเหตุผลดี ๆ แล้วนี่
แดนเขียน "In the end---and very sadly---it may be that the people who care the most about their coworkers end up cheating the most."